องค์การอนามัยโลกในวันพุธ(27ต.ค.) เผยกำลังจับตาใกล้ชิดสายพันธุ์ย่อยหนึ่งของตัวกลายพันธุ์เดลตาที่เรียกว่าเดลตาพลัส AY.4.2 เพื่อหาข้อสรุปว่ามันแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือไม่ ในขณะที่เคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
นอกจากพยายามหาข้อสรุปข้างต้น องค์การอนามัยโลกจะตรวจสอบศึกษาด้วยว่าสายพันธุ์ย่อย AY.4.2 สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานได้ดีกว่าหรือไม่ ในขณะที่มันถูกตรวจพบแล้วอย่างน้อย 42 ประเทศทั่วโลก
"สายพันธุ์ย่อย AY.4.2 ถูกพบเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฏาคม" องค์การอนามัยโลกระบุในรายงานอัพเดทด้านระบาดวิทยารายสัปดาห์ "กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาด้านระบาดวิทยาและห้องปฏิบัติการ เพื่อดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการแพร่กระจายเชื้อของตัวกลายพันธุ์หรือไม่ หรือมันลดประสิทธิภาพแอนติบอดีของมนุษย์สำหรับสกัดกั้นไวรัสหรือไม่" องค์การอนามัยโลกระบุ
สายพันธุ์ย่อยนี้มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม 3 จุดเมื่อเปรียบเทียบกับตัวกลายพันธุ์ดั้งเดิมของเดลตา ในนั้นรวมถึง 2 จุดบริเวณโปรตีนตรงส่วนหนาม (spike protein) ส่วนของไวรัสที่ปักเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย
จากข้อมูลของ GISAID โครงการริเริ่มเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลด้านผลของเชื้อไวรัสโคโรนาและเชื้อไข้หวัดใหญ่ พบว่าราว 93% ของเคสสายพันธุ์ย่อย AY.4.2 ที่ตรวจพบ อยู่ในสหราชอาณาจักร และสายพันธุ์ย่อยนี้คิดเป็นราวๆ 5.9% ของเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตาทั้งหมดในสหราชอาณาจักร ในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 3 ตุลาคมถึง 10 ตุลาคม
องค์การอนามัยโลกระบุว่าในบรรดาผู้ติดเชื้อทั้งหมด พบบุคคลอายุต่ำกว่า 25 ปีติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฏาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก
สันนิษฐานว่าที่ข้อมูลออกมาเช่นนี้ อาจเกิดจากคนสูงวัยส่วนใหญ่น่าจะฉีดวัคซีนแล้ว หรือไม่คนหนุ่มสาวก็มีการพบปะทางสังคมมากกว่า นอกจากนี้แล้วยังมีความเป็นไปได้ที่ไวรัสจะวนเวียนอยู่ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ เนื่องจากเด็กจำนวนมากได้กลับสู่ชั้นเรียน
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าในบรรดาบุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป อัตราการเสียชีวิตจจากโควิด-19 ลดลงอย่างมากมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 สันนิษฐานว่าคนกลุ่มอายุนี้ได้รับการปกป้องจากวัคซีน เช่นเดียวกับการดูแลทางคลินิกที่ดีขึ้น
องค์การอนามัยโลกระบุว่าจนถึงตอนนี้มีประชากรโลกราว 47% ที่ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 เข็ม
(ที่มา:เอเอฟพี/mgronline)