xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : โลกผวาแห่ปิดพรมแดนสกัดโควิด ‘โอมิครอน’ WHO ชี้เสี่ยงแพร่เร็ว แต่ ‘ความรุนแรง’ ยังไม่ชัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความวิตกกังวลจากการค้นพบเชื้อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์ใหม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ขนานนามว่า “โอมิครอน” (Omicron) เมื่อประมาณสัปดาห์เศษๆ ที่ผ่านมา กระตุ้นให้หลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการคุมเข้มพรมแดนเพื่อสกัดเชื้อไวรัส ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังฟันธงไม่ได้ว่าจะร้ายกาจสักแค่ไหน ขณะที่ความหวังของผู้คนทั่วโลกที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงสภาวะปกติพลันริบหรี่ลงอีก

แม้จะยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากโอมิครอน และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าผู้เชี่ยวชาญจะออกมาฟันธงได้ว่าไวรัสชนิดนี้ดื้อต่อวัคซีนที่ทั่วโลกใช้กันอยู่หรือไม่ แต่การอุบัติขึ้นของโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวล่าสุดก็เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าโรคระบาดใหญ่ที่คุกคามชีวิตพลเมืองโลกมานานเกือบ 2 ปีเต็ม ยังห่างไกลจากคำว่า “สิ้นสุด” มากนัก

WHO ประกาศในวันศุกร์ที่ 26 พ.ย. ให้ไวรัส SARS-CoV-2 ตัวกลายพันธุ์ B.1.1.529 หรือโอมิครอน เป็นสายพันธุ์น่ากังวล (variant of concern) ตัวที่ 5 ของโลก ตามหลังสายพันธุ์อัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา โดยจากข้อมูลในเบื้องต้นคาดว่าเชื้อโอมิครอนอาจแพร่กระจายได้ไวกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นๆ และผู้ที่เคยป่วยแล้วมีความเสี่ยงที่จะกลับมาติดเชื้อซ้ำมากขึ้น

แม้จะเป็นเรื่องปกติสำหรับไวรัสที่สามารถกลายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ แต่สำหรับกรณีของโอมิครอนนั้นถือว่าน่ากังวลเป็นพิเศษ เพราะมีการกลายพันธุ์มากถึง 50 ตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งเป็นการกลายพันธุ์บริเวณโปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งทำหน้าที่ยึดเกาะกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ และเป็นจุดพุ่งเป้าของวัคซีนส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้จึงมีความกังวลกันว่าเชื้อตัวนี้อาจจะทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพด้อยลง

ศาสตราจารย์ฟรองซัวส์ บัลลู ผู้อำนวยการสถาบันพันธุศาสตร์แห่ง University College London ระบุว่า การกลายพันธุ์จำนวนมากๆ เช่นนี้อาจมีต้นตอมาจากผู้ป่วยซึ่งระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าไปเป็นระยะเวลานาน “โดยเฉพาะผู้ป่วยเอชไอวีซึ่งไม่ได้รับการรักษา”

คริสเตียน ลินด์ไมเออร์ โฆษกของ WHO ยอมรับว่าอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าที่ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถบอกถึงศักยภาพในการแพร่กระจายของสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนและตัวยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันว่าจะสามารถรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

WHO ยังเรียกร้องให้ทุกประเทศหลีกเลี่ยงการแบนผู้เดินทางแบบเหมารวมเพื่อสกัดไวรัสตัวนี้

“เราขอเรียกร้องให้รัฐสมาชิกทุกประเทศใช้มาตรการลดความเสี่ยงอย่างมีเหตุมีผลและเหมาะสม การตอบสนองทั่วโลกควรจะเป็นไปอย่างสงบและสอดคล้องต้องกัน” ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการ WHO แถลง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนข้อเรียกร้องจาก WHO จะไม่ได้ผล เพราะหลายประเทศเริ่มหันมาใช้มาตรการกีดกันผู้เดินทางจากกลุ่มชาติแอฟริกา รวมไปถึงประเทศแถบยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ ที่เริ่มมีการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สหรัฐอเมริกาเริ่มใช้มาตรการแบนผู้เดินทางส่วนใหญ่จาก 8 ประเทศแอฟริกาตอนใต้ ได้แก่ แอฟริกาใต้ บอตสวานา ซิมบับเว นามิเบีย เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก และมาลาวี โดยชาวต่างชาติที่เคยเดินทางไปประเทศเหล่านี้ในช่วง 14 วันจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าอเมริกา ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) แถลงเมื่อค่ำวันอังคาร (30) ว่า หลังจากนี้ผู้ที่โดยสารเครื่องบินมาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองสหรัฐฯ หรือชาวต่างชาติต้องมีผลตรวจโควิด-19 เป็น “ลบ” ภายใน 1 วันก่อนออกเดินทาง จากเดิมที่อนุญาตให้ทำการตรวจล่วงหน้าได้ 3 วัน

