โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯบอกกับโลกในวันอังคาร(21ก.ย.) ว่าอเมริกาไม่ได้กำลังแสวงหาทำสงครามเย็นรอบใหม่กับจีน พร้อมประกาศหมุนแกนจากความขัดแย้งต่างๆในยุคหลังเหเตุการณ์ 9/11 สู่บทบาทผู้นำโลกในวิกฤตการณ์ต่างๆนานา ไล่ตั้งแต่โลกร้อนไปจนถึงโควิด-19
ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ไบเดนให้สัญญาจะทำงานเพื่อประชาธิปไตยก้าวหน้าและร่วมมือกับพันธมิตรทั้งหลาย แม้เพิ่งเกิดปัญหาไม่ลองรอยกับยุโรป ต่อกรณีที่สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร จับมือตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหาร นำมาซึ่งการที่แคนเบอร์ราขอยกเลิกสัญญาสั่งซื้อเรือดำน้ำมูลค่ามหาศาลกับบริษัทฝรั่งเศส
รัฐบาลของไบเดนระบุว่าอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆและความเป็นเผด็จการของจีน คือความท้าทายใหญ่หลวงแห่งศตวรรษที่ 21 แต่ในการเปิดตัว ณ เวทีสหประชาชาติเป็นครั้งแรก ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าเขาไม่พยายามหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความแตกแยก
"เราไม่ได้กำลังแสวงหาสงครามเย็น หรือแบ่งแยกโลกเป็นกลุ่มก้อนตายตัว" ไบเดนกล่าว "สหรัฐฯพร้อมทำงานกับทุกประเทศ ที่ยกระดับและแสวงหาทางออกอย่างสันติวิธีต่อความท้าทายร่วมต่างๆนานา แม้เรามีความเห็นต่างกันอย่างรุนแรงในประเด็นอื่นๆ"
ไบเดน ไม่ได้เอ่ยชื่อจีนโดยตรง นอกหนือไปจากการส่งเสียงแสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ดินแดนที่่พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่าชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่นๆมากกว่า 1 ล้านคน ถูกคุมขัง
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน มีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หลังจากนี้ในวันเดียวกัน แต่เป็นการกล่าวผ่านวิดีโอ ส่วนหนึ่งในมาตรการป้องกันโควิด-19
ไบเดน ประกาศตนเองว่าเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนแรกในรอบ 20 ปี ที่ไม่ทำสงคราม หลังจากถอนกำลังทหารอเมริกาออกจากอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวดังกล่าวกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง เนื่องด้วยมันเปิดทางให้พวกตอลิบานเข้าควบคุมอำนาจอย่างรวดเร็ว
ผูู้นำสหรัฐฯบอกว่าแทนที่จะทำสงคราม "อเมริกากำลังเปิดยุคใหม่แห่งการทูตที่ไม่ผ่อนปรน" ซึ่งแสนยานุภาพด้านการทหารจะถูกใช้ในฐานะเป็นทางเลือกสุดท้าย
"ภารกิจต้องชัดเจนและประสบความสำเร็จ ดำเนินการภายใต้การแจ้งขอความยินยอมจากประชาชนอเมริกา และถ้าเป็นไปได้ ก็จะดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรของเรา" ไบเดนกล่าว
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ กล่าวเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เตือนเกี่ยวกับความแตกแยกที่ขยายวงกว้างขึ้นระหว่างสหรัฐฯกับจีน พร้อมเรียกร้องทั้งสองฝ่ายหันหน้าเจรจา
"ผมเกรงว่าโลกของเรากำลังคลานเข้าสู่ชุดความแตกต่างสองชุด ในด้านกฎระเบียบเศรษฐกิจ การค้า การเงินและเทคโนโลยี สองแนวทางที่ต่างกันในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และท้ายที่สุดคือสองความเห็นต่างด้านยุทธศาสตร์ด้านการทหารและภูมิรัฐศาสตร์ นี่คือตำรับแห่งปัญหา และคาดเดาได้ว่ามันคงไม่น้อยไปกว่าสงครามเย็น"
ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมแบบเจอหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี แต่ภายใต้การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมและมาตรการป้องกันโรคระบาดใหญ่โควิด-19
มาตรการต่างๆเหล่านั้นรวมไปถึง เปลี่ยนไมโครโฟนใหม่ทันทีหลังผู้นำแต่ละท่านพูดจบ มาตรการซึ่งเป็นข่าวน่ายินดีสำหรับ ไบเดน วัย 78 ปี เนื่องจากเขาขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อจาก ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล ซึ่งขัดขืนกรอบคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนเข้าร่วมประชุม
ไบเดน จะจบสัปดาห์แห่งความวุ่นวายทางการทูต ด้วยการประชุม 4 ฝ่ายที่ทำเนียบขาว ร่วมกับผู้นำของออสเตรเลีย อินเดียและญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า "Quad" ซึ่งถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นแนวร่วมต่อต้านจีน
อย่างไรก็ตามความพยายามของไบเดน ในการหล่อหลอมพันธมิตร ต้องเผชิญขวางหนามสำคัญนั่นก็คือฝรั่งเศส
ปารีสเรียกเอกอัครราชทูตประจำวอชิงตันกลับประเทศ ด้วยความโกรธเคืองอย่างหนัก หลังออสเตรเลียยกเลิกสัญญาสั่งซื้อเรือดำน้ำมูลค่ามหาศาลกับบริษัทฝรั่งเศส แลัวหันไปหาเวอร์ชันนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งในการแถลงจัดตั้งพันธมิตรใหม่ร่วมกับวอชิงตันและลอนดอน
ฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส เผยว่าเขาจะไม่พบปะพูดคุยแบบต่อตัวต่อกับ แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในนิวยอร์ก และให้คำจำกัดความสโตล์การทูตของไบเดนว่า "โหดเหี้ยมอำมหิต"
ทำเนียบขาวแสดงความเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถทำให้ประเด็นพิพาทสงบลง ด้วย ไบเดน เตรียมต่อสายโทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในมาตรการป้องกันไว้ก่อนเกี่ยวกับโควิด-19
กระนั้น ไฮโค มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนี ส่งเสียงเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับฝรั่งเศส และตำหนิการตัดสินใจในเรื่องเรือดำน้ำว่า "น่าผิดหวัง"
(ที่มา:เอเอฟพี)