xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำสหรัฐฯ-โลกอาลัย-สดุดี ‘คอลิน พาวเวลล์’ --บิ๊กทหารและรมว.ต่างปท.ผิวดำคนแรกของอเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลิน พาวเวลล์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และอดีตประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ขณะกล่าวปราศรัยที่เมืองออสติน รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2006
ผู้นำสหรัฐฯ และทั่วโลกร่วมไว้อาลัยคอลิน พาวเวลล์ วีรบุรุษสงคราม รัฐมนตรีต่างประเทศและที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติผิวดำคนแรกของอเมริกา ที่เสียชีวิตเมื่อวันจันทร์ (18 ต.ค.) ด้วยอาการแทรกซ้อนจากโควิด-19

ครอบครัวพาวเวลล์ออกคำแถลงว่า คอลิน พาวเวลล์ อดีตนายพล 4 ดาววัย 84 ปี เสียชีวิตเมื่อเช้าวันจันทร์ด้วยอาการแทรกซ้อนจากโควิด-19 ถึงแม้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ขณะที่เพื่อนสนิทคนหนึ่งเผยว่า พาวเวลล์เป็นโรคพาร์คินสันระยะต้น และมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัลติเพิลมัยอิโลมา ที่อยู่ระหว่างการพักรักษาโรค โดยมะเร็งเม็ดเลือดขาวทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อลดลง จึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะมีอาการรุนแรงจากโควิด-19

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงไว้อาลัยและยกย่องพาวเวลล์ว่า เป็นผู้ทำลายอุปสรรคด้านเชื้อชาติและเชื่อมั่นใน “คำสัญญาของอเมริกา”

ผู้นำสหรัฐฯ สำทับว่า พาวเวลล์เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของทั้งนักรบและนักการทูต มีความมุ่งมั่นเพื่อความแข็งแกร่งและความมั่นคงของประเทศเหนือสิ่งอื่นใด พร้อมสั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางลดธงลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัย

หลังจากนำชัยชนะให้อเมริกาในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกปี 1991 นั่นคือครั้งที่ขับไล่กองทัพอิรักสมัยซัดดัม ฮุสเซน ออกจากการยึดครองคูเวต ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม พาวเวลล์ได้รับความนิยมและความเคารพอย่างกว้างขวางกระทั่งกลายเป็นตัวเก็งผู้สมัครที่อาจได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของอเมริกา แต่ด้วยความกังวลของภรรยาเกี่ยวกับความปลอดภัยของเขา ทำให้ที่สุดแล้วพาวเวลล์ตัดสินใจไม่ลงสมัคร

พาวเวลล์ ซึ่งมาจากครอบครัวผู้อพยพชาวจาไมกา ได้ฝ่าฟันเพดานที่มองไม่เห็น 0oส่งให้เขาเลื่อนชั้นจากสนามรบในเวียดนาม สู่ตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติคนแรกที่เป็นชาวผิวดำของอเมริกาในสมัยอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน จากพรรครีพับลิกัน

เขายังเป็นประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม ซึ่งเป็นตำแหน่งนายทหารประจำการอาวุโสที่สุดของกองทัพสหรัฐฯ ที่เป็นคนแอฟริกัน-อเมริกันคนแรก อีกทั้งมีอายุน้อยที่สุดด้วย หลังได้รับแต่งตั้งในคณะบริหารชุดต่อมาของจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช จากพรรครีพับลิกัน และยังครองตำแหน่งนี้ต่อมาจนถึงปี 1993 ในคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน จากพรรคเดโมแครต

อดีตนายพลสี่ดาวผู้นี้ซึ่งยอมรับว่า ด้วยการที่เขามีมุมมองทางสังคมแบบเสรีนิยม ทำให้เขาแปลกแยกจากสมาชิกมากมายในพรรค แม้รีพับลิกันมักยกเขาเป็นตัวอย่างของการยอมรับความแตกต่างหลากหลายก็ตาม กระนั้น นับจากปี 2008 พาวเวลล์ได้ประกาศรับรองบารัค โอบามา ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต แถมต่อมายังรับรองฮิลลารี คลินตัน และล่าสุดคือไบเดน นับเป็นสะท้อนความไม่วางใจอย่างลึกซึ้งของเขาจากการที่พรรครีพับลิกันโน้มเอียงไปทางฝ่ายขวามากขึ้น

พาวเวล์ที่ทำงานให้ประธานาธิบดีถึง 4 คน และสร้างชื่อเสียงในฐานะบุรุษผู้ทรงเกียรติที่ลอยตัวจากการแข่งขันทางการเมือง ได้รับการยกย่องและไว้อาลัยจากอดีตประธานาธิบดีที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกคน ยกเว้นโดนัลด์ ทรัมป์ ที่พาวเวลล์เคยประกาศว่า เป็นคนโกหกที่จะนำอันตรายมาสู่อเมริกา

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกคำสั่งให้หน่วยงานส่วนกลางของสหรัฐฯลดธงครึ่งเสาเป็นการไว้อาลัยมรณกรรมของ คอลิน พาวเวลล์  ในภาพนี้คือบริเวณอนุสาวรีย์วอชิงตัน ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
โอบามา ยกย่องพาวเวลล์เป็น “ต้นแบบแห่งความรักชาติ”

อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งพาวเวลล์ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในปี 2000 ตั้งข้อสังเกตว่า ประธานาธิบดีหลายคนวางใจในการให้คำปรึกษาและประสบการณ์ของพาวเวลล์ และเสริมว่า เขาเป็นที่โปรดปรานของประธานาธิบดีกระทั่งได้ “เหรียญแห่งอิสรภาพของประธานาธิบดี” จากคณะบริหารของบุช ซีเนียร์ และคลินตัน

อดีตนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอล เป็นผู้นำโลกกลุ่มแรกๆ ที่ไว้อาลัยต่อพาวเวลล์

บอริส จอห์นสัน และโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบันและอดีตนายกรัฐมนตรีตามลำดับ ยกย่องการนำด้วยการทำเป็นตัวอย่างและการอุทิศตัวทำงานเพื่อประชาชนของพาวเวลล์

ขณะเดียวกัน สมาชิกคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันของอเมริกาต่างออกมาแสดงความเคารพต่อพาวเวลล์ เช่น ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมที่กล่าวว่า พาวเวลล์เป็นหนึ่งในผู้นำยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่อเมริกาเคยมีมา

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ ยกย่องว่า พาวเวลล์ช่วยปรับปรุงกระทรวงฯ ให้ทันสมัย เป็นคนที่เต็มไปด้วยแนวคิดดีๆ ยอมรับฟัง เรียนรู้ ปรับตัว และยังยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง

หนึ่งในความผิดพลาดใหญ่ที่พาวเวลล์ยอมรับคือ การไปปราศรัยต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2003 ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวหาว่า อิรักมีอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงและเป็นเหตุผลสำคัญที่อเมริกาใช้อ้างเพื่อบุกรุกรานและยึดครองอิรัก ทว่า ต่อมากลับได้รับการพิสูจน์ว่า ข้อกล่าวหานี้ไม่เป็นความจริง

พาวเวลล์ยอมรับในเวลาต่อมาว่า คำปราศรัยดังกล่าวเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวกรองที่ไม่ถูกต้องและถูกบิดเบือนโดยเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ในคณะบริหารของบุช และระหว่างการให้สัมภาษณ์เอบีซี นิวส์ในปี 2005 เขายังบอกว่า ความผิดพลาดดังกล่าวเป็นมลทินที่จะเป็นส่วนหนึ่งในประวัติของเขาตลอดไป และเป็นความเจ็บปวดของเขาเสมอมา

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น