xs
xsm
sm
md
lg

พบตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิห้องแล้ว?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ความฝันอันสูงสุดความฝันหนึ่งของนักฟิสิกส์ และนักเทคโนโลยีทั่วโลก คือ การได้พบวิธีสร้าง หรือวิธีทำตัวนำยวดยิ่ง (superconductor) ที่สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าให้ไหลผ่านไปได้ โดยไม่มีแรงต้านใด ๆ (นั่นคือ เป็นสสารที่มีความต้านทานไฟฟ้าเท่ากับศูนย์) ภายใต้เงื่อนไขว่า มันจะยังคงสภาพการเป็นตัวนำยวดยิ่งได้ตลอดไปที่อุณหภูมิห้อง (คือ ประมาณ 30 องศาเซลเซียส) ดังนั้น ชื่อเป็นทางการของวัสดุในฝันที่ว่านี้จึงมีชื่อเรียกเป็นตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิห้อง (room temperature superconductor)


เพราะตลอดเวลาร่วม 110 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 1911 ที่ Heike Kamerlingh Onnes ได้พบว่าปรอทบริสุทธิ์ เมื่อมีอุณหภูมิ 4.2 องศาสัมบูรณ์ (-269 องศาเซลเซียส) ปรอทจะกลายเป็นตัวนำยวดยิ่ง แต่การที่ปรากฏการณ์จะเกิด ณ อุณหภูมิที่ต่ำมากเช่นนี้ ทำให้ตัวนำยวดยิ่งไม่มีประโยชน์ในชีวิตของใครเลย นักฟิสิกส์จึงได้พยายามยกอุณหภูมิวิกฤต (critical temperature) ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สสารธรรมดาเปลี่ยนสภาพเป็นตัวนำยวดยิ่งให้สูงขึ้นอีกประมาณ 200 องศาเซลเซียส


เพื่อนำมาใช้ในเครื่อง fMRI ของแพทย์ สำหรับตรวจดูความปกติในการทำงานของเส้นเลือดในสมอง


หรือใช้ในการสร้างรถไฟเหาะ (maglev) ของวิศวกร เพื่อเดินทางด้วยความเร็วสูง และเพื่อให้นักฟิสิกส์สร้างสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงในเตาปฏิกรณ์แบบ fusion และในเครื่องเร่งอนุภาคพลังงานสูง ชื่อ LHC (Large Hadron Collider)


เพื่อตรวจสอบและเพิ่มเติมความเข้าใจในธรรมชาติของอนุภาคมูลฐาน และอันตรกิริยาต่าง ๆ ที่มีในธรรมชาติ รวมถึงการใช้ในการสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่อุณหภูมิห้องด้วย


ดังนั้น คนจำนวนมากจึงรู้สึกตื่นเต้น เมื่อ Ranga Dias นักฟิสิกส์ในสังกัดมหาวิทยาลัย Rochester ในประเทศสหรัฐอเมริกากับคณะ ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ.2020 ว่า ทีมวิจัยของเขาประสบความสำเร็จในการสร้างตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิห้องได้แล้วเป็นครั้งแรก

บรรดาผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจทั้งหลายจึงต้องการจะรู้รายละเอียดของการค้นพบ เช่นว่า Dias ใช้ธาตุอะไรบ้างในการทำ มีขั้นตอนและกลเม็ด รวมถึงเทคนิคอะไร ฯลฯ โดยแสดงเป็นตัวเลขที่ชัดเจน เช่นว่า ต้องใช้อุณหภูมิสูงเท่าใด เตาสังเคราะห์ต้องมีความดันสูงเพียงใด และเวลาที่ใช้ในขั้นตอนต่าง ๆ นานเพียงใดด้วย เพื่อจะได้ทำเอง และวงการวิทยาศาสตร์ก็ต้องการตรวจสอบคำอ้างของ Dias ว่าสามารถทำได้จริงหรือ Dias เข้าใจผิดไปเอง

