ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) เผยสหรัฐฯ เตรียมเปิดรับผู้เดินทางจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งผ่านการอนุมัติรับรองโดยหน่วยงานของสหรัฐฯ หรือองค์การอนามัยโลก (WHO) ครบโดส
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ทำเนียบขาวได้ประกาศว่า ภายในเดือน พ.ย.นี้ สหรัฐฯ จะเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดสำหรับผู้ที่เดินทางทางอากาศจาก 33 ประเทศ ซึ่งรวมถึงจีน อินเดีย บราซิล และเกือบทุกประเทศในยุโรป โดยจะต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดส ทว่าไม่ได้ระบุชัดเจนว่าหมายถึงวัคซีนยี่ห้ออะไรบ้าง
ล่าสุด มีคำยืนยันจากโฆษก CDC วานนี้ (8) ว่า “วัคซีน 6 ตัวที่ผ่านการอนุมัติรับรองโดย FDA หรือที่ได้รับอนุญาตใช้งานฉุกเฉินโดย WHO ถือว่าเข้าเกณฑ์ที่จะสามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้”
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา CDC ได้แจ้งไปยังสายการบินต่างๆ ว่าวัคซีนชนิดใดบ้างที่ได้รับการยอมรับ และจะชี้แจงแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อให้สายการบินได้เตรียมความพร้อมต่อไป
Airlines for America ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนสายการบินหลักของสหรัฐฯ เช่น อเมริกันแอร์ไลน์ส เดลตาแอร์ไลน์ส ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ส และอื่นๆ ระบุว่า รู้สึกพึงพอใจที่ CDC จัดทำรายชื่อวัคซีนที่ได้รับอนุญาตสำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าสหรัฐฯ และทางสายการบินพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่
หลายประเทศพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดรับผู้เดินทางที่ฉีดวัคซีนซึ่ง WHO อนุมัติ เนื่องจากวัคซีนที่ FDA รับรองนั้นยังไม่มีใช้อย่างแพร่หลายในทุกประเทศ
ทั้งนี้ สหรัฐฯ จะเริ่มเปิดรับผู้เดินทางที่ฉีดวัคซีนครบจาก 26 ประเทศยุโรปในกลุ่มเชงเก้น รวมถึงอังกฤษ ไอร์แลนด์ จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ อิหร่าน และบราซิล จากเดิมที่เคยห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติเกือบทั้งหมดที่เคยพำนักอยู่ในประเทศเหล่านี้ในระยะ 14 วันเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา
ข้อกำหนดเรื่องวัคซีนใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้กับชาวต่างชาติเกือบทั้งหมดที่เดินทางทางเข้าสหรัฐฯ รวมถึงกลุ่มที่ไม่เคยเผชิญข้อจำกัดใดๆ มาก่อน
CDC ยังต้องจัดทำกฎระเบียบว่าด้วยการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้เดินทางจากต่างประเทศ รวมถึงข้อยกเว้นสำหรับผู้เดินทางบางกลุ่ม เช่น เด็กซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตให้ฉีดวัคซีน ผู้เดินทางจากบางประเทศที่การกระจายวัคซีนยังต่ำ ผู้ที่เข้าร่วมการทดลองวัคซีน หรือผู้ที่เพิ่งจะหายจากโควิด-19 และยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้
สำหรับวัคซีนที่ WHO อนุญาตใช้งานในกรณีฉุกเฉินมีอยู่ทั้งหมด 7 ตัวในขณะนี้ ได้แก่ วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิชิลด์ (แอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย), จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, โมเดอร์นา, ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม
ที่มา : รอยเตอร์