ทันทีที่อุ้งเท้าหน้าของเจ้าหนวดยาว แตะลงบนแผ่นดิน คุณน้อนมองขึ้นตรวจตราสภาพแวดล้อมอย่างระแวดระวัง สองตาพุ่งปราดไปทางซ้าย ในจังหวะการขยับนั้นเอง กล้องถ่ายภาพชีวิตสัตว์ป่าด้วยระบบอัตโนมัติ ก็คลิกเบาๆ และบันทึกรูปไว้ได้เป็นที่เรียบร้อย
น้อนสี่ขาหนวดยาวตัวนี้เป็นแมวพเนจร แต่สถานที่ดังกล่าวมิใช่ป่าเขตร้อน หากเป็นเมืองหลวงแห่งสหรัฐอเมริกา คือ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (Washington District of Columbia) ซึ่งเรียกกันขำๆ ว่า วอชิงตัน ดิสตริก ออฟ แคท)
รูปภาพที่ถ่ายทำกันนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสำรวจประชากรน้อนมิ้วแห่ง ดี.ซี. ซึ่งจัดทำกันเป็นครั้งแรกของสหรัฐอเมริกา โดยดำเนินงานกันทั้งสิ้น 3 ปี นับแต่เมื่อปี 2018 และมีหลายหน่วยงานร่วมดำเนินการ อาทิ Pet Smart Charities, ASPCApro, Smithsonian Zoo และ Humane Rescue Alliance และนักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนมาก โดยหน่วยงานเล่านี้ดำเนินงานอุทิศตัวช่วยเหลือสวัสดิภาพของสัตว์ ตลอดจนเป็นหน่วยงานด้านการอนุรักษ์
ผลการสำรวจสำมะโนประชากรแมว ซึ่งประเมินขนาดของประชากรแมวทั้งหมดทั้งมวลในวอชิงตัน ดี.ซี. ไม่ว่าจะเป็นแมวบ้าน แมวเร่ร่อน หรือแมวในสถานพักพิง ได้พบว่า...
มีแมวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ราว 2 แสนตัว (ขณะที่ประชากรมนุษย์มีประมาณ 7 แสนคน ซึ่งเทียบเท่ากับสัดส่วน 1:3.5 กันเลยทีเดียว)
ทั้งนี้ 1 แสนตัวโดยประมาณ เป็นแมวพเนจรเตร็ดเตร่ไปตามพื้นที่ต่างๆ และในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นแมวรักอิสระแต่ก็มีบ้านของทาสแมวให้กลับไปเจ๊าะแจ๊ะได้ทุกเมื่อที่ต้องการ และส่วนหนึ่งเป็นแมวพเนจรขนานแท้กับเป็นแมวที่ไม่ยอมไว้ใจมนุษย์หน้าไหนทั้งสิ้นซึ่งมีอยู่ประมาณ 3,000-4,000 ตัว
ไทเลอร์ ฟล็อคฮาร์ต นักนิเวศวิทยาสายอนุรักษ์ซึ่งเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ให้ข้อมูลดังกล่าว และบอกด้วยว่าย่านที่อยู่อาศัยของผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีจะมีแมวพเนจรน้อยอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ประชาชนในช่วงวัย 40 ปีเป็นกลุ่มที่มีการเลี้ยงแมวมากที่สุด
นอกจากนั้น คุณฟล็อคฮาร์ตซึ่งมีบทบาทในฐานะหนึ่งในแกนนำของภารกิจการนับจำนวนแมวแห่งกรุงวอชิงตัน ยังกล่าวด้วยว่า เราจะไม่สามารถพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่นใดที่มีขนาดประชากรหนาแน่นได้มากเท่านี้
เถียงกันมานานว่าคุณมิ้วสัญจรเป็นอันตรายต่อสมดุลแห่งธรรมชาติหรือไม่
ที่ผ่านมา แมวเตร็ดเตร่และพเนจรถูกหน่วยงานด้านอนุรักษ์ระบุว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำลายประชากรนก ในเวลาเดียวกัน ฝ่ายที่ช่วยเหลือสัตว์ก็พยายามจะดูแลให้ประชากรแมวทั้งปวงสามารถดำรงชีพตามท้องถนนและสถานที่ต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยและมีสวัสดิภาพที่ดี
ทั้งนี้ มีผลการศึกษาที่ระบุว่า ในแต่ละปี แมวทั่วสหรัฐฯ สังหารนกเป็นจำนวนมหาศาลประมาณ 1,300-4,000 ล้านตัว และรายงานดังกล่าวระบุด้วยว่าแมวเป็นผู้ล่าที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมของโลกมากที่สุด เว็บไซต์ archyworldys.com รายงาน
ในการนี้ HRA ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานสำรวจสำมะโนประชากรแมว ให้ความเห็นว่าโครงการดังกล่าวนี้เป็นเวทีสำคัญที่นำองค์การต่างๆ เข้ามาดำเนินงานร่วมกัน โดยวางอคติลงก่อน และไม่มีการตั้งธงว่าใครถูกใครผิด แต่มาช่วยกันดูแลเพื่อประสานแก้ไขสิ่งต่างๆ เริ่มตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์
สเตฟานี เชน ประธานคณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของ HRA บอกว่าหน่วยงานได้รณรงค์แนะนำบรรดาเจ้าของแมวใส่ใจดูแลให้ลูกน้อยหนวดยาว อยู่แต่ในบ้าน เพื่อความปลอดภัยของน้อง พร้อมกับช่วยป้องกันผลกระทบต่อสัตว์ป่าสายพันธุ์ต่างๆ
“ดิฉันพอใจนะคะว่าประชาชนผู้เลี้ยงแมวมากเลยช่วยกันปฏิบัติตามคำแนะนำของ HRA” คุณเชนกล่าว
ในการสำรวจสำมะโนประชากรแมวที่ดำเนินการด้วยงบประมาณสูงถึง 1.5 ล้านดอลลาร์ และใช้เวลาประมาณ 3 ปีนั้น นักวิจัยออกเซอร์เวย์สุ่มตัวอย่างมากกว่า 2,600 ครัวเรือน และวิเคราะห์ตัวเลขของสถานพักพิงสัตว์ต่างๆ อีกทั้งมีการออกเดินสำรวจไปตามเส้นทางพิเศษหลายหลากเส้นทางเพื่อเก็บข้อมูล พร้อมทั้งตั้งกล้องถ่ายภาพชีวิตสัตว์ป่าในจุดต่างๆ รวมทั้งสิ้น 1,530 จุด
“โครงการของเราน่าจะเป็นการวิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับแมวที่ละเอียดและรอบด้านอย่างที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดทำกันมาในเมืองต่างๆ ทั่วโลก” คุณฟล็อคฮาร์ตกล่าว
หลังประกาศโครงการสำรวจสำมะโนประชากรแมวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 คุณฟล็อคฮาร์ตและคณะวิจัยได้ดำเนินการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจนเสร็จสิ้น ตลอดจนทำขั้นตอนทบทวนผลการศึกษาในหลายเวทีเป็นที่เรียบร้อย โดยผลการศึกษาได้พัฒนาเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการเรื่องแมวได้เต็มศักยภาพ พร้อมนี้ทีมวิจัยได้นำเครื่องมือดังกล่าวนำเผยแพร่บนเว็บไซต์ https://hub.dccatcount.org เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ นำไปดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากรแมวในพื้นที่ต่างๆ ได้
กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีสัตว์ป่าเข้ามาอาศัยกันหลากหลายสายพันธุ์
ในบรรดารูปต่างๆ ที่ได้จากกล้องถ่ายภาพชีวิตสัตว์ป่า 1,530 จุดนั้น นอกจากจะมีรูปของแมวแล้ว ยังมีสัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย เช่น กวาง สุนัขจิ้งจอก แร็กคูน กระรอก แต่ที่น่าตื่นเต้นคือ แมวป่า
“บ้านเมืองของเรามีความหลากหลายด้านสายพันธุ์สัตว์ป่ามากมายเลยครับ” คุณฟล็อคฮาร์ต บอกไว้
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: AFP hub.dccatcount.org rchyworldys.com)