xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำทั่วโลกรูดม่านเปิดประชุมโลกร้อน เรียกร้องประเทศร่ำรวยให้รักษาสัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ – การประชุมสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญที่ยูเอ็นเป็นแม่งาน รูดม่านเริ่มการหารือเมื่อวันจันทร์ (1 พ.ย.) ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ประเทศมั่งคั่งรักษาสัญญาในการสนับสนุนทางการเงินเพื่อรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ประเทศที่ปล่อยมลพิษรายใหญ่อย่างอินเดียและบราซิลประกาศคำสัญญาใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

บรรดาผู้นำ ผู้เชี่ยวชาญและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ต่างเรียกร้องมาตรการชัดเจนเด็ดขาดเพื่อหยุดยั้งภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามอนาคตของโลกระหว่างการเปิดประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ครั้งที่ 26 หรือ “COP26” ที่จัดขึ้นนานสองสัปดาห์ตั้งแต่วันจันทร์ที่เมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์

COP26 ที่ถูกเลื่อนมา 1 ปีจากวิกฤตโรคระบาด เล็งฟื้นเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องการความมุ่งมั่นมากขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อัดฉีดความช่วยเหลือนับพันล้านดอลลาร์ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และทำให้ข้อตกลงปารีส 2015 ซึ่งได้รับการลงนามจากเกือบ 200 ประเทศ มีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ พันธะสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.7 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้ ซึ่งจะทำให้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงยิ่งขึ้น

แอนโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการยูเอ็น เตือนว่า โลกเผชิญสภาพอากาศร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 6 ปีติดกันนับจากปี 2015

ทั้งนี้ ปี 2009 ประเทศพัฒนาแล้วประกาศอัดฉีดเงินปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์นับจากปี 2020 เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนารับมือผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทว่า คำสัญญาดังกล่าวยังเป็นเพียงความว่างเปล่า ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งไม่ไว้วางใจและลังเลที่จะเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บรรดาผู้นำประเทศ อาทิ เคนยา บังกลาเทศ บาร์บาโดส และมาลาวี พากันเรียกร้องชาติร่ำรวยให้รักษาสัญญา

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก กล่าวในแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ประเทศพัฒนาแล้วไม่ควรแค่ลงมือทำมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาให้ทำได้ดียิ่งขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้นำจีนรวมถึงประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกร่วมกับอเมริกาและซาอุดีอาระเบีย ไม่ได้เดินทางไปร่วมประชุม อาจเป็นอุปสรรคต่อความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะเดียวกัน อินเดียและบราซิลที่ล้วนเป็นประเทศที่ปล่อยมลพิษรายใหญ่ที่สุด ใช้เวทีนี้ประกาศความมุ่งมั่นใหม่ โดยประธานาธิบดีฌาอีร์ โบโซนารู ระบุว่า บราซิลจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2030 จากที่เคยให้คำมั่นไว้ว่า จะลดแค่ 43% ในกรอบเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวคำนวณโดยเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2005 ซึ่งเป็นเส้นฐานที่มีการทบทวนและมีผลย้อนหลังเมื่อปีที่แล้ว ทำให้บราซิลบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

ด้านนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดิ ประกาศว่า อินเดียจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2070 ช้ากว่าเป้าหมายที่ยูเอ็นแนะนำถึง 20 ปี

นอกจากนั้น การที่ผู้นำ G20 ล้มเหลวในการให้คำมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ยังบ่อนทำลายเป้าหมายหลักของ COP26

ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดที่โรมช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาผู้นำ G20 เพียงแค่รับรู้ “ความเกี่ยวข้องสำคัญ” ในการดำเนินการดังกล่าว “ภายในกลางศตวรรษนี้” แต่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการเลิกใช้ถ่านหินในประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอน ขณะที่คำสัญญาในการลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลใน “ระยะกลาง” เป็นถ้อยแถลงเดียวกับที่ประกาศเมื่อปี 2009

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประเทศร่ำรวยยังยืนยันว่า เป้าหมายในการสนับสนุนเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์อาจล่าช้าไป 3 ปี โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนของอเมริกา กล่าวว่า ชาติมั่งคั่งต้องพยายามมากขึ้น และยอมรับว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าต่ำกว่าที่คาด ด้านประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส เรียกร้องประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมดร่วมรับผิดชอบในการสนับสนุนเงินช่วยเหลือดังกล่าวในสัดส่วนที่เป็นธรรม

เดือนกันยายนที่ผ่านมา ไบเดนประกาศว่า อเมริกาจะสนับสนุนเงินเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็นปีละ 11,400 ล้านดอลลาร์ ทว่า กลุ่มคลังสมองและนักเคลื่อนไหวมากมายวิจารณ์ว่า ตัวเลขดังกล่าวยังห่างไกลเป้าหมายที่ควรจะเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น