ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในนิวยอร์ก จะปิดฉากลงในวันจันทร์(27ก.ย.) แต่ปราศจากการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ของ 2 กลุ่มที่อยู่ในอำนาจในอัฟกานิสถานและพม่า หนึ่งในหลายเรื่องแปลกของเวทีมาราธอนทางการทูตในปีนี้ ที่พบเห็นพวกผู้นำโลกมากกว่า 100 คน ไม่หวั่นเกรงต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เดินทางมาร่วมประชุมแบบพบหน้ากันด้วยตนเอง
คาดหมายว่าผู้แทนอดีตรัฐบาลอัฟกานิสถานประจำสหประชาชาติจะขัดขืนตอลิบาน ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในวันจันทร์(27ก.ย.) หลังจากทางกลุ่มส่งคำร้องขออนุญาตให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรายใหม่ของพวกเขาขึ้นกล่าวสุนทรพจน์แทน
ตอลิบาน เขียนหนังสือถึง อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว ขออนุญาตให้ อามีร์ ข่าน มุตตากี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพวกเขาเข้าร่วมประชุม
ในหนังสือระบุว่า กูลาม ไอแซคซาอี ผู้แทนทูตของอัฟกานิสถานประจำสหประชาชาติภายใต้รัฐบาลของอัชราฟ ฟานี ที่ถูกโค่นอำนาจเมื่อเดือนที่แล้ว "ไม่ได้เป็นตัวแทนของอัฟกานิสถาน ณ สหประชาชาติ อีกต่อไป"
เดิมทีคำร้องขอมีกำหนดเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ รัสเซียและจีน แต่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติเปิดเผยกับเอเอฟพีว่า ท้ายที่สุดแล้วการประชุมดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น
ผู้แทนทูตรายหนึ่งเปิดเผยว่าตอลิบานส่งคำขอมาช้าเกินไป เปิดทางให้ ไอแซคซาอี ซึ่งสหประชาชาติยังคงรับรองเขาในฐานะตัวแทนของอัฟกานิสถาน ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ตามเดิม
ทั้งนี้คาดหมายว่าหาก ไอแซคซาอี ได้รับโอกาสขึ้นพูด เขาน่าจะเรียกร้องประชาคมนานาชาติยกระดับคว่ำบาตรตอลิบาน แบบเดียวกับที่เขาเคยร้องขอระหว่างการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 กันยายน
เดิมทีสัปดาห์แห่งการปราศรัยมีกำหนดเปิดฉากด้วยอัฟกานิสถาน พม่าและกินี แต่สถานการณ์ของ 2 ประเทศหลัง โหมกระพือความปั่นป่วนยิ่งขึ้นจนถึงวันสุดท้าย
นักการทูตระดับสูงของสหประชาชาติรายหนึ่งเปิดเผยกับเอเอฟพีว่า สหรัฐฯ จีนและรัสเซีย บรรลุข้อตกลงกันห้ามเอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ เนื่องจากเขาเป็นผู้สนับสนุนตัวยงของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยพม่าและเพิกเฉยคำสั่งให้ลาออกจากคณะรัฐประหาร
จอ โม ตุน เอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ ซึ่งได้รับเลือกจากอองซาน ซูจี อดีตผู้นำ ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาคมนานาชาติและยังคงครองเก้าอี้ในสหประชาชาติ ตามหลังกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
ในเดือนพฤษภาคม คณะรัฐประหารแต่งตั้งอดีตนายพลรายหนึ่งเข้ามาทำหน้าที่แทนเขา แต่สหประชาชาติยังไม่ได้อนุมัติการแต่งตั้งดังกล่าว
เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม มีรายงานข่าวเกี่ยวกับแผนการบีบให้ จอ โม ตุน ลาออกจากตำแหน่งหรือลอบสังหารหากว่าเขาปฏิเสธ แต่รายงานข่าวดังกล่าวระบุว่าแผนนี้ถูกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯสกัดเอาไว้ได้
จอ โม ตุน เปิดเผยกับเอเอฟพีว่าเขามีแผนเข้าร่วมที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติแบบเงียบๆ
(ที่มา:เอเอฟพี)