xs
xsm
sm
md
lg

DEPA โชว์ข้อมูลระบบบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ผ่าน CO-link เข้าถึงการรักษากว่าแสนราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดย สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ จัดทำระบบบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ภายใต้ชื่อ CO-link เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เผยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สามารถติดตามผู้ป่วยจนเข้าสู่ระบบการรักษาไปแล้วเกือบแสนราย พร้อมขยายระบบเชื่อมโยงข้อมูลการจองและรับวัคซีน เพื่อลดความซ้ำซ้อน หนุนกระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนได้แม่นยำมากขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดทำระบบบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ในชื่อ CO-link

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการ GBDi กล่าวว่า ระบบ CO-link คือ ศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสายด่วนเฉพาะกิจ 1668, 1669, 1330 รวมถึงสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูลการแอดมิตจากโรงพยาบาลทุกสังกัด ข้อมูลผลแล็บ และข้อมูลจากระบบ Home Isolation เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การจัดสรรเตียงให้ผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผู้ใช้จะต้องประเมินความเร่งด่วนของผู้ติดเชื้อจากอาการและผลตรวจ ก่อนจัดระดับผลการคัดกรองเป็นกลุ่มสี (แดง ส้ม เหลือง เขียว) เพื่อจัดการจองเตียงตามระดับอาการให้เข้าสู่ระบบการรักษาอย่างทันท่วงที

“ตั้งแต่ระบบ CO-link เริ่มใช้งานเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือน สามารถติดตามผู้ป่วยจนเข้าสู่ระบบการรักษาไปแล้วเกือบแสนราย มีบุคลากรทางการแพทย์เข้าใช้งานแล้วเกือบ 500 บัญชี โดยในอนาคตจะมีการโอนย้ายเซิร์ฟเวอร์จาก GBDi สู่เซิร์ฟเวอร์ของ GDCC ในศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นจากพื้นที่ระบาดอื่นๆ ทั่วประเทศ”

รศ.ดร.ธีรณี กล่าวอีกว่า เบื้องต้นมีการขยายระบบ CO-link ให้เชื่อมโยงข้อมูลการจองฉีดวัคซีนและได้รับการฉีดวัคซีนจากระบบหมอพร้อม ไทยร่วมใจ ปทุมธานีวัคซีน และนนท์พร้อม เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจองวัคซีน ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถคาดการณ์ความต้องการเพื่อจัดหาวัคซีนได้อย่างแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ ระบบยังมีการพัฒนาแดชบอร์ดด้านวัคซีนให้กรมควบคุมโรค เพื่อสามารถดูข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังฉีดวัคซีนแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อประเมินสถานการณ์และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

สำหรับระบบ CO-link คือ การบูรณาการข้อมูลจากระบบสารสนเทศของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เพื่อเชื่อมต่อฐานข้อมูลจากทุกระบบ เข้ามาที่ระบบ CO-link โดยทำหน้าเป็น “Single Source of Truth” ที่ให้บริการข้อมูลและผลการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Intelligence) ทั้งในรูปแบบการวิเคราะห์เชิงบรรยายผ่านแดชบอร์ด และการวิเคราะห์เชิงทำนายด้วยโมเดลคณิตศาสตร์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบบ CO-link จึงเป็นด่านