พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ แถลงต่อคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภา ยอมรับต่อสายคุยกับนายทหารใหญ่จีนจริง แต่ไม่ใช่เรื่องลับอะไรและเป็นหน้าที่ในการปกป้องเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ ส่วนประเด็นอัฟกานิสถาน เขายืนยันว่า แนะให้ไบเดนคงทหารอเมริกันไว้ 2,500 นาย ด้านทรัมป์เหน็บซ้ำการถอนทหารจากอัฟกานิสถานถือเป็น “หายนะ”
ระหว่างให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (28) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ ซึ่งเป็นนายทหารตำแหน่งสูงสุดและอาวุโสที่สุดของกองทัพสหรัฐฯ ยอมรับว่า พูดคุยกับบ็อบ วูดเวิร์ด นักเขียนของวอชิงตัน โพสต์ ที่เพิ่งออกหนังสือเล่มใหม่ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องที่มิลลีย์ โทร.คุยกับ พล.อ.หลี่ จั้วเฉิง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับเดียวกับเขาของกองทัพปลดแอกประชาชนของจีน อย่างลับๆ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ปีที่แล้ว และ 8 ม.ค. ปีนี้ พร้อมให้สัญญาว่า จะเตือนปักกิ่งก่อนถ้าได้รับคำสั่งให้โจมตี
มิลลีย์ ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความจริงแต่ไม่ได้เป็นความลับ เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ หลายคนที่รับรู้ อีกทั้งยังเป็นการทำตามคำแนะนำของผู้ช่วยระดับสูงบางคนของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ยอมรับว่า พยายามสื่อสารเพื่อยืนยันว่า อเมริกาไม่คิดโจมตีจีน หลังจากได้รับข้อมูลข่าวกรองบ่งชี้ว่า ปักกิ่งกลัวว่า จะถูกโจมตี
ด้าน แดน ซัลลิแวน วุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกัน พูดเป็นนัยว่า มิลลีย์ คงถูกประหารถ้าทำพฤติกรรมแบบนี้ในจีน
กระนั้น มิลลีย์ ยืนยันว่า การกระทำดังกล่าวเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งในการรับประกันเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ แม้เขามั่นใจว่า ทรัมป์ไม่มีเจตนาโจมตีจีนก็ตาม
หลังได้รับรู้แถลงการณ์นี้ ทรัมป์ที่เคยเดือดดาลและโจมตีว่า มิลลีย์ควรถูกปลดถ้าเรื่องโทรศัพท์คุยกับฝ่ายจีนเป็นความจริง ออกมาเยาะเย้ยทันทีว่า ไม่ต้องสงสัยว่า การถอนทหารจากอัฟกานิสถานเป็นหายนะ และมิลลีย์ใช้เวลาตลอดชีวิตอยู่กับนักเขียนหนังสือปลอมเหล่านั้น
ทว่า ส.ว.แองกัส คิง สมาชิกของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ที่เป็นวุฒิสมาชิกอิสระไม่ได้สังกัดพรรค แต่เข้าร่วมประชุมกำหนดนโยบายกับทางเดโมแครต ได้กล่าวยกย่อง มิลลีย์ ว่า ทำหน้าที่เพื่อชาติ ขณะที่ ส.ว.แจ็ค รีด ประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้จากพรรคเดโมแครต สำทับว่า การบรรเทาสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศเป็นหน้าที่ของมิลลีย์
ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมยังยอมรับว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ได้หารือกับแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครต ซึ่งวอชิงตัน โพสต์รายงานโดยอ้างอิงบันทึกการพูดคุยโทรศัพท์ว่า เปโลซีถามมิลลีย์ว่า มีมาตรการป้องกันไม่ให้ “ประธานาธิบดีที่เอาแน่เอานอนไม่ได้” เปิดการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่
มิลลีย์แถลงต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า เปโลซีถามว่า การกระทำของทรัมป์อาจนำไปสู่การเปิดการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์โดยไม่เจตนาได้หรือไม่ ซึ่งเขาตอบว่า เขาไม่สามารถตัดสินภาวะสุขภาพจิตของประธานาธิบดีได้ และย้ำว่า ไม่เคยพยายามเปลี่ยนแปลงหรือโน้มน้าวกระบวนการใดๆ ช่วงชิงอำนาจ หรือแทรกแซงสายการบังคับบัญชา
ทั้งนี้ หลังจากสื่อรายงานข่าวเรื่องนี้โดยอ้างอิงหนังสือของวูดเวิร์ดแล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกมาสนับสนุน โดยแสดงความ “เชื่อมั่นเต็มเปี่ยม” ในตัวมิลลีย์
นอกจากประเด็นนี้แล้ว มิลลีย์ ตลอดจนถึง พล.อ.เคนเนธ แมคเคนซี ผู้บัญชาการกองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (US CENTCOM) และลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม ยังถูกคณะกรรมาธิการชุดนี้ซักไซ้นานเกือบ 6 ชั่วโมง กรณีการถอนทหารจากอัฟกานิสถานและการอพยพสุดโกลาหลจากสนามบินคาบูล ซึ่งมิลลีย์ และแมคเคนซี เผยว่า ได้แนะนำเป็นการส่วนตัวให้ไบเดนคงทหารอเมริกัน 2,500 นายไว้ในประเทศดังกล่าว
ในเวลาต่อมา เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว แถลงว่า ไบเดนได้รับคำแนะนำต่างๆ มากมายเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำสำหรับอัฟกานิสถาน ซึ่งอเมริกาบุกโจมตีหลังเหตุวินาศกรรม 911 ที่กลุ่มอัล-กออิดะห์โจมตีนิวยอร์กและวอชิงตัน ทว่า ที่สุดแล้วไบเดนในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่จะยุติสงครามที่ยืดเยื้อมานาน 20 ปี
มิลลีย์สำทับว่า ตอลิบานยังคงถือเป็นกลุ่มก่อการร้าย อีกทั้งยังไม่ตัดขาดจากอัล-กออิดะห์ และคงต้องรอดูต่อไปว่า ตอลิบานจะกุมอำนาจได้หรือไม่ หรือว่าอัฟกานิสถานจะแตกเป็นเสี่ยงและเข้าสู่สงครามกลางเมือง นอกจากนั้น อเมริกายังต้องปกป้องพลเมืองจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายจากอัฟกานิสถาน
ด้านออสติน กล่าวว่า อเมริกาไม่เข้าใจปัญหาการคอร์รัปชันและภาวะผู้นำไร้ประสิทธิภาพที่หยั่งรากลึกในกองทัพอัฟกานิสถานอย่างแท้จริง และประหลาดใจมากที่กองทัพอัฟกันที่อเมริกาและพันธมิตรช่วยกันฝึก กลับยอมจำนนอย่างง่ายดายโดยไม่เริ่มต่อสู้ด้วยซ้ำในบางสถานการณ์
นายใหญ่เพนตากอนเสริมว่า อเมริกาจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และทักษะในการใช้ให้พร้อมสรรพ แต่สิ่งที่กองทัพอัฟกันขาดไปคือ ความต้องการชัยชนะ
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)