xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำ G20 ถกหาทางออกภาวะโลกร้อน ก่อนบินตรงร่วมซัมมิตสิ่งแวดล้อม UN

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ผู้นำกลุ่มประเทศ G20 พบกันเป็นวันที่สองในวันอาทิตย์ (31 ต.ค.) ในภารกิจไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งเกี่ยวกับวิธีรับมือภาะโลกร้อนก่อนการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยูเอ็นเป็นเจ้าภาพซึ่งมีกำหนดเริ่มต้นในวันเดียวกันที่สก็อตแลนด์

การประชุมสุดยอดวันแรกที่โรม อิตาลี เมื่อวันเสาร์ (30 ต.ค.) ถือเป็นการประชุมแบบพบปะกันจริงๆครั้งแรกของเหล่าผู้นำ 20 ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำนับจากวิกฤตโควิดเริ่มต้นขึ้น โดยมุ่งเน้นประเด็นสุขภาพและเศรษฐกิจ ส่วนประเด็นหลักในการประชุมวันอาทิตย์จะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม

นักวิจัยและนักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มพบกับความผิดหวัง นอกเสียจากว่า ที่ประชุมนี้จะมีข้อตกลงรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยร่างแถลงการณ์สุดท้ายของ G20 มีความคืบหน้าน้อยมากเกี่ยวกับความมุ่งมั่นใหม่ๆ ในการควบคุมมลพิษ

ทั้งนี้ กลุ่ม G20 ที่รวมถึงบราซิล จีน อินเดีย เยอรมนี และอเมริกา ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันราว 80% ของปริมาณทั่วโลก ซึ่งนักวิจัยเตือนว่า จำเป็นต้องลดลงอย่างมากเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะต่อสภาพภูมิอากาศ

ด้วยเหตุนี้ การประชุมนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับซัมมิต COP26 หรือการประชุมสุดยอดว่าด้วยสภาพภูมิอากาศที่จัดโดยสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่มีกำหนดเริ่มต้นในวันอาทิตย์ ที่กลาสโกว์ สก็อตแลนด์ โดยมีผู้นำเกือบ 200 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งรวมถึงสมาชิกส่วนใหญ่ของ G20 ที่จะบินตรงจากโรมไปร่วมประชุม

ออสการ์ โซเรีย จากเครือข่ายเคลื่อนไหวอาวาซ กล่าวว่า รายงานล่าสุดน่าผิดหวังเนื่องจากมีการตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนน้อยมาก เขาสำทับว่า หมดเวลาแล้วสำหรับรายการสิ่งที่ต้องการที่คลุมเครือ แต่โลกต้องการความมุ่งมั่นและการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

ร่างแถลงการณ์สุดท้ายฉบับที่ 5 ที่รอยเตอร์ได้รับเมื่อวันเสาร์ไม่ได้มีถ้อยคำที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเมื่อเทียบกับร่างฉบับก่อนหน้า แถมยังมีเนื้อหาเบาลงในบางประเด็นที่จำเป็นต้องดำเนินการให้บรรลุผล เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือศูนย์ภายในปี 2050

ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นระบุว่า เป้าหมายดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และหลีกเลี่ยงภัยพิบัติร้ายแรง เช่น ฝนแล้ง พายุ และน้ำท่วม

ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นยังเตือนว่า แม้แผนการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศบรรลุผลทั้งหมด แต่อุณหภูมิโลกจะยังร้อนขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส

จีน ผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่ที่สุดในโลก กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2060 ขณะที่ประเทศที่สร้างมลพิษรายใหญ่อื่นๆ เช่น อินเดียและรัสเซีย ไม่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือศูนย์ภายในปี 2050 เช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น การประชุมรัฐมนตรีพลังงานและสิ่งแวดล้อมกลุ่ม G20 ที่เนเปิลส์ในเดือนกรกฎาคมยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการกำหนดเป้าหมายเพื่อยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเลิกใช้พลังงานจากถ่านหิน แต่ส่งไม้ต่อให้ที่ประชุมผู้นำที่โรมในช่วงสุดสัปดาห์หาทางออกในเรื่องนี้

จากร่างแถลงการณ์ล่าสุด บรรดาผู้นำ G20 มีความคืบหน้าน้อยมาก โดยให้คำมั่นว่า จะทำอย่างดีที่สุดเพื่อหยุดการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มก่อนสิ้นทศวรรษ 2030 และจะเลิกอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะกลาง

ในทางกลับกัน บรรดาผู้นำ G20 ให้สัญญาระงับการอัดฉีดเงินทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนอกประเทศภายในสิ้นปีนี้

ขณะเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งยังลังเลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากจนกว่าประเทศมั่งคั่งจะปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้เมื่อ 12 ปีที่แล้วในการให้เงินสนับสนุนปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์นับจากปี 2020 เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาจัดการผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 ต.ค.) แอนโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการยูเอ็น วิจารณ์ว่า การที่ประเทศร่ำรวยไม่รักษาสัญญาทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจและขัดขวางความคืบหน้าในการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น