แต่ Dias ก็มิได้เปิดเผยรายละเอียดใด ๆ ครั้นเมื่อนักทดลองกลุ่มอื่นได้พยายามลองทำตามขั้นตอนที่ Dias แจงไว้ในงานวิจัย ก็ไม่มีใครได้ผลดังที่ Dias อ้าง

เหตุการณ์นี้ทำให้ Jorge Hirsch นักฟิสิกส์อาวุโสแห่ง University of California ที่ San Diego (UCSD) ออกมาโจมตี โดย อ้างถึงตัวเลขต่าง ๆ Dias วัดได้ และพบว่าไม่ตรงกับที่ตนวัดได้เลย และหลังจากที่ได้พยายามขอข้อมูลมานานแรมปี Dias ก็ยังไม่ยอมให้ โดยอ้างว่า Hirsch (ซึ่งเป็นผู้คิดดัชนีวัดความสามารถในการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ คือค่า h-index) มิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องธรรมชาติของฟิสิกส์ที่ความดันสูง และในอดีต Hirsch ได้เคยโจมตีทฤษฎี BCS ของ J. Bardeen, L. Cooper และ R. Schrieffer ว่าไม่ถูกต้อง (ทฤษฎี BCS เป็นทฤษฎีที่ทำให้นักฟิสิกส์ทั้ง 3 คน ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ ในปี 1972) และเป็นคนที่ชอบตั้งประเด็นสงสัยในความสุจริตของนักวิจัยเรื่องตัวนำยวดยิ่งตลอดเวลา ดังนั้น Dias จึงคิดว่า Hirsch เป็นนักวิชาการที่มีพฤติกรรมน่าเกลียด เมื่อเหตุผลเป็นเช่นนี้ Dias จึงมิอาจให้ข้อมูลการทดลองของตนแก่ Hirsch ได้

เมื่อไม่ได้ข้อมูลที่ต้องการ Hirsch จึงเขียนจดหมายไปขอข้อมูลจากวารสาร Nature ที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยของ Dias และจาก National Science Foundation (NSF) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยของ Dias และเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ บรรณาธิการของวารสาร Nature ก็ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่อง “วิวาทะ” นี้ว่า กองบรรณาธิการกำลังติดต่อกับ Dias ซึ่งเป็นเจ้าของบทความวิจัย เพื่อเปิดเผยข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ ที่ได้ทำไป

เพราะความอดทนของมนุษย์มีขีดจำกัด ดังนั้น Hirsch จึงได้เขียนบทความไปลงในวารสาร Physica C : Superconductivity and its Applications ฉบับเดือนกันยายน ปีนี้ว่า “ผลการทดลองของ Dias อาจจะได้มาจากการปรับเปลี่ยนและตกแต่งข้อมูลของผู้วิจัยคนหนึ่ง ซึ่งได้เคยกระทำมาแล้วตั้งแต่ในอดีต” บทความของ Dias จึงมีนัยยะว่า Dias กับคณะเป็นคนลวงโลก เพราะได้ทำวิจัยไปในลักษณะที่ผิดจริยธรรมอย่างรุนแรง


นับตั้งแต่ปี 1911 ที่นักฟิสิกส์ชาวเนเธอร์แลนด์ชื่อ Heike Kamerlingh Onnes พบปรากฏการณ์สภาพนำยวดยิ่ง และการค้นพบนี้ ได้ทำให้ Onnes ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 1913 อีก 46 ปีต่อมา คือในปี 1957 Bardeen , Cooper กับ Schrieffer ก็สามารถอธิบายปรากฏการณ์สภาพนำยวดยิ่งได้ ว่าเกิดจากการที่อิเล็กตรอนตัวหนึ่ง ขณะเคลื่อนที่ไปในสสาร แรงดึงดูดไฟฟ้าระหว่างอิเล็กตรอนที่มีประจุลบกับไอออนต่าง ๆ ที่มีประจุบวก จะทำให้กลุ่มไอออนในบริเวณโดยรอบอิเล็กตรอนขยับตัวเคลื่อนที่เข้าหามัน โครงสร้างที่เป็นระเบียบของสสารจึงมีความรวนเร เพราะบริเวณนั้นมีความหนาแน่นของประจุบวกค่อนข้างมากผิดปกติ ดังนั้นอิเล็กตรอนอีกตัวหนึ่ง ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงก็จะถูกแรงไฟฟ้าดึงดูดเข้าไปหากลุ่มไอออนบวก เหตุการณ์นี้จึงทำให้ดูเสมือนว่าอิเล็กตรอนสองตัวดึงดูดกัน ทั้ง ๆ ที่เวลาอยู่ในสุญญากาศอิเล็กตรอนทั้งสองจะผลักกัน (เพราะมีประจุลบเหมือนกัน) คู่อิเล็กตรอนที่เกิดขึ้นนี้ มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า คู่ Cooper ซึ่งจะเคลื่อนที่ไปด้วยกันในสสารอย่างไร้แรงต้านทานไฟฟ้าใด ๆ สสารจึงเป็นตัวนำยวดยิ่ง

แต่เวลาอุณหภูมิของสารเพิ่มสูงขึ้น ๆ แรงดึงดูดระหว่างอิเล็กตรอนในคู่ Cooper จะลดลง ๆ แล้วสลายไป ทำให้คู่ Cooper จึงแตกแยก เป็นอิเล็กตรอนสองตัว ในเวลานั้น ตัวนำยวดยิ่งจึงกลายเป็นตัวนำธรรมดาที่มีความต้านทานไฟฟ้าทันที นักฟิสิกส์เรียกอุณหภูมิที่สสารกำลังเปลี่ยนสภาพต้านทานไฟฟ้าว่า อุณหภูมิวิกฤต (ซึ่งใช้สัญลักษณ์ Tc) ในกรณีของปรอทบริสุทธิ์ อุณหภูมิวิกฤตของมันจะมีค่าเท่ากับ 4.2 K ในเวลาต่อมานักฟิสิกส์ได้ทดลองและพบว่ามีธาตุ และสารประกอบอีกมากมายหลายหมื่นชนิดที่เป็นตัวนำยวดยิ่งได้ โดยทุกสารล้วนมีอุณหภูมิวิกฤตต่ำกว่า 23 K ข้อมูลเหล่านี้ ทำให้คนทั้งโลกคิดว่า อุณหภูมิวิกฤต ของสารทุกชนิดที่มีในธรรมชาติจะต้องมีค่าไม่เกิน -250 องศาเซลเซียส ในทำนองเดียวกับที่ความเร็วของสรรพสิ่งในเอกภพจะต้องไม่สูงเกินความเร็วแสง


แต่เมื่อถึงปี 1986 คนทั้งโลกก็ตื่นเต้นอีก เมื่อ J. Georg Bednorz กับ K. Alexander Müller จากสถาบันวิจัย IBM ที่ Zurich ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศข่าวการพบปรากฏการณ์สภาพนำยวดยิ่งในวัสดุเซรามิก ซึ่งประกอบด้วยธาตุ lanthanum, copper และ oxygen เวลาโด๊ปด้วย barium มีอุณหภูมิวิกฤต “สูง” ถึง 30 K (คือ มากกว่า 23 K) การค้นพบตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูง (high temperature superconductor) นี้ ทำให้คนทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 1987 ซึ่งนับว่าได้รับค่อนข้างเร็ว คือ หลังจากที่พบปรากฏการณ์เพียงหนึ่งปี

ต่อจากนั้นการวิจัยเรื่องนี้ ก็ทำให้นักฟิสิกส์ได้พบสารที่เป็นตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูงเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และในปี 1994 ก็ได้พบว่า สารประกอบปรอท ทองแดง ออกซิเจน (mercury – based copper oxide) เมื่อมีความดันสูงมากระทำ จะมีอุณหภูมิวิกฤตสูงถึง 164 K (-109 องศาเซลเซียส) โดยที่อิเล็กตรอนทั้งสองตัวก็ยังจับคู่กันเหมือนเดิม แต่ตราบถึงวันนี้ก็ยังไม่มีทฤษฎีที่พิสูจน์ได้ว่า คู่ Cooper เกิดขึ้นได้ โดยใช้กลไกรูปแบบใด

