xs
xsm
sm
md
lg

ท้าชนไบเดน! ‘เทกซัส’ สั่งห้ามทุกบริษัท-องค์กร ‘บังคับ’ ลูกจ้างฉีดวัคซีนโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เกร็ก แอบบ็อตต์ ผู้ว่าการรัฐเทกซัส
เกร็ก แอบบ็อตต์ ผู้ว่าการรัฐเทกซัส มีคำสั่งห้ามไม่ให้บริษัทเอกชนหรือองค์กรต่างๆ ภายในรัฐออกกฎบังคับให้ลูกจ้างต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในความเคลื่อนไหวที่ถือเป็นการท้าทายนโยบายส่งเสริมการฉีดวัคซีนของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน

เดือนที่แล้ว ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องให้ภาคธุรกิจทั่วประเทศออกกฎบังคับให้ลูกจ้างต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งปรากฏว่า นโยบายนี้ทำให้มีพนักงานในสหรัฐฯ ถูกเลิกจ้างไปแล้วหลายพันคน

“อีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต วันนี้รัฐบาลไบเดนกำลังบูลลี่บริษัทเอกชนให้ต้องบังคับพนักงานฉีดวัคซีนโควิด-19 จนก่อให้เกิดความติดขัดในด้านแรงงาน ซึ่งอาจกระทบถึงความต่อเนื่องในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเทกซัส” แอบบ็อตต์ ซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกัน ระบุในหนังสือคำสั่ง

ล่าสุด ทำเนียบขาวยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้

แอบบ็อตต์ ย้ำในคำสั่งของเขาว่า จะต้องไม่มีหน่วยงานหรืองค์กรใดในเทกซัสเรียกร้องให้บุคคลต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือลูกค้าที่มาใช้บริการก็ตาม

ก่อนหน้านี้ สองบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างเฟซบุ๊ก และกูเกิล ในเครืออัลฟาเบ็ทอิงค์ ต่างออกกฎให้พนักงานต้องแสดงหลักฐานยืนยันการฉีดวัคซีนก่อนกลับเข้าทำงาน ซึ่งทั้ง 2 บริษัทมีการว่าจ้างแรงงานจำนวนมากในเทกซัส

อเมริกันแอร์ไลน์ส สายการบินใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งมีฐานอยู่ที่เมืองฟอร์ตเวิร์ธ (Fort Worth) ก็เพิ่งมีคำสั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้ลูกจ้าง 100,000 คนในสหรัฐฯ ส่งหลักฐานยืนยันการฉีดวัคซีนครบโดสภายในวันที่ 24 พ.ย. มิเช่นนั้นก็จะถูกเลิกจ้าง ขณะที่ยูไนเต็ดแอร์ไลน์สก็ออกกฎบังคับพนักงาน 60,000 คนฉีดวัคซีนเช่นกัน และในจำนวนนี้เป็นพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในรัฐเทกซัสถึงราวๆ 9,000 คน

มาตรการเหล่านี้สะท้อนความพยายามของรัฐบาลไบเดน ที่จะควบคุมการระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้คร่าชีวิตชาวอเมริกันไปแล้วมากกว่า 700,000 คน และในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็เริ่มมีนักการเมืองหลายคนออกมาร่วมกดดันพลเมืองที่ยังไม่ยอมฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายบังคับให้ประชาชนต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนนั้นยังเป็นที่ถกเถียงอย่างมาก โดยชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยมองว่านโยบายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการใช้อำนาจเผด็จการ ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่านี่คือสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้สหรัฐอเมริกาผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาด และกลับคืนสู่สภาวะปกติ

ที่มา : รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น