xs
xsm
sm
md
lg

IMF หนุน ‘จอร์จิวา’ นั่งกรรมการผู้จัดการต่อ มั่นใจไม่มีเอี่ยวกรณีแก้ข้อมูลให้ ‘จีน’ ในรายงานเวิลด์แบงก์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 15 ต.ค. 2019)
บอร์ดบริหารไอเอ็มเอฟแสดงความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมต่อคริสตาลินา จอร์เจียวา หลังการตรวจสอบไม่พบหลักฐานชัดเจนว่า กรรมการผู้จัดการหญิงผู้นี้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมตามข้อกล่าวหาแก้ไขข้อมูลเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อจีนสมัยที่เธอยังทำงานในธนาคารโลก กระนั้น รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ประกาศจับตาการติดตามผลและประเมินข้อมูลใหม่ๆ ของไอเอ็มเอฟอย่างใกล้ชิด พร้อมเรียกร้องให้องค์กรแห่งนี้ รวมถึงเวิลด์แบงก์มีมาตรการเชิงรุกเพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์และความน่าเชื่อถือขององค์กร

คณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ประกอบด้วยสมาชิกจาก 24 ชาติ และกระทรวงคลังสหรัฐฯ แยกกันออกคำแถลงเมื่อวันจันทร์ (11) หลังการประชุมนานหนึ่งสัปดาห์เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการของจอร์จิวา สมัยที่ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของธนาคารโลก ที่กลายมาเป็นปัญหาต่อการเป็นผู้นำของเธอในไอเอ็มเอฟ

จอร์จิวา นักเศรษฐศาสตร์บัลแกเรียและกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟคนแรกที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา ยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และแสดงความยินดีที่คณะกรรมการบริหารให้การรับรองตนและลงความเห็นว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล

แหล่งข่าววงในเผยว่า สัปดาห์ที่แล้วจอร์จิวาได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศส และประเทศยุโรปอื่นๆ ขณะที่อเมริกาและญี่ปุ่นผลักดันให้มีการตรวจสอบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม

ข้อกล่าวหาที่กลายเป็นปัญหาครั้งนี้มาจากรายงานของบริษัทกฎหมาย วิลเมอร์เฮล ที่จัดทำให้คณะกรรมการบริหารของธนาคารโลกเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของข้อมูลในรายงานของธนาคารโลก ว่าด้วยความยากง่ายในการ “การทำธุรกิจ” ของประเทศต่างๆ

รายงานของวิลเมอร์เฮลกล่าวหาว่า เมื่อปี 2017 จอร์จิวา และเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่นๆ ของธนาคารโลกกดดันพวกเจ้าหน้าที่ของเวิลด์แบงก์ให้เปลี่ยนอันดับของจีนในรายงานดังกล่าว เนื่องจากขณะนั้นธนาคารโลกต้องการให้ปักกิ่งเพิ่มเงินสนับสนุนจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี บอร์ดไอเอ็มเอฟระบุว่า รายงานฉบับนั้น ตลอดจนถึงข้อมูลจากการประชุมกับนักกฎหมายของวิลเมอร์เฮล และจอร์จิวา ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า จอร์จิวามีบทบาทไม่เหมาะสมในรายงาน “การทำธุรกิจ” ดังกล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลยุโรปรีบเร่งหาทางออกสำหรับปัญหานี้ก่อนการประชุมประจำปีธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟในสัปดาห์นี้ ซึ่งจอร์จิวา และเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก จะเป็นผู้นำการหารือเกี่ยวกับการฟื้นตัวของทั่วโลกจากวิกฤตโควิด-19 การผ่อนปรนหนี้ และความพยายามในการเร่งรัดการฉีดวัคซีน

ทว่า อเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสองชาติที่ถือหุ้นใหญ่สุดในไอเอ็มเอฟ ตั้งข้อสังเกตคัดค้านการด่วนสรุปและยืนยันความเชื่อมั่นต่อผู้นำไอเอ็มเอฟ


ส่วนคำแถลงของกระทรวงคลังสหรัฐฯ ระบุว่า วันจันทร์ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้พูดคุยกับจอร์จิวาเกี่ยวกับ “ปัญหาและข้อกังวลร้ายแรงด้านความชอบธรรม” จากการสอบสวนดังกล่าว และย้ำความมุ่งมั่นในการรักษาความซื่อสัตย์และความน่าเชื่อถือของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ

เยลเลน ยังบอกกับจอร์จิวาว่า กระทรวงคลังสหรัฐฯ จะจับตาการติดตามผลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินข้อเท็จจริงใหม่ๆ และสำทับว่า รายงานของวิลเมอร์เฮล สะท้อนความจำเป็นที่ผู้ถือหุ้นจะต้องระแวดระวังเพื่อปกป้องความซื่อสัตย์ของทั้งสองสถาบัน และไอเอ็มเอฟควรฟื้นความมุ่งมั่นในการรักษาความโปร่งใสและปกป้องผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากล

อย่างไรก็ดี กระทรวงคลังเห็นพ้องกับสมาชิกชาติอื่นๆ ว่า ไม่มีหลักฐานโดยตรงเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของจอร์จิวาในรายงานของธนาคารโลก จึงไม่มีเหตุผลในการเปลี่ยนตัวผู้นำไอเอ็มเอฟ

ขณะเดียวกัน ทั้งเจ้าหน้าที่ปัจจุบันและอดีตเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลก และไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ไม่ว่าใครคือผู้ที่รับผิดชอบการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในรายงานของเวิลด์แบงก์ก็ตาม แต่เรื่องอื้อฉาวนี้ได้บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือในการวิจัยของธนาคารโลก รวมถึงทำให้เกิดคำถามว่า การจัดทำรายงานดังกล่าวอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติสมาชิกหรือไม่

ทางด้านมัลพาสส์ ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของไอเอ็มเอฟ แต่กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ปรับปรุงความถูกต้องสมบูรณ์ในงานวิจัย ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งคาร์เมน ไรน์ฮาร์ต หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ร่วมทีมบริหารระดับอาวุโสของแบงก์

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น