ย้อนอดีตไปก่อนนั้นเล็กน้อย คือ ในปี 1968 Neil Ashcroft ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีจากมหาวิทยาลัย Cornell ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เคยเสนอความคิดว่า ธาตุ hydrogen เวลาตกอยู่ภายใต้ความดันที่สูงมากมหาศาล มันจะกลายเป็นโลหะไฮโดนเจน จึงสามารถนำไฟฟ้าได้ดี แม้กระทั่งที่อุณหภูมิห้อง นั่นคือ โลหะไฮโดรเจนอาจเป็นยวดยิ่งได้ ข้อเสนอนี้ได้รับการตอบรับอย่างกระตือรือร้นจากบรรดานักทดลองทั่วโลก


ซึ่งได้นำภาชนะบรรจุไฮโดรเจนเหลวมาวางอยู่ระหว่างปลายแหลมทั้งสองของทั่ง (anvil) ซึ่งทำด้วยเพชร แล้วเพิ่มความดันที่ทั่ง ไฮโดรเจนเหลวจึงถูกอัด ๆ จนกลายสภาพเป็นโลหะไฮโดรเจน เมื่อความดันมีค่ามากถึงสองล้านเท่าของความดันบรรยากาศโลก (นั่นคือ ประมาณ 75% ของความดัน ณ จุดศูนย์กลางของโลก) แต่การทดลองที่แสดงว่าโลหะไฮโดรเจนเป็นตัวนำยวดยิ่งได้ก็มิได้ชี้นำว่าเราสามารถจะนำมันไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร

ดังนั้นในปี 2004 Ashcroft จึงได้เสนอความคิดใหม่ คือ แทนที่จะใช้ไฮโดรเจนบริสุทธิ์ เขาก็เสนอให้นำไฮโดรเจนไปรวมกับธาตุอื่นเป็นสารประกอบ และอัดสารประกอบนั้นด้วยความดันสูง เพราะ Ashcroft ได้คำนวณพบว่า อุณหภูมิวิกฤตของสารประกอบไฮโดรเจนที่ได้จะมีค่าสูงขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความดันที่มากเท่ากับกรณีการใช้ไฮโดรเจนบริสุทธิ์

ความคิดของ Ashcroft ได้กลายเป็นความจริงในปี 2015 เมื่อ Mikhail Eremets ในสังกัด Max Planck Institute for Chemistry ที่เมือง Mainz ในประเทศเยอรมนี ได้พบปรากฏการณ์สภาพนำยวดยิ่งในสารประกอบ H3S ว่ามีอุณหภูมิวิกฤตเท่ากับ 203 K (-70 องศาเซลเซียส) ภายใต้ความดัน 155 GPa (gigapascal) หรือประมาณหนึ่งล้านเท่าของความดันบรรยากาศโลก และอีก 3 ปีต่อมา Eremets ก็ได้พบว่าสารประกอบที่มีไฮโดรเจน เป็นองค์ประกอบหลักยังมีอีกหลายชนิดที่มีอุณหภูมิวิกฤตสูงถึง 250 K (-23 องศาเซลเซียส) แต่ทันทีที่ลดความดัน ปรากฏการณ์สภาพนำยวดยิ่งของสารนั้นก็สลายหายไปในทันที ดังนั้นความหวังที่จะได้ใช้ตัวนำยวดยิ่งในชีวิตประจำวันก็ยังไม่ได้เป็นความจริง

จากข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงนี้ Dias กับคณะ จึงได้ทดลองนำธาตุ carbon มาเติมในสารประกอบ hydrogen sulfide โดยหวังว่าพันธะเคมีที่แข็งแรงระหว่าง carbon กับ hydrogen และ sulfur จะทำให้อุณหภูมิวิกฤตของสารประกอบที่ได้สูงขึ้น รวมถึงจะทำให้ความดันที่จำเป็นต้องใช้ในการทำให้เกิดปรากฏการณ์ สภาพนำยวดยิ่งลดลงมากด้วย

