เกือบ 200 ชาติเมื่อวันเสาร์ (13 พ.ย.) พร้อมแรงร่วมใจกันบรรลุข้อตกลงระดับโลกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากใช้เวลาเจรจาอันแสนเจ็บปวดยาวนานถึง 2 สัปดาห์ แต่ยังไม่เพียงพอต่อสิ่งที่พวกนักวิทยาศาสตร์ระบุว่ามีความจำเป็นเพื่อสกัดอันตรายจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น
พวกชาติร่ำรวยทั้งหลายถูกกล่าวหา ณ ที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ในเมืองกลาสโกว์ ว่า ล้มเหลวในการมอบเงินสนับสนุนที่จำเป็นแก่ประเทศอ่อนแอทั้งหลายที่เผชิญความเสี่ยงภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง ไฟป่า และพายุ
อโลค ชาร์มา ประธาน COP26 จากสหราชอาณาจักร บอกกับคณะผู้แทนของประเทศต่างๆ ระหว่างการเจรจาที่ยาวนานว่า "ตอนนี้มันคือเวลาที่ต้องตัดสินใจ และทางเลือกต่างๆ ที่คุณเตรียมดำเนินการนั้นมีความสำคัญยิ่ง"
อย่างไรก็ตาม จีน และอินเดียยืนกรานว่าภาษาที่พาดพิงถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลควรปรับลดให้เบาลงในเนื้อหาการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของการประชุมซัมมิต
คณะผู้แทนเข้าสู่การเจรจาโดยมีหน้าที่คงเป้าหมายของความตกลงปารีสปี 2015 ที่ต้องการจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส นอกจากนี้แล้ว พวกเขายังมีภาระหน้าที่หาเงินสนับสนุนแก่ประเทศต่างๆ ที่มีความเสี่ยงภัยแล้ง อุทกภัย ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง ไฟป่า และพายุ อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กระนั้นพวกนักสังเกตการณ์ระบุว่า ข้อตกลงครั้งนี้ยังขาดแคลนสิ่งที่จำเป็นสำหรับหลีกเลี่ยงอุณหภูมิที่สูงขึ้นที่เป็นอันตราย และช่วยประเทศต่างๆ ปรับตัวหรือชดใช้ความเสียหายจากภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ แสดงความยินดีต่อข้อตกลงดังกล่าว แต่เน้นย้ำว่ามันไม่เพียงพอ "เรายังคงกำลังเคาะประตูต้อนรับหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
เกรตา ทุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนระบุว่า ที่ประชุมครั้งนี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จใดๆ เลย ยกเว้นแต่ "บลา บลา บลา" สะท้อนความเห็นของเธอก่อนหน้านี้
ลอเรนซ์ ทูเบียนา ผู้มีบทบาทสำคัญในการออกแบบความตกลงปารีส บอกกับเอเอฟพีว่า "COP ล้มเหลวในการมอบความช่วยเหลือในทันทีแก่ผู้คนที่กำลังทุกข์ทรมานอยู่ในตอนนี้"
เนื้อหาสุดท้ายเรียกร้องประเทศต่างๆ เร่งความพยายามลดใช้ถ่านหินและค่อยๆ เลิกอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไร้ประสิทธิภาพ
จีนและอินเดีย ผู้ปล่อยมลพิษสูงสุดคัดค้านการพาดพิงเชื้อเพลิงมลพิษทั้งหลาย และภาษาที่ใช้ในเนื้อหาสุดท้ายของข้อตกลงมีความแตกต่างเล็กน้อยจากร่างก่อนหน้านี้
ข้อตกลงยังเรียกร้องทุกประเทศเร่งลดการปล่อยมลพิษด้วยการยื่นแผนระดับชาติใหม่ภายในปี 2022 หรือเร็วกว่าที่ตกลงกันในความตกลงปารีส 3 ปี
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีท่าทีขัดขืนมาจากบรรดาประเทศร่ำรวยที่นำโดยสหรัฐฯ และอียู เนื้อหาของข้อตกลงได้ละเว้นการพาดพิงใดๆ ถึงกลไกทางการเงินอย่างเจาะจง สำหรับชดใช้ความสูญเสียและความเสียหายจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นแล้วในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเพียงแค่คำสัญญา "เจรจากันในอนาคต" ในประเด็นนี้
แม้ประเทศเจ้าภาพอย่างสหราชอาณาจักรต้องการให้ COP26 คงเป้าหมายจำกัดอุณภูมิไม่ให้พุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่การประเมินทางวิทยาศาสตร์ของสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่า ความพยายามของทั่วโลกในการลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ยังคงส่งผลให้โลกมุ่งหน้าไปสู่เส้นทางที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 2.7 องศาเซลเซียสในช่วงศตวรรษนี้
นอกจากเรื่องเงินอุดหนุนถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทอื่นๆ แล้ว การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเงินที่ประเทศร่ำรวยกว่าสัญญาว่าจะให้ประเทศยากจนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดประเด็นหนึ่ง โดยเมื่อปี 2009 ประเทศที่พัฒนาแล้วให้คำมั่นที่จะให้เงิน 100,000 ดอลลาร์ต่อปี แก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ภายในปี 2020 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
เนื้อหาของข้อตกลงเน้นว่า "มีความเสียใจอย่างสุดซึ้ง" ที่บรรดาประเทศร่ำรวยยังล้มเหลวไม่ยอมจ่ายเงินสนับสนุนรายปี 100,000 ดอลลาร์ตามที่เคยสัญญาเมื่อ 1 ทศวรรษก่อน พร้อมเรียกร้องประเทศเหล่านั้นจ่ายเงินเร่งด่วนและให้เงินสนับสนุนไปจนถึงปี 2025
นักวิทยาศาสตร์เคยกล่าวว่า การจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมจะปกป้องเราจากผลกระทบที่อันตรายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญของความตกลงปารีสที่ประเทศส่วนใหญ่ร่วมลงนาม และการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45% ภายในปี 2030 และปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
(ที่มา : เอเอฟพี/เอเจนซี)