CDC ยังได้ออกคำเตือนระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับความเสี่ยงสูงสุดสำหรับ 80 จุดหมายปลายทางต่างแดน และแนะนำให้ชาวอเมริกันหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่เหล่านี้

ในภูมิภาคเอเชีย ญี่ปุ่นได้ประกาศห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลกเดินทางเข้าประเทศหลังเที่ยงคืนของวันที่ 30 พ.ย.เป็นต้นไป และจะขยายมาตรการแบนให้ครอบคลุมถึง “ผู้พำนักถาวร” ที่เดินทางมาจาก 10 ชาติแอฟริกาด้วย ขณะที่ฮ่องกงซึ่งประกาศแบนผู้เดินทางจากกลุ่มชาติแอฟริกาและอีกหลายชาติในยุโรปไปแล้วก่อนหน้านี้ จะขยายมาตรการให้ครอบคลุมชาวต่างชาติที่มาจากญี่ปุ่น โปรตุเกส และสวีเดน ในวันศุกร์ที่ 3 ธ.ค.

ภาพของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนโดยนักวิทยาศาสตร์จากโรงพยาบาล Bambino Gesu ในอิตาลี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการกลายพันธุ์จำนวนมากในส่วนของโปรตีนหนาม เมื่อเทียบกับโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา
อิสราเอลสั่งปิดพรมแดนงดรับชาวต่างชาติโดยสิ้นเชิงตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. และมอบหมายให้หน่วยข่าวกรองทำหน้าที่ค้นหาและติดตามนักเดินทางทุกคนที่มาจากดินแดนที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ขณะที่ จอน แฮชอล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและความปลอดภัยของเกาหลีใต้ ก็เรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับป้องกันพรมแดน หลังผลตรวจยืนยันในวันพุธ (1) ว่ามีผู้ที่เดินทางจากไนจีเรียติดโควิดโอมิครอน จำนวน 5 ราย

ยังมีอีกหลายสิบประเทศที่ใช้มาตรการสกัดผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศแอฟริกา ตัวอย่างเช่น ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัสเซีย ปากีสถานซาอุดีอาระเบีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา รวมถึงประเทศไทย

หลายชาติในยุโรปต้องฟื้นข้อจำกัดทางสังคม บังคับให้คนกลับมาสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง รวมถึงมีการประกาศเคอร์ฟิวหรือล็อกดาวน์บางส่วน หลังยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมาพุ่งสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว และมีแนวโน้มว่าบรรยากาศในเทศกาลคริสต์มาสปีนี้อาจซบเซาไม่แพ้ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน เริ่มมีข้อถกเถียงกันว่าประเทศใดกันแน่ที่เป็นต้นตอของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน? หลังสถาบันสุขภาพแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (RIVM) ระบุว่า พวกเขาพบเชื้อโอมิครอนในตัวอย่างย้อนกลับไประหว่างวันที่ 19-23 พ.ย. หรือก่อนที่จะพบเคสผู้ติดเชื้อในหมู่ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศแอฟริกาใต้

ทางการเบลเยียมและเยอรมนีระบุเช่นกันว่า จากการตรวจสอบตัวอย่างพบว่าตัวกลายพันธุ์โอมิครอนอยู่ในทั้ง 2 ประเทศ ก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแอฟริกาใต้จะแจ้งเตือนต่อทั่วโลกในวันที่ 24 พ.ย. เกี่ยวกับการอุบัติขึ้นของตัวกลายพันธุ์ใหม่โควิด-19

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่า เชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ถูกพบ “ครั้งแรก” ในตัวอย่างซึ่งเก็บจากแอฟริกาตอนใต้เมื่อวันที่ 9 พ.ย. หรือราว 2 สัปดาห์ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์ในแอฟริกาใต้จะแจ้งรายงานต่อ WHO ในวันที่ 24 พ.ย. หมายความว่าตัวอย่างที่พบในเธอร์แลนด์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นก่อนเคสในแอฟริกาใต้

พญ.แองเจลิเก โคเอตซี ประธานแพทยสภาแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้ตรวจพบโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเป็นคนแรก ระบุว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่เธอพบส่วนใหญ่มีอาการป่วยเพียง “เล็กน้อย” และเชื่อว่าระบบสาธารณสุขน่าจะยังรับมือได้

“สิ่งที่เราตรวจพบในแอฟริกาใต้... คืออาการป่วยที่ค่อนข้างเล็กน้อย เรายังไม่มีผู้ป่วยโอมิครอนที่ต้องแอดมิดเลย และจากที่ดิฉันได้คุยกับคุณหมอท่านอื่นๆ ก็เห็นตรงกัน” โคเอตซี กล่าว

