xs
xsm
sm
md
lg

จี20รับรองข้อตกลงปฏิรูปภาษีโลก สัญญาจัดหาวัคซีนแก่ชาติยากจนเพิ่มเติม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บรรดาผู้นำของ 20 เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อวันเสาร์(30ส.ค.) ให้การรับรองข้อตกลงปฏิรูประบบภาษีโลกเพื่อให้เหมาะกับยุคดิจิทัล ให้ทั่วโลกเก็บภาษีกำไรธุรกิจขนาดใหญ่ขั้นต่ำ 15% โดยมีเป้าหมายสกัดกั้้นธุรกิจยักษ์ใหญ่จากการซุกซ่อนผลกำไรในดินแดนปลอดภาษี(tax havens) นอกจากนี้พวกเขายังเห็นพ้องแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 แก่เหล่าประเทศยากจนเพิ่มเติม

ในถ้อยแถลงสำคัญถ้อยแถลงแรกของการประชุมซัมมิตจี 20 เป็นเวลา 2 วันในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ทางกลุ่มรับรอง "ข้อตกลงประวัติศาสตร์" ที่จะเห็นบริษัทระหว่างประเทศอยู่ภายใต้ภาษีขั้นต่ำสุด 15% จากการเปิดเผยของเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย "ข้อตกลงนี้จะหยุดการแข่งขันที่สร้างความเสียหายแก่รากฐานภาษีนิติบุคคล" เธอกล่าวในถ้อยแถลง

แผนปฏิรูปภาษีที่ได้รับการสนับสนุนจากเกือบ 140 ประเทศก่อนหน้านี้ เป็นการหาหนทางหยุดการกระทำของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลและอัลฟาเบ็ท บริษัทแม่ของกูเกิล ในการหาแหล่งหลบซ่อนผลกำไรในประเทศต่างๆที่มีอัตราภาษีระดับต่ำ

นอกจากนี้แล้วระหว่างการประชุมแบบเผชิญหน้าเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี บรรดาผู้นำจี 20 ยังสนับสนุนเสียงเรียกร้องให้ขยายผ่อนปรนหนี้แก่บรรดาประเทศยากจน และสัญญาจะฉีดวัคซีนโควิด-19แก่ประชากรโลกให้ได้ 70% ภายในช่วงกลางปี 2022

อย่างไรก็ตามในขณะที่การประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติใกล้มาถึงแล้ว แต่ดูเหมือนจี 20 จะประสบกับปัญหาในการสนับสนุนมาตรการที่หนักแน่นใหม่ๆ ที่บรรดาพวกนักวิทยาศาสตร์บอกว่ามีความจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติโลกร้อน


อิตาลี ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมจี 20 ในกรุงโรม วาประเด็นด้านสุขภาพและเศรษฐกิจเป็นวาระสำคัญสูงสุดในวันแรกของการประชุม ในขณะที่การพูดคุยหารือที่ยุ่งยากมากกว่าในประเด็นภาวะโลกร้อนมีกำหนดหารือกันในวันอาทิตย์(31ต.ค.)

ในการเน้นน้ำว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่คือวิกฤตใหญ่โตของโลก คณะแพทย์ในชุดกาวน์สีขาวและเจ้าหน้าที่จากสภากาชาดได้เข้าร่วมถ่ายภาพหมู่ตามธรรมเนียม เพื่อเป็นการเชิดชูความเสียสละและความพยายามของบรรดาเจ้าหน้าที่แพทย์ทั่วโลก

มาริโอ ดรากิ นายกรัฐมนตรีของอิตาลีกล่าวเปิดการประชุมว่ารัฐบาลชาติต่างๆจำเป็นต้องทำงานร่วมกันในการรับมือกับความท้าทายน่าเกรงขามต่างๆนานาที่ประชาชนของแต่ละประเทศต้องเผชิญ "ไล่ตั้งแต่โรคระบาดใหญ่ ภาวโลกร้อน ความยุติธรรมและการเก็บภาษีอย่างเท่าเทียม การมุ่งหน้ามันเพียงลำพังไม่ใช่ทางเลือก" เขากล่าว

ข้อตกลงภาษีนิติบุคคลที่ได้รับการยกย่องในฐานะเป็นหลักฐานของการร่วมมือของนานาชาติครั้งใหม่ ด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายมีสิทธิ์ถูกเรียกเก็บภาษีต่ำสุด 15% ในทุกแห่งที่พวกเขาปฏิบัติการนับตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาซุกซ่อนผลกำไรในองค์กรนอกอาณาเขต(off-shore entities)

"นี่มากกว่าแค่ข้อตกลงภาษี มันคือการทูตที่กำลังเปลี่ยนโฉมใหม่เศรษฐกิจโลกและกำลังคลอดออกมาเพื่อประชาชนของเรรา" ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯกล่าว

(ที่มา:รอยเตอร์/เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น