ในรายงานการวิจัย Dias อ้างว่า ได้บดอนุภาค carbon กับอนุภาค sulfur เข้าด้วยกัน แล้วปล่อยแก๊สสามชนิด คือ hydrogen , hydrogen sulfide และ methane ให้ผ่านท่อที่บรรจุอนุภาคผสมนี้ จากนั้นได้ฉายแสงเลเซอร์ผ่านตัวทั่ง ที่ทำด้วยเพชร เพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาเคมี ซึ่งจะเปลี่ยนของผสมเป็นผลึก และได้พบว่าเมื่อความดันเพิ่มสูงถึง 148 GPa ผลึกได้กลายสภาพเป็นตัวนำยวดยิ่งที่อุณหภูมิ 147 K ครั้นเมื่อเพิ่มความดันที่ทั่ง จนกระทั่งมีค่า 267 GPa ก็ได้พบว่าอุณหภูมิวิกฤตของผลึกมีค่า 287 K (14 องศาเซลเซียส) ซึ่งเป็นอุณหภูมิในห้องเก็บเหล้าองุ่นทั่วไป การวัดสภาพรับไว้ได้เชิงแม่เหล็ก (magnetic susceptibility) ก็แสดงให้เห็นว่าผลึกที่ได้เป็นตัวนำยวดยิ่งที่อุณหภูมิห้องจริง ๆ Dias จึงได้เผยแพร่ผลงานฉบับสะท้านโลกนี้ ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 14 ตุลาคม ปี 2020

ทันทีที่ได้อ่านผลงานของ Dias นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันชื่อ Mikhail Eremets ก็กล่าวว่า ผลงานดูมีความ “น่าเชื่อถือ” แต่ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า Dias ยังไม่ได้วิเคราะห์โครงสร้างของผลึกที่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำ ส่วนนักวิจัยคนอื่น ๆ ได้คิดจะใช้ธาตุชนิดอื่นแทนธาตุ carbon และ sulfur โดยหวังว่าจะได้ตัวนำยวดยิ่งที่มีอุณหภูมิวิกฤตสูงมาก จนเป็นตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิห้อง และมีความเสถียรมาก คือ สามารถทรงสภาพได้ แม้ไม่มีความดันที่สูงมากมากระทำ และ Mikhail Eremets ยังได้พบว่า สารประกอบ hydrogen sulfide ที่เขาสังเคราะห์ได้ตั้งแต่ปี 2014 มีอุณหภูมิวิกฤตเท่ากับ -83 องศาเซลเซียส

เช่น นักวิจัยชื่อ Russell Hemley จากมหาวิทยาลัย George Washington ที่กรุง Washington DC. ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้สังเคราะห์สารประกอบ LaH10 (lanthanum decahydride) ที่มีโมเลกุลมีไฮโดรเจน 10 อะตอมซึ่งมากผิดปกติ จากนั้นก็ใช้ความดันที่มากประมาณสองล้านเท่าของความดันบรรยากาศโลกมากระทำ และพบว่าโมเลกุลมีการเปลี่ยนโครงสร้าง อีกทั้งมีอุณหภูมิวิกฤต เท่ากับ 7 องศาเซลเซียส และสารประกอบยังสามารถผลักสนามแม่เหล็กออกจากตัวมันได้ด้วย นี่คือ ปรากฏการณ์ Meissnerซึ่งเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการตัดสินว่า สารเป็นตัวนำยวดยิ่งจริงหรือไม่ นอกเหนือไปจากการต้องแสดงให้เห็นว่าสารมีความต้านทานไฟฟ้าเป็นศูนย์