ข้อสันนิษฐานของ พญ.โคเอตซี ได้รับการสนับสนุนโดยข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป ซึ่งระบุว่า ใน EU พบเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอนที่ได้รับการยืนยันแล้ว 44 รายใน 11 ประเทศ ทว่าจนถึงตอนนี้ทั้งหมดเป็นการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ หรือมีอาการแค่เล็กๆ น้อยๆ

กระนั้นก็ดี การกลายพันธุ์ในหลายสิบตำแหน่งของโอมิครอนยังคงเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าน่ากังวล และยังต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าจะยืนยันได้ว่าเชื้อตัวนี้จะหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้หรือไม่

เจ้าหน้าที่ซึ่งสวมชุดป้องกันคอยอำนวยความสะดวก และให้ข้อมูลแก่ผู้เดินทางภายในสนามบินนานาชาติอินชอนของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 30 พ.ย.
บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ๆ ต่างประกาศว่ากำลังรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงวัคซีนให้สามารถต่อสู้กับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้

อูกูร์ ซาฮิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไบโอเอ็นเทค เอสอี ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งบริษัทพัฒนาร่วมกับไฟเซอร์มีแนวโน้มว่าจะสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงจากโอมิครอนได้ โดยก่อนหน้านั้น ไบโอเอ็นเทคได้คาดการณ์ว่า น่าจะใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ศึกษาข้อมูลว่าจะต้องปรับสูตรวัคซีนหรือไม่ และหากมีความจำเป็น คาดว่าจะสามารถจัดส่งวัคซีนรุ่นใหม่ออกสู่ท้องตลาดได้ภายใน 100 วัน

ด้านมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดซึ่งพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้า ย้ำว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าวัคซีนที่ทั่วโลกใช้กันอยู่จะล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการต่อต้านเชื้อโอมิครอน ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าก็ยืนยันว่า "ออกซฟอร์ดมีเครื่องไม้เครื่องมือและกรรมวิธีต่างๆ อยู่แล้วในการปรับสูตรวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว หากมีความจำเป็น"

อย่างไรก็ดี สเตฟาน แบนเซล ซีอีโอโมเดอร์นา ยอมรับกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่าวัคซีนของบริษัท “มีแนวโน้มประสิทธิภาพลดลง” เมื่อเจอกับโอมิครอน และจากที่ตนได้พูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์หลายคนก็เห็นตรงกันว่า มีสัญญาณที่ไม่ค่อยจะดีนัก

ในส่วนของ “จีน” ซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งในเดือน ก.พ. ปีหน้า ยอมรับว่าการปรากฏขึ้นของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นเรื่องที่ “ท้าทาย”

“แต่จีนมีประสบการณ์สูงในการรับมือโควิด-19 ดังนั้น ผมเชื่อว่าโอลิมปิกฤดูหนาวจะสามารถจัดได้อย่างราบรื่น” จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุเมื่อวันอังคาร (30)

สำหรับประเทศไทยเองมีการเตรียมความพร้อมเพื่อสกัดการแพร่เข้ามาของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดย ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและกลั่นกรองเป็นพิเศษไม่ให้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเข้าไทยได้ โดยกำหนดให้การตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศที่เข้าไทยกลับมาเป็นการตรวจแบบ RT-PCR เช่นเดิม และให้เริ่มในทันที พร้อมทั้งสั่งการฝ่ายความมั่นคงเร่งสกัดการลับลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายทุกช่องทาง เพื่อปิดกั้นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าว

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนว่า ไทยได้ประกาศปิดรับผู้เดินทางจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงสูงในแอฟริกาตั้งแต่ 1 ธ.ค.64 เป็นต้นไป ยกเว้นผู้ที่มีสัญชาติไทย และมีมาตรการติดตามผู้ที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงระหว่างวันที่ 15-27 พ.ย.64 ซึ่งเข้ามาในระบบแซนด์บ็อกซ์ จำนวน 255 คน เดินทางออกจากประเทศแล้ว 3 คน คงอยู่ในประเทศไทย 252 คน ขณะนี้ติดตามได้ 11 คน ดังนั้นจึงขอให้ผู้เดินทางจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงทั้ง 252 คน รายงานตัวเข้ารับการตรวจ RT-PCR เร็วที่สุดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Yong Poovorawan" เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. โดยมีใจความสำคัญว่า โควิด-19 โอมิครอนมีแนวโน้มระบาดได้เร็ว และหากแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตา การกระจายของสายพันธุ์ใหม่จะเข้าแทนที่สายพันธุ์เดลตาอย่างแน่นอน

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ว่า วัคซีนเชื้อตายของจีนไม่สามารถต้านไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนได้ แต่ในเมื่อ “ไม่มีอะไรอยู่ในมือ และไม่มีวัคซีนที่ดีกว่านี้คงต้องฉีดไปก่อน ขัดตาทัพ”

บอร์ดแสดงตารางเที่ยวบินซึ่งถูกยกเลิกเป็นจำนวนมากภายในท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 พ.ย.
กำลังโหลดความคิดเห็น