xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯUNวอนจีน-สหรัฐฯปรับความสัมพันธ์ ก่อนลุกลามเป็นสงครามเย็นแบ่งโลกเป็นสองขั้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส ตี “ระฆังสันติภาพ” ในพิธีซึ่งจัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งวันสันติภาพระหว่างประเทศ เมื่อวันศุกร์ (17 ก.ย.) ที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่ยูเอ็น ในนครนิวยอร์ก
เลขาธิการยูเอ็น วอนจีนกับอเมริกาเยียวยาความสัมพันธ์ที่ “ผิดปกติโดยสิ้นเชิง” ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายกลายเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่ที่ทำให้โลกแบ่งเป็นสองขั้วและอันตรายกว่าสงครามเย็นในอดีตระหว่างสหรัฐฯกับโซเวียต

ระหว่างการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพีช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า มหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกสองรายนี้ ควรร่วมมือกันในด้านภูมิอากาศ และเจรจากันอย่างแข็งขันยิ่งขึ้นในเรื่องการค้าและเทคโนโลยี ถึงแม้ทั้งสองยังคงมีรอยแตกร้าวทางการเมืองปรากฏให้เห็นโดยตลอดในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจ ความมั่นคงทางออนไลน์ และอธิปไตยในทะเลจีนใต้

“โชคร้ายที่ทุกวันนี้เรามีแต่การเผชิญหน้ากัน” กูเตียร์เรสให้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ (18 ก.ย.) ก่อนที่การประชุมประจำปีของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์นี้

“เราจำเป็นต้องสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจทั้งสองในแบบที่ทำงานกันได้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง” เขาบอก โดยชี้ว่า สิ่งนี้ “มีความจำเป็นสำหรับการแก้ไขคลี่คลายปัญหาของการฉีดวัคซีน ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และความท้าทายระดับโลกอย่างอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้เลย ถ้าหากปราศจากความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ภายในประชาคมระหว่างประเทศ และที่สำคัญแล้วคือในหมู่ชาติมหาอำนาจ”

เมื่อสองปีที่แล้ว กูเตียร์เรสเคยเตือนบรรดาผู้นำโลกถึงความเสี่ยงที่โลกจะแตกออกเป็นสองขั้ว โดยที่อเมริกาและจีนต่างกำลังสร้างทั้ง อินเทอร์เน็ต สกุลเงินตรา การค้า และกฎกติกาทางการเงินคนละชุดซึ่งแข่งขันกันเอง รวมทั้งวางยุทธศาสตร์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และการทหารของพวกเขาเองที่เป็นแบบใครชนะก็กินรวบไปคนเดียว

เขาย้ำคำเตือนดังกล่าวอีกครั้งระหว่างให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุดนี้ และเพิ่มเติมว่า ยุทธศาสตร์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และการทหาร 2 ชุดที่แข่งขันกันเช่นนี้ จะเป็นอันตรายและทำให้โลกแตกแยก ดังนั้น เขาบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้ง 2 ที่กำลังล้มครืนลงนี้ จะต้องได้รับการซ่อมแซมแก้ไข และควรกระทำกันโดยเร็วด้วย

กูเตียร์เรสย้ำว่า เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามเย็นขึ้นมา ไม่ว่าจะต้องลงแรงกันถึงขนาดไหน พร้อมกับเตือนว่าสงครามเย็นที่อาจเกิดขึ้นมาใหม่นี้ จะแตกต่างไปจากครั้งก่อน โดยที่บางทีอาจมีอันตรายมากกว่าและจัดการกับมันได้ยากลำบากกว่า

สงครามเย็นครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างสหภาพโซเวียตและพันธมิตรตะวันออกกับอเมริกา และพันธมิตรตะวันตกนั้น เริ่มต้นทันทีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด และจบลงด้วยการที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 โดยเป็นการปะทะกันระหว่างสองมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่มีอุดมการณ์แนวความคิดซึ่งเป็นปรปักษ์กัน ฝ่ายหนึ่งนั้นเชื่อมั่นในระบอบคอมมิวนิสต์และเผด็จการรวบอำนาจ กับอีกฝ่ายยึดถือลัทธิทุนนิยมและประชาธิปไตย

