เมื่อวานนี้ (25 ตุลาคม 2564) ฝูงเหยี่ยวหูดำอพยพ ชุดแรก ประมาณ 300 ตัว บินมาถึงบ้านโคกสำโรง ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก และใช้พื้นที่ทุ่งนา บริเวณศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่านครนายก ประมาณ 1,300 ไร่ เป็นพื้นที่รวมนอน
ทุกๆ ปี เหยี่ยวหูดำ หรือเหยี่ยวดำใหญ่ (Black-eared Kite) จะบินอพยพหนีอากาศหนาวจัดมาประเทศไทย โดยกระจายอยู่ตามแหล่งพักนอนใกล้ทุ่งนาทั่วประเทศ สำหรับแหล่งพักอาศัยหนีหนาวในพื้นที่บ้านโคกสำโรง ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี มักเป็นจุดใหญ่ที่พวกมันพากันมาปักหลักอยู่เป็นประจำ ด้วยพื้นที่ของทุ่งนากว้างใหญ่หลายหมื่นไร่ที่ผลิตข้าวและเกษตรกรรมอื่นๆ รวมถึงยังเป็นพื้นที่ติดกับปราจีนบุรี ซึ่งบริเวณรอยต่อนั้นเป็นทุ่งนากว้างใหญ่จึงถือว่ามีแหล่งอาหารหลักชั้นดีที่อุดมสมบูรณ์ด้วย เช่น หนูนา งู สัตว์ขนาดเล็กต่างๆ
ราวเดือนกันยายน-ตุลาคม ภูมิอากาศทางตอนเหนือของโลก แถบประเทศรัสเซีย มองโกเลีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เริ่มมีหิมะและอากาศหนาวเย็น ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของบรรดาเหล่านกล่าเหยื่อซึ่งรวมถึงเหยี่ยวหูดำ ที่อาศัยอยู่แถบซีกโลกตอนเหนือ พอจะเริ่มขาดแคลนอาหาร พวกมันจำเป็นต้องพากันอพยพลงมาทางซีกโลกใต้ที่มีอากาศอบอุ่น และอาหารอุดมสมบูรณ์กว่า และจะบินอพยพกลับมาอีกครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ของปีถัดไปเพื่อไปทำรังวางไข่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปเอเชียลงมาจนถึงเทือกเขาหิมาลัย
สำหรับประชากรเหยี่ยวหูดำบางส่วนอพยพลงใต้ในช่วงฤดูหนาว ที่พบในเมืองไทยมีสถานภาพเป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ แม้ว่าแต่ละปีจะเคยพบได้เป็นจำนวนมากถึงหลักพันหลักหมื่น แต่ก็ถือว่าจำนวนของพวกมันลดลงจากในอดีตพอสมควร โดยมีการคาดการณ์ว่าเป็นผลจากสารเคมีในภาคการเกษตรที่ตกค้างในตัวเหยื่อ ทำให้บางส่วนบินอพยพข้ามไปถึงประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ข้อมูลอ้างอิง บดินทร์ จันทศรีคำ,http://www.tournakhonnayok.com/