(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
US falling further behind China in STEM PhDs
By SCOTT FOSTER
09/08/2021
ถึงแม้มหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลกจำนวนมากยังคงเป็นสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ แต่ผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่แสดงให้เห็นว่า ภายในปี 2025 นี้ พวกมหาวิทยาลัยจีนจะสามารถผลิตผู้จบการศึกษาปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-วิศวกรรม-คณิตศาสตร์ หรือที่เรียกกันว่า “สะเต็มศึกษา” ได้เป็นจำนวนเกือบๆ 2 เท่าตัวของที่สหรัฐฯทำได้
โตเกียว - ในบทความชิ้นก่อน เรื่อง China-US contest will come down to education (การแข่งขันระหว่าง‘จีน-สหรัฐฯ’ ใครแพ้ใครชนะจะตัดสินกันที่‘การศึกษา’) ผมได้เขียนถึงวิกฤตการณ์ในการศึกษาระดับประถมและระดับมัธยมของอเมริกัน อย่างที่ผมได้สัญญาเอาไว้ในข้อเขียนดังกล่าว สำหรับในบทความชิ้นนี้ผมจะพูดถึงความเสื่อมโทรมย่ำแย่ลงโดยเปรียบเทียบของพวกมหาวิทยาลัยอมริกันในสาขาวิชาทางด้าน วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม, และคณิตศาสตร์ (science, technology, engineering and mathematics เรียกย่อๆ ว่า STEM ภาษาไทยมีผู้ใช้ว่า สะเต็มศึกษา -ผู้แปล)
(ดูบทความเรื่อง China-US contest will come down to education ภาษาอังกฤษได้ที่ https://asiatimes.com/2021/07/china-us-contest-will-come-down-to-education/ สำหรับที่เก็บความเป็นภาษาไทยแล้ว ดูได้ที่ https://mgronline.com/around/detail/9640000092985)
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ยังไม่ใช่สิ่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างถนัดชัดเจนแล้ว มหาวิทยาลัยระดับดีที่สุดของโลกจำนวนมากยังคงเป็นสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ พวกเขายังคงรักษาชื่อเสียงเกียรติคุณอันดีเลิศเอาไว้ได้
ตัวอย่างเช่น ในการจัดอันดับ “มหาวิทยาลัยทั่วโลกยอดเยี่ยม” (Best Global Universities) ประจำปี โดยนิตยสาร ยูเอสนิวส์แอนด์เวิลด์รีพอร์ต (US News & World Report) ซึ่งล่าสุดจัดกันเป็นปีที่ 7 และนำออกเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม 2020 นั้น พบว่าในจำนวนสถาบันการศึกษาระดับท็อป 25 แห่ง มี 19 แห่งทีเดียวเป็นสถาบันอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ QS (QS World University Ranking) ซึ่งเผยแพร่โดย ควัคควาเรลลี ไซมอนด์ส (Quacquarelli Symonds) บริษัทในสหราชอาณาจักร และอาจจะมีความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลมากกว่า เวอร์ชั่นของล่าสุดซึ่งออกมาเมื่อเดือนกรฎาคมปีนี้ พบว่า มหาวิทยาลัยท็อป 25 ของทั่วโลก มี 12 แห่งอยู่ในสหรัฐฯ, 5 แห่งอยู่ในสหราชอาณาจักร, 3 แห่งอยู่ในจีน, อยู่ในสิงคโปร์กับในสวิตเซอร์แลนด์ประเทศละ 2 แห่ง, และ 1 แห่งอยู่ในญี่ปุ่น
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.topuniversities.com/university-rankings/world-university-rankings/2022)
ครั้นแล้ว ตอนต้นเดือนสิงหาคม ศูนย์กลางเพื่อความมั่นคงและเทคโนโลยีเกิดใหม่ (Center for Security and Emerging Technology หรือ CSET) แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) ในกรุงวอชิงตัน ได้ออกรายงานฉบับหนึ่ง ใช้ชื่อเรื่องว่า “China is Fast Outpacing US STEM PhD Growth,” (จีนกำลังมีฝีก้าวแซงหน้าสหรัฐฯอย่างรวดเร็วเรื่องอัตราเติบโตของผู้จบ PhD สาขา STEM) โดยมีข้อสรุปว่า “จากการคำนวณโดยอิงอยู่กับแบบแผนการลงทะเบียนเรียนในปัจจุบัน เราคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 มหาวิทยาลัยต่างๆ ของจีนจะผลิตผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก PhD ในสาขา STEM เป็นจำนวนมากกว่า 77,000 คนต่อปี เปรียบเทียบกับในสหรัฐฯซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 คน”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://cset.georgetown.edu/publication/china-is-fast-outpacing-u-s-stem-phd-growth/)
แน่นอนอยู่แล้วว่า พวกมหาวิทยาลัยจีนนั้น โดยสาระสำคัญแล้วคือมุ่งให้การศึกษาแก่พวกนักศึกษาชาวจีน ขณะที่พวกมหาวิทยาลัยอเมริกันนั้นทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่นักศึกษาจากทั่วโลกมากกว่า ด้วยเหตุนี้ การศึกษาของจอร์จทาวน์ชิ้นนี้จึงพบว่า “ถ้าหักพวกนักศึกษานานาชาติออกไปจากตัวเลขของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯแล้ว ผู้จบการศึกษา PhD สาขา STEM ที่เป็นชาวจีน จะมีจำนวนมากกว่าผู้สำเร็จการศึกษาที่เป็นชาวอเมริกันในอัตราส่วนมากกว่า 3 ต่อ 1 ทีเดียว”
จีนแซงหน้าสหรัฐฯในเรื่องจำนวนของผู้จบการศึกษา PhD สาขา STEM มาตั้งแต่ปี 2007 แล้ว และเมื่อถึงปี 2019 ก็นำหน้าทิ้งห่างออกไปเป็นราวๆ 47% ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและเวลานี้แนวโน้มก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ ถึงแม้ย้อนกลับไปเพียงเมื่อปี 2000 นี้เอง สหรัฐฯยังผลิตผู้จบ PhD STEM ได้ในระดับเป็นกว่า 2 เท่าตัวของจีนอยู่เลย
พร้อมกันนี้ คุณภาพของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของจีนในสาขา STEM ยังกำลังปรับปรุงดีขึ้นเรื่อยๆ
“อัตราการเติบโตขยายตัวของชาวจีนที่ลงทะเบียนเรียนระดับ PhD ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วในระยะหลังๆ มานี้ ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นการลงทะเบียนเรียนในพวกมหาวิทยาลัยระดับคุณภาพสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน” นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่การศึกษาของ CSET ค้นพบ และระบุว่า “เนื่องจากชาวจีนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกมากกว่า 3 ใน 4 เป็นผู้ที่มีความชำนาญเชี่ยวชาญในสาขาทางด้าน STEM นี่จึงเป็นหลักฐานบ่งบอกว่า สายท่อบรรจุผู้มีความรู้ความสามารถด้าน STEM ของจีนกำลังแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ”
ไม่น่าประหลาดใจเลย เมื่อการศึกษานี้ยังบอกต่อไปว่า “เมื่อพิจารณาจากขนาดขอบเขตของการลงทุนที่จีนทุ่มเทลงไปในการศึกษาขั้นอุดมศึกษา และการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่มีเดิมพันสูงลิ่ว ช่วงห่างในการผลิต PhD สาขา STEM สามารถที่จะกลายเป็นตัวบ่อนทำลายเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติในระยะยาวของสหรัฐฯได้”
เรมโค ซเวตสลูต (Remco Zwetsloot) หนึ่งในคณะผู้เขียนรายงานของCSET ชิ้นนี้ ข่าวของสื่อออนไลน์ แอ็กซิออส (Axios) อ้างอิงเขาว่าได้กล่าวเตือนเอาไว้ว่า “ถ้าแนวโน้มเช่นนี้ยังดำเนินต่อไปแล้ว ก็ดูไม่มีทางเอาเลยที่สหรัฐฯจะยังคงแข่งขันกับจีนต่อไปได้ในแนวรบด้านการดึงดูดผู้มีความรู้ความสามารถ โดยที่สหรัฐฯไม่ต้องดำเนินการปฏิรูปเรื่องการอพยพเข้าเมือง มันเป็นเกมที่มองกันแง่ตัวเลขก็เข้าใจได้แล้วล่ะ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.axios.com/china-stem-phd-students-5bdd84bf-3362-4bb0-a0d3-7011b15caccb.html)
เนื่องจากนักเรียนนักศึกษาชาวอเมริกันในสัดส่วนที่ใหญ่โตทีเดียว ไม่ได้เตรียมตัวสำหรับเข้าศึกษาระดับหลังปริญญาตรีในด้านวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม, และ คณิตศาสตร์ ดังนั้นสหรัฐฯจึงต้องพึ่งพาอาศัยพวกนักศึกษาต่างประเทศให้เข้ามาเติมเต็มที่นั่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของตน รวมทั้งเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ
ทว่าเวลานี้สหรัฐฯกลับกำลังทำให้พวกนักศึกษาต่างชาติเกิดความรู้สึกแปลกแยก –โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกนักศึกษาชาวจีน ซึ่งมีจำนวนคิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของนักศึกษาต่างประเทศในสหรัฐฯ (ในช่วงเวลาก่อนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะใช้ถ้อยคำวาจาต่อต้านจีน และควบคุมการอพยพเข้าเมืองอย่างเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น)
ความพยายามต่างๆ ทั้งในสมัยของทรัมป์ และของประธานาธิบดีไบเดน ที่จะกีดกันขัดขวางไม่ให้ผู้ที่อาจเป็นสปายสายลับของจีน มีโอกาสเข้าทำงานวิจัยระดับสูงในสาขาSTEM เรื่องนี้ก็ส่งผลกระทบเช่นเดียวกัน
ตามคำกล่าวของ เสี่ยวเฟิง วาน (Xiaofeng Wan) รองคณบดีฝ่ายกิจการการรับนักศึกษา และผู้ประสานงานการรับนักศึกษานานาชาติ ของ แอมเฮิร์สต์ คอลเลจ (Amherst College) สิ่งซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่โตเหมือนกัน ยังมีเรื่อง “ความรุนแรงทั้งทางกายภาพและทางถ้อยคำวาจา ซึ่งในที่สุดแล้วได้ส่งผลลัพธ์อยู่ใน ... การทำร้ายเล่นงานชุมชนชาวเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนสูงอายุและสตรีด้วยแรงกระตุ้นทางด้านชาติพันธุ์ ซึ่งเท่าที่มีการรายงานกันก็มีจำนวนมากกว่า 6,600 ราย”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.universityworldnews.com/post.php?story=20210608111011101)
วาน ชี้ด้วยว่าพวกนักศึกษาจีนมีส่วนสร้างรายรับเป็นจำนวน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯให้แก่เศรษฐกิจของสหรัฐฯในปีการศึกษา 2018-19 ซึ่งเป็นเวลาที่การรับนักศึกษาต่างประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้นสู่ระดับสูงสุด
ยังมีรายงานอีกชิ้นหนึ่งที่กล่าวว่า การรับนักศึกษาต่างประเทศ เป็นปัจจัยทำให้บรรดามหาวิทยาลัยอเมริกันยังไม่ประสบปัญหาทางการเงิน โดยนับจากปี 2011 จนถึงปี 2019 นักศึกษานานาชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 55% ขณะที่การรับนักศึกษาภายในประเทศอยู่ในภาวะชะงักงัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.bizjournals.com/sacramento/news/2020/08/13/international-students-budget-crisis-for-colleges.html)
หลังจากนั้น การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ก็เป็นสาเหตุทำให้จำนวนนักศึกษานานาชาติลดฮวบลงไปทั่วโลก แถมตัวกลายพันธุ์ “เดลตา” ยังทำให้สัญญาณต่างๆ ของการฟื้นตัวที่ปรากฏให้เห็นในช่วงหลังๆ มานี้ ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะหมดพลังลงไปอีก
การที่ประธานาธิบดีไบเดนชนะเลือกตั้ง ทำให้มีการกระเตื้องดีขึ้นอย่างชัดเจนในเรื่องความยอมรับสหรัฐฯจากนานาประเทศ รวมทั้งมีนโยบายการเข้าเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้นด้วย แต่ว่าบางที วาน แห่งแอมเฮิร์สต์ อาจจะเป็นฝ่ายถูกต้องก็ได้ เมื่อเขาพูดว่า “การฟื้นตัวขึ้นมาอย่างเต็มที่จนถึงระดับก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลา สำหรับคณะบริหารไบเดนแล้ว เพียงแค่การวางตัวเองให้ออกห่างจากกฎระเบียบและแนวความคิดอุดมการณ์แบบต่อต้านผู้อพยพเข้าเมืองในยุคทรัมป์ อาจยังไม่เพียงพอแก่การเรียกคืนความรู้สึกเชื่อมั่นที่ได้สูญเสียไปของครอบครัวชาวจีนจำนวนมาก ให้ฟื้นกลับขึ้นมาอีกครั้งอย่างเต็มที่”
เสน่ห์ดึงดูดของมหาวิทยาลัยเครือจักรภพอังกฤษ
สตัดดี้ (Studee) องค์กรที่ตั้งฐานอยู่ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านโปรแกรมการศึกษาในต่างแดน พูดซ้ำย้ำความเรื่องเดียวกันนี้เอาไว้ในเว็บไซต์ของตน โดยบอกว่า "เป็นเวลาหลายทศวรรษทีเดียว สหรัฐฯครองตำแหน่งสูงสุดในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางต่างแดนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก”
แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลขององค์กรนี้เองให้ละเอียดมากขึ้น มันกลับแสดงให้เห็นว่า เวลาเดียวกับที่สหรัฐฯเป็นประเทศที่สามารถดึงดูดนักศึกษาต่างประเทศได้เป็นจำนวนมากที่สุดนั้น จากจำนวน 10 ประเทศที่มีการสำรวจกันเมื่อปี 2019 ว่าได้รับความนิยมสามารถดึงดูดนักศึกษาต่างประเทศได้เป็นจำนวนมากที่สุด ผู้ที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐฯคิดเป็นเพียงแค่ 26% ของจำนวนทั้งหมด
สหราชอาณาจักร, แคนาดา, และออสเตรเลีย รวมกันแล้วดึงดูดนักศึกษาต่างประเทศไปได้ 32% ขณะเดียวกันจำนวนของนักศึกษานานาชาติในประเทศจีนนั้น มีเกือบเท่าๆ กับที่เรียนกันอยู่ในสหราชอาณาจักรทีเดียว ขณะที่จำนวนใน แคนาดา และ ออสเตรเลีย ไล่หลังตามมาติดๆ
จีนดึงดูดนักศึกษาต่างประเทศได้เป็นจำนวน 46% ของที่สหรัฐฯทำได้ ถึงแม้แดนมังกรยังมีประวัติศาสตร์สั้นมากในการเปิดประตูประเทศซึ่งพรักพร้อมด้วยสถาบันอุดมศึกษาแบบสมัยใหม่ นักศึกษาต่างประเทศส่วนใหญ่ในจีนนั้นมาจากชาติเอเชียอื่นๆ นำโดยเกาหลีใต้ แต่ก็มีจำนวนเป็นเนื้อเป็นหนังทีเดียวซึ่งมาจากสหรัฐฯ, รัสเซีย, และฝรั่งเศส
ลงท้ายแล้ว ขอให้เราย้อนกลับไปยังการจัดอันดับของCSET กันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครอบคลุมมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งหมด 100 แห่ง ในจำนวนนี้ 29 แห่งอยู่ในสหรัฐฯ, 17 แห่งอยู่ในสหราชอาณาจักร, 17 แห่งอยู่ในภาคพื้นยุโรป, 12 แห่งอยู่ในจีน (5 แห่งในจำนวนนี้อยู่ในฮ่องกง และอีก 1 แห่งอยู่ที่ไต้หวัน), 8 แห่งอยู่ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์, 6 แห่งอยู่ในเกาหลีใต้, 5 แห่งอยู่ในญี่ปุ่น, 3 แห่งอยู่ในสิงคโปร์และมาเลเซียรวมกัน, 2 แห่งอยู่ในแคนาดา, และอีก 1 แห่งอยู่ในอาร์เจนตินา
แต่ถ้าหากจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยทั้งหมดเหล่านี้กันเสียใหม่ โดยพิจารณาจากด้านวัฒนธรรมและด้านการเมืองแล้ว พบว่า 29 แห่งอยู่ในสหรัฐฯ, 30 แห่งอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ (แต่ไม่รวมพวกที่อยู่ในฮ่องกง), 17 แห่งอยู่ในภาคพื้นยุโรป, 12 แห่งอยู่ในจีนและปริมณฑล, 11 แห่งอยู่ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น, และ 1 แห่งในละตินอเมริกา
หรือจัดอีกแบบหนึ่งคือ 73 แห่งอยู่ในอเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์, 26 แห่งอยู่ในเอเชียตะวันออก, 1 แห่งอยู่ในละตินอเมริกา และไม่มีเลยสักแห่งเดียวที่อยู่ในเอเชียใต้, ตะวันออกกลาง, และแอฟริกา
เห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อพิจารณาในแง่ของขนาดขอบเขตและการกระจายตัวแล้ว มหาวิทยาลัยระดับยอดเยี่ยมที่สุดนั้นยังคงอยู่ในโลกตะวันตก การผงาดขึ้นมาของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในเอเชียตะวันออก และความอ่อนแอทางด้านการศึกษาของภูมิภาคอื่นๆ คือปรากฏการณ์ที่มีความสำคัญพอๆ กับการเสื่อมโทรมลงโดยเปรียบเทียบของสหรัฐฯ
อย่างที่ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) กล่าวเอาไว้ในคำปราศรัยที่เขาไปพูด ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อปี 1943 นั่นแหละ : “จักรวรรดิแห่งอนาคตทั้งหลาย คือจักรวรรดิแห่งความคิดจิตใจ” พิจารณาจากแง่มุมนี้แล้ว จักรวรรดิอังกฤษก็ยังคงเป็นผู้ครอบครองกระแสอยู่
แต่จักรวรรดิในทางกายภาพก็เป็นสิ่งที่ดำรงคงอยู่จริงๆ เหมือนกัน จีนกำลังวิวัฒนาการจากสายการผลิตใช้แรงงานคนราคาถูก มาเป็นอุตสาหกรรมการผลิตชนิดอัตโนมัติเต็มพิกัด รวมทั้งมีภาคอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่โตมหึมา จีนยังสร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมา ส่งยานสำรวจไปยังดาวอังคาร และสร้างสถานีอวกาศของตนเอง
ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยการศึกษาด้าน STEM ระดับเฟิร์สต์คลาส ซึ่งในประเทศจีนนั้น การศึกษาเช่นนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐบาลที่ประกอบด้วยวิศวกรเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ส่วนมากแล้วมาจากนักกฎหมาย มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่า เมื่อมาถึงเรื่องการสร้างชาติแล้ว ข้อมูลทางการศึกษาเช่นนี้จะยังคงวิวัฒนาการไปในทางที่เอื้ออำนวยแก่แดนมังกร
สกอตต์ ฟอสเตอร์ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และคณะการระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูง (School of Advanced International Studies) ของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ปัจจุบันทำงานเป็นนักวิเคราะห์อยู่กับ ไลต์สตรีม รีเสิร์ช(Lightstream Research) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น