กูเตียร์เรสแจงว่า สงครามเย็นครั้งใหม่อาจอันตรายกว่าครั้งก่อน เนื่องจากความเกลียดชังระหว่างโซเวียตกับอเมริกาทำให้เกิดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความเสี่ยงของการทำลายล้างด้วยนิวเคลียร์ จึงทำให้เกิดช่องทางติดต่อกันในทางลับ รวมทั้งมีเวทีการหารือกันลับๆ เพื่อรับประกันว่า สถานการณ์จะไม่ลุกลามเกินการควบคุม

“มาในทุกวันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไม่อยู่นิ่งยิ่งกว่าเดิม และแม้กระทั่งประสบการณ์ซึ่งเคยมีอยู่ในอดีต ในเรื่องการจัดการวิกฤตการณ์ ตอนนี้ก็ไม่หลงเหลือแล้ว”

เกี่ยวกับข่าวดังในเวลานี้ ที่สหรัฐฯกับอังกฤษทำข้อตกลงจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลีย เพื่อที่แดนจิงโจ้จะสามารถปฏิบัติการในเอเชียโดยไม่ถูกตรวจจับนั้น เลขาธิการยูเอ็นมองว่า เรื่องนี้เป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ ชิ้นหนึ่งของปริศนาที่มีความสลับซับซ้อนกว่านี้มาก โดยปริศนาดังกล่าวก็คือความสัมพันธ์ที่ผิดปกติโดยสิ้นเชิงระหว่างจีนกับอเมริกา

สำหรับประเด็นใหญ่ประเด็นสำคัญที่บรรดาผู้นำโลกจะหยิบยกขึ้นมาในการประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นคราวนี้ กูเตียร์เรสมองว่ามี 3 เรื่อง ได้แก่ วิกฤตด้านภูมิอากาศที่เลวร้ายลง อนาคตที่ไร้ความแน่นอนของอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตอลิบาน และวิกฤตโรคระบาดใหญ่ที่ยังคุมไม่อยู่

ในประเด็นหลังสุด กูเตียร์เรสระบุว่า ตลอดปีที่แล้วจนถึงขณะนี้โลกยังไม่มีความคืบหน้าอย่างแท้จริงในเรื่องการร่วมมือประสานความพยายามของทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพ

เขายกตัวอย่างว่า การที่โปรตุเกส ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดที่เขาเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เวลานี้มีประชากรจำนวนราว 80% ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ประชากรในหลายประเทศในแอฟริกายังได้ฉีดวัคซีนไม่ถึง 2% นั้น นี่เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เนื่องจากถ้าหากไวรัสโคโรนายังคงระบาดราวไฟป่าในดินแดนที่ยากจนของโลกเช่นนี้ ก็จะมีการกลายพันธุ์ทำให้แพร่เชื้อง่ายขึ้นและอันตรายยิ่งขึ้น

เขายังย้ำอีกครั้งให้กลุ่ม จี20 ซึ่งประกอบด้วยชาติเจ้าของเศรษฐกิจรายสำคัญๆ ของโลก พยายามสร้างเงื่อนไขให้มีแผนการฉีดวัคซีนระดับทั่วโลกขึ้นมา ถึงแม้กลุ่มนี้เคยล้มเหลวตกลงกันไม่ได้มาแล้วระหว่างการประชุมในตอนต้นปี 2020 ทั้งนี้กูเตียร์เรสย้ำว่า แผนการเช่นนี้ต้องนำประเทศผู้ผลิตวัคซีนกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศและบริษัทยามาร่วมมือกัน เพื่อเพิ่มกำลังผลิตขึ้นอีกเท่าตัว และรับประกันการแจกจ่ายวัคซีนอย่างเป็นธรรม

(ที่มา: เอพี)

เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส ขณะแถลงข่าว เมื่อวันที่13 ก.ย.
กำลังโหลดความคิดเห็น