เจ้าหน้าที่ไต้หวันและสหรัฐฯ หารือกันเกี่ยวกับแนวทางที่ไต้หวัน จะสามารถเข้าร่วมสหประชาชาติ "อย่างมีนัยสำคัญ" ได้อย่างไร ความเคลื่อนไหวซึ่งมีขึ้นไม่กี่วันก่อนที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะกล่าวสุนทรพจน์ในวาระครบรอบ 50 ปี ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหประชาชาติ
ไต้หวัน หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ "สาธารณรัฐจีน" เป็นสมาชิกทางการของสหประชาชาติจนกระทั่งถึงวันที่ 25 ตุลาคม ปี 1971 ก่อนที่ประเทศสมาชิกยูเอ็นได้ลงมติให้ถูกแทนที่โดย "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ซึ่งชนะสงครามเมื่อปี 1949 และขับไล่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนออกนอกประเทศ และหนีไปยังเกาะไต้หวัน
จีนบอกว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของตนเอง ดังนั้น พวกเขาจึงมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการเป็นตัวแทนของไต้หวันบนเวทีนานาชาติ แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในไทเป บอกว่าสิทธิดังกล่าวนั้นเป็นของพวกเขา
ในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ในช่วงค่ำวันเสาร์ (23 ต.ค.) กระทรวงการต่างประเทศอเมริการะบุว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และไต้หวันได้ประชุมทางไกลในวันศุกร์ (22 ต.ค.) "สำหรับหารือมุ่งเน้นสนับสนุนศักยภาพของไต้หวันในการเข้าร่วมสหประชาชาติอย่างมีนัยสำคัญ"
"การมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ เป็นการตอกย้ำพันธกิจของสหรัฐฯ สำหรับให้ไต้หวันเข้าร่วมอย่างมีนัยสำคัญในองค์การอนามัยโลก และการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และมีการหารือกันในแนวทางต่างๆ เพื่อเน้นย้ำศักยภาพของไต้หวันที่สามารถสนับสนุนความพยายามต่างๆ ในหลากหลายประเด็น" ถ้อยแถลงระบุ
กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันกล่าวขอบคุณสหรัฐฯ สำหรับแรงสนับสนุนที่หนักแน่นของพวกเขา
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ ประธานาธิบดีสี มีกำหนดกล่าวกล่าวสุนทรพจน์ในวันจันทร์ (25 ต.ค.) ในโอกาสครบรอบ 50 ปีเหตุการณ์ที่จีนเรียกว่าการกลับคืนสู่สหประชาชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ที่ผ่านมา ไต้หวันเคยแสดงความขุ่นเคืองโดยเฉพาะต่อกรณีที่พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงองค์การอนามัยโลกอย่างเต็มรูปแบบระหว่างวิกฤตโรคระบาดใหญ่โควิด-19 แม้ทั้งจีนและองค์การอนามัยโลกจะบอกว่าเกาะแห่งนี้ได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นแล้ว
จีนยกระดับกดดันทั้งทางการเมืองและทางทหาร บีบให้ไต้หวันยอมรับอำนาจอธิปไตยของจีน อย่างไรก็ตาม ไต้หวันประกาศกร้าวว่าพวกเขาเป็นประเทศเอกราช และจะปกป้องตนเองถ้าถูกจีนโจมตี
(ที่มา : รอยเตอร์)