xs
xsm
sm
md
lg

ฟังข่าวดีบ้าง! เชื่อวัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' รับมือ 'โอมิครอน' ได้ อียูเผยพบแล้ว 44 เคสทั้งหมดอาการเล็กๆ น้อยๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนโควิด-19 กับแอสตร้าเซนเนก้า ยืนยันว่า ไม่พบหลักฐานว่าวัคซีนปัจจุบันจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการป้องกันตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ในขณะที่สหภาพยุโรประบุพบเคสผู้ติดเชื้อตัวใหม่นี้ในอียูแล้วอย่างน้อย 44 ราย แต่ทั้งหมดไม่แสดงอาการ หรือป่วยเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดระบุในวันอังคาร (30 พ.ย.) ว่า "แม้มีการปรากฏตัวของตัวกลายพันธุ์ใหม่ต่างๆ เมื่อขวบปีที่ผ่านมา แต่วัคซีนยังคงมอบการปกป้องระดับสูงต่อการติดเชื้ออาการรุนแรง และจนถึงตอนนี้ไม่พบหลักฐานว่ามีความแตกต่างใดๆ กับตัวกลายพันธุ์โอมิครอน"

บรรดาผู้ผลิตยากำลังเร่งดำเนินการทดสอบวัคซีนและวิธีการรักษาต่างๆ กับตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ท่ามกลางสัญญาณว่ามันอาจแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายมากและหลบหลีกภูมิคุ้มกันของวัคซีน สืบเนื่องจากมันมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งมาก อย่างไรก็ตามทั้งบริษัทผู้ผลิตยาและเหล่านักวิทยาศาสตร์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คงต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะทราบผลกระทบของมันที่แท้จริง เนื่องจากจนถึงตอนนี้มีข้อมูลของมันแค่เล็กน้อย

แอสตราเซนเนก้า ผู้พัฒนาวัคซีนร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ระบุเมื่อวันศุกร์ (26 พ.ย.) ว่า กำลังทำการทดสอบวัคซีนและได้เริ่มดำเนินการวิจัยในประเทศต่างๆ ไปแล้ว เช่น ในบอตสวานา หนึ่งในประเทศที่พบตัวกลายพันธุ์โอมิครอน "ออกซฟอร์ดมีเครื่องไม้เครื่องมือและกรรมวิธีต่างๆ อยู่แล้วในการปรับเปลี่ยนวัคซีนอย่างรวดเร็วโดยมีเป้าหมายที่ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ถ้ามีความจำเป็น"

ไฟเซอร์ อิงค์ ระบุว่า พวกเขาจะรู้ในอีก 2 ถึง 3 สัปดาห์ข้างหน้าว่าวัคซีนของทางบริษัทจะต้านทานตัวกลายพันธุ์โอมิครอนได้ดีแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารระดับสูงของโมเดอร์นามองว่าการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งของโอมิครอน บ่งชี้ว่าวัคซีนใหม่อาจมีความจำป็น

หัวหน้าคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบด้านยาแห่งยุโรปบอกกับรัฐสภายุโรปในวันอังคาร (30 พ.ย.) ไม่ชัดเจนว่าการปรับเปลี่ยนวัคซีนจะมีความจำเป็นหรือไม่ แต่ทางหน่วยงานแห่งนี้จะใช้เวลาราว 3 ถึง 4 เดือน สำหรับพิจารณาอนุมัติให้เริ่มพัฒนาวัคซีนเวอร์ชันใหม่

ตัวกลายพันธุ์โอมิครอนก่อความกังวลแก่บรรดานักวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมันมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง มากกว่าตัวกลายพันธุ์เดลตาที่แพร่เชื้อได้ง่ายมาก การเปลี่ยนแปลงหลักๆ เกิดขึ้นในส่วนของโปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งส่วนดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งในการเป็นกุญแจที่ไวรัสใช้ไขประตูเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง โดยจากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป ระบุว่าในสหภาพยุโรปพบเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอนที่ได้รับการยืนยันแล้ว 44 รายใน 11 ประเทศ แต่จนถึงตอนนี้ทั้งหมดเป็นการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการหรือมีอาการแค่เล็กๆ น้อยๆ

"จนถึงตอนนี้ยังไม่พบเคสอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตในบรรดาผู้ติดเชื้อเหล่านี้" ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรประบุในรายงานอัปเดตสถานการณ์ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน โดยประเทศต่างๆ เหล่านั้นประกอบด้วย ออสเตรีย เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฝรั่งเศส (เกาะเรอูนียง) เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน และสวีเดน

นอกจากนี้แล้วั ยังมีความเป็นไปได้ที่จะพบเคสผู้ติดเชื้อตวกลายพันธุ์โอมิครอนในประเทศและดินแดนต่างๆ อีก 9 แห่ง แต่เคสต้องสงสัยเหล่านั้นยังอยู่ระหว่างการสืบสวน

เคสที่ได้รับการยืนยันส่วนใหญ่มีประวัติการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา บางส่วนแวะต่อเครื่องบินมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางอื่นๆ ระหว่างแอฟริกากับยุโรป

(ที่มา : บลูมเบิร์ก)


กำลังโหลดความคิดเห็น