เอพี – รัสเซีย จีน ปากีสถาน และอเมริกา กำลังร่วมมือกันเพื่อทำให้แน่ใจว่า ตอลิบานจะรักษาสัญญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง และป้องกันไม่ให้ลัทธิสุดโต่งขยายพันธุ์ พร้อมกันนี้ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มสงครามเย็นอเมริกา-จีน โดยย้ำว่า มหาอำนาจมีความรับผิดชอบร่วมกันในการหาทางประนีประนอมในประเด็นสำคัญที่โลกกำลังเผชิญอยู่
เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ (25 ก.ย.) ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตัวแทนจากรัสเซีย จีน และปากีสถาน ได้เดินทางไปยังกาตาร์และคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน เพื่อหารือกับตอลิบานและตัวแทนเจ้าหน้าที่ในสมัยอดีตประธานาธิบดีฮามิด การ์ไซ และอับดุลลาห์ อับดุลลาห์ หัวหน้าคณะเจรจาของรัฐบาลชุดที่แล้วที่เจรจากับตอลิบาน
ลาฟรอฟเสริมว่า รัฐบาลชั่วคราวของตอลิบานไม่ได้สะท้อนสังคมอัฟกันทั้งหมด ทั้งในแง่ชนกลุ่มน้อย ศาสนา และกลุ่มการเมือง ดังนั้น รัสเซีย จีน ปากีสถาน และอเมริกาจึงประสานงานกันอย่างต่อเนื่องเพื่อหาทางแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องนี้
ทั้งนี้ ตอลิบานให้สัญญาว่า จะตั้งรัฐบาลที่มาจากทุกภาคส่วน ใช้กฎหมายอิสลามแบบผ่อนปรนมากกว่าเมื่อครั้งปกครองอัฟกานิสถานระหว่างปี 1996-2001 ซึ่งรวมถึงการเคารพสิทธิสตรี การฟื้นเสถียรภาพหลังจากสงครามยาวนาน 20 ปี การต่อสู้กับลัทธิก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่ง และการป้องกันไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานเปิดการโจมตี
แต่ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ตอลิบานกำลังกลับสู่นโยบายควบคุมกดขี่มากขึ้น โดยเฉพาะต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ลาฟรอฟสำทับด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้ตอลิบานรักษาสัญญาที่ประกาศไว้
ในการแถลงข่าวและระหว่างการปราศรัยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ลาฟรอฟวิจารณ์คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการถอนทหารออกจาก
อัฟกานิสถานโดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา ซึ่งหมายถึงการที่อาวุธมากมายที่ไม่ควรถูกนำไปใช้ในการทำลายล้าง ตกค้างอยู่ในอัฟกานิสถาน
รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียังกล่าวหาอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกเกี่ยวกับ “ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการทำลายบทบาทของยูเอ็นในการแก้ไขปัญหาสำคัญในยุคปัจจุบัน รวมทั้งกีดกันหรือทำให้องค์การโลกบาลแห่งนี้เป็นเครื่องมือที่สามารถชักจูงได้อย่างง่ายดายเพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ที่เห็นแก่ตัวของบางคน”
ลาฟรอฟยกตัวอย่างฝรั่งเศสและเยอรมนีที่เมื่อเร็วๆ นี้ประกาศตั้งพันธมิตรพหุนิยมที่เท่ากับเป็นการท้าทายโครงสร้างพหุนิยมของยูเอ็น ส่วนอเมริกาประกาศจัด “การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย” ทั้งที่ไบเดนเพิ่งยืนยันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ไม่ต้องการให้โลกแตกแยก
เขาสำทับว่า งานนี้จะจัดขึ้นโดยที่อเมริกาไม่ได้แจงว่า ตัวเองจะเลือกผู้เข้าร่วมประชุมเอง ซึ่งเท่ากับเป็นการปล้นสิทธิ์ในการตัดสินใจว่า ประชาธิปไตยในระดับใดที่จะถือว่าประเทศหนึ่งๆ ได้มาตรฐาน ที่สำคัญ แผนการริเริ่มนี้ยังถือเป็นเจตนารมณ์ของสงครามเย็น เนื่องจากเป็นการประกาศสงครามทางอุดมคติรอบใหม่ต่อผู้เห็นต่างทั้งหมด
สำหรับคำถามเกี่ยวกับปฏิกิริยาของรัสเซียต่อคำเตือนของแอนโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการยูเอ็น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า โลกอาจจมดิ่งสู่สงครามเย็นครั้งใหม่ที่อันตรายและยาวนานกว่าครั้งที่แล้วระหว่างอเมริกากับอดีตสหภาพรัสเซีย เว้นแต่อเมริกากับจีนจะปรับความสัมพันธ์ที่บกพร่องโดยสิ้นเชิงนั้น ลาฟรอฟตอบว่า รัสเซียตระหนักถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ และกังวลอย่างมากกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจากการประกาศกลยุทธ์อินโด-แปซิฟิกของรัฐบาลไบเดนเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมีเป้าหมายในการขัดขวางพัฒนาการของจีน รวมทั้งข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และข้อตกลงที่อเมริกาและอังกฤษจะจัดหาเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลีย
รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเสริมว่า โดยรวมนั้นมหาอำนาจควรเคารพซึ่งกันและกัน และมีความรับผิดชอบใหญ่หลวงในการเจรจาและประนีประนอมในประเด็นสำคัญที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และย้ำว่า มอสโกต้องการทำให้แน่ใจว่า ความสัมพันธ์เหล่านี้จะไม่ลุกลามกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ และกำลังเสนอการประชุมสุดยอด 5 ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็น ได้แก่ รัสเซีย จีน อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส โดยอาจเริ่มด้วยการประชุมออนไลน์