บลู ออริจิน บริษัทจรวดและท่องเที่ยวอากาศที่ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีเจฟฟ์ เบซอส มีแผนสร้างสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งใหม่ ที่มีชื่อว่า "Orbital Reef" ซึ่งอาจใช้เป็นฐานสำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆนานา เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นไปได้แม้กระทั่งใช้เป็นฐานการผลิตในอวกาศ
บริษัทแห่งนี้มีแผนจับมือกับธุรกิจสตาร์ทอัพ "เซียร์รา สเปซ" ในการนำพาโครงการสถานีอวกาศแห่งนี้ไปสู่เป้าหมาย และโบอิ้งมีแผนออกแบบโมดุลวิจัยแห่งหนึ่งบนสถานีอวกาศดังกล่าว แม้ยังไม่มีอะไรการันตีว่าทั้งสองบริษัทจะประสบความสำเร็จในการสร้างสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ก็ตาม
ปัจจุบันโครงการลักษณะนี้ยังคงมีต้นทุนที่แพงมากและมีความเสี่ยงสูง คาดหมายว่าจะต้องบใช้เงินสูงหลายหมื่นล้านดอลลาร์ และจำเป็นต้องทำการทดสอบด้านความปลอดภัยหลายครั้ง ก่อนมนุษย์คนแรกจะมีโอกาสล่องลอยอยู่บนสถานีอากาศเชิงพาณิชย์
บลู ออริจิน และ เซียร์รา สเปซ มีแผนออกทุนร่วมกันในการสร้างสถานีอวกาศ แต่บรรดาผู้บริหารปฏิเสธให้ตัวเลขประมาณการต้นทุนทั้งหมดของโครงการระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์(25ต.ค.) นอกจากนี้แล้วพวกเขาคาดหมายด้วยว่าจะมีการลงนามกับนาซาในฐานะผู้เช่าหลัก แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าลักษณะของความเป็นหุ้นส่วนนี้จะออกมาในรูปแบบใด
นาซาเปิดรับเสียงเรียกร้องที่เสนอให้มีสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ หลังจากสถานีอวกาศนานาชาติอายุ 20 ปี ซึ่งเคยต้อนรับมนุษย์อวกาศมืออาชีพจากทั้งสหรัฐฯ รัสเซียและประเทศอื่นๆมากกว่า 100 ชาติ กำลังใกล้ปลดระวาง ขณะที่บริษัทอื่นๆอีกหลายบริษัท ในนั้นรวมถึง นาโนแร็คส์ สตาร์ทอัพในเท็กซัส และ แอคเซีย ก็มีข้อเสนอแบบเดียวกัน
บลู ออริจิน แสดงความหวังว่า Orbital Reef จะเข้าสู่ประจำการในช่วงปลายทศวรรษ 2020 แม้พวกเขาเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้สำเร็จเร็วกว่านั้น
จนถึงตอนนี้ทางบริษัทเพิ่งทดสอบเที่ยวบินเพียงแบบ Sub-orbital(แบบที่บินขึ้นไปในทางตรงและไม่ได้มีการโคจร) แบบเดียวกับตอนที่ นาซา ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษ 1960 และพวกเขายังไม่ได้ส่งยานอากาศขึ้สู่วงโครจรด้วยซ้ำ ดังนั้นเป้าหมายการสร้างสถานีอากาศเชิงพาณิชย์จึงจะเป็นย่างก้าวที่ก้าวกระโดดอย่างมาก
จรวด New Glenn ที่สร้างโดยบลู ออริจิน ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะทรงพลังมากและใหญ่พอที่จะลากส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสถานีอวกาศขึ้นสู่วงโคจร ยังไม่เข้าสู่ปฏิบัติการ และเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของมันเมื่อเร็วๆนี้ ถูกเลื่อนออกไปถึงช่วงปลายปี 2022 เป็นอย่างน้อย
นอกจากนี้แล้วยานอวกาศที่จะถูกใช้ลำเลียงผู้คนเข้าและออกจากสถานีอวกาศยังอยู่ในขั้นของการพัฒนาเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Starliner ของโบอิ้ง ซึ่งประสบปัญหาหยุดชะงักต่างๆนานาและจะไม่มีเที่ยวบินทดสอบที่สำคัญยิ่งจนกว่าจะถึงช่วงกลางปี 2022 เป็นอย่างช้า
ทั้งนี้ Orbital Reef จะสามารถต้อนรับมนุษย์อวกาศได้สูงสุด 10 คนและมีปริมาตรภายในพอๆกับสถานีอวกาศนานาชาติ(ISS)
มีบริษัทอื่นๆอีกหลายบริษัทที่เกี่ยวข้องในคำแถลงเปิดตัว Orbital Reef ในวันจันทร์(25ต.ค.) โดยถูกกล่าวถึงเกี่ยวกับแผนใช้งานสถานีอวกาศแห่งนี้ สำหรับธุรกิจในอวกาศต่างๆนานาและผลิตภัณฑ์ต่างๆที่พวกเขากำลังพัฒนา
บริษัทแห่งหนึ่งชื่อว่า Redwire กำลังหาทางผลิตในอวกาศในรูปแบบของ การพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งวันหนึ่งข้างหน้าอาจช่วยให้พวกเขาผลิตสินค้าใหม่ๆในอวกาศได้ง่ายขึ้น แทนที่จะต้องผ่านกระบวนการที่ยากลำบากและมีต้นทุนแสนแพง สำหรับผลิตสินค้าบนโลกแล้วนำมันส่งขึ้นไปบนอวกาศ
นอกจากนี้แล้วบริษัทต่างๆจากทั่วทุกมุมโลก ในภาคอุตสาหกรรมทั้งหลายไล่ตั้งแต่บริษัทเภสัชกรรมไปจนถึงวัสดุศาสตร์ ยังสามารถใช้สถานีอวกาศแห่งนี้ดำเนินการวิจัยในสภาวะไร้น้ำหนัก แบบเดียวกับที่ทำบนสถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบัน
(ที่มา:ซีเอ็นเอ็น)