ด้าน Dias เมื่อเติมธาตุ carbon ลงไปในสารประกอบที่มี hydrogen และ sulfur เป็นสารประกอบ carbon sulfur hydride (CSH) แล้วอ้างว่าสารที่ได้มีอุณหภูมิวิกฤตสูงถึง 287 K ทำให้นักทดลองคนอื่น ๆ พยายามทำตามขั้นตอนที่ Dias ได้แถลงไว้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะ Hirsch ยังได้พบอีกว่า เมื่ออุณหภูมิของสาร CSH ลด สภาพรับได้เชิงแม่เหล็กที่ Dias อ้างว่าเป็นศูนย์ กลับไม่เป็นศูนย์อีกต่อไป คือจะเพิ่มขึ้น Hirsch ยังอ้างอีกว่าสภาพรับได้เชิงแม่เหล็กของสาร CSH ที่ Dias นำเสนอมีอะไรหลายส่วนคล้ายกับผลงานเรื่องเดียวกันนี้ที่ James Hamlin จากมหาวิทยาลัย Florida ในประเทศสหรัฐอเมริกา เคยตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Physical Review Letters เมื่อปี 2009 ด้วย แต่ Hamlin ใช้ธาตุ europium แทน carbon
ข้อสังเกตนี้ ได้รับการยืนยันโดย James Schilling จากมหาวิทยาลัย Washington ที่เมือง St. Louis ว่า กราฟของ Dias กับของ Hamlin ดูคล้ายกันมาก ทำให้ดูเสมือนว่า Dias ได้ขโมยกราฟของ Hamlin มาใช้ โดยมิได้บอกเจ้าของ

เมื่อถูกรุกฆาต Dias จึงประกาศตอบทุกคนที่มาขอข้อมูลดิบของเขาว่า เขาไม่สามารถจะให้ได้ เพราะเขากำลังขอจดทะเบียนลิขสิทธิ์ของผลงานสะท้านโลกนี้อยู่ และที่ปรึกษากฎหมายของเขาก็ได้เสนอแนะว่า ไม่ควรให้ข้อมูลการทดลองแก่นักวิจัยคนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ Hirsch ซึ่งได้ติดตามวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของ Dias อย่างรุนแรงตลอดเวลาที่ผ่านมา
ด้าน Alexander Goncharov จากสถาบัน Carnegie Institution for Science ที่ Washington DC. ก็ได้กล่าวว่า Dias ควรชี้แจงและอธิบายข้อกล่าวหาต่าง ๆ ให้ทุกคนเห็นและเข้าใจ แต่ Dias ก็ยังยืนยันว่า คงไม่เป็นผลใด ๆ เพราะ Hirsch เป็นคนที่มีทัศนคติเป็นลบกับนักทดลอง

ในรายงานฉบับที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ arXiv เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมานี้ Goncharov ได้รายงานการสังเคราะห์สาร CSH ภายใต้ความดันสูง โดยใช้กระบวนการที่แตกต่างไปจากวิธีการของ Dias และพบว่าผลึกที่ได้มีลักษณะคล้ายกับของ Dias แต่เขายังไม่ได้ทดสอบสมบัติสภาพนำยวดยิ่งของสารที่ได้

ด้าน Vasily Minkov จากสถาบัน Max Planck Institute for Chemistry ที่เมือง Mainz ในประเทศเยอรมนี ก็ได้แถลงว่าสาร CSH ที่เขาสังเคราะห์ได้มิได้เป็นตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิห้อง แต่ก็มีอุณหภูมิวิกฤตสูงกว่าอุณหภูมิวิกฤตของ H3S ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ธาตุ carbon ที่ Dias ใช้ไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อการเกิดสภาพนำยวดยิ่ง และในวารสาร Research Square ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมปีนี้ Minkov ก็ได้รายงานว่า สารประกอบ hydride H3S กับ LaH10 เป็นตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูงจริง
แต่ Hirsch ก็ยังไม่เห็นด้วยกับคำอ้างนี้ และอ้างว่าการวิเคราะห์ผลการทดลองของ Minkov ไม่ถูกต้อง

จริงเป็นว่า ขณะนี้โลกมีสองฝ่าย คือ ทั้งที่โต้แย้งและที่สนับสนุน ว่าสารประกอบ Carbonaceous Sulfur Hydride เป็นตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิห้องได้

อ่านเพิ่มเติมจาก Communication Importance of Carbonaceous Sulfur Hydride room-temperature superconductor โดย X.H. Zheng ใน ScienceDirect.com ปี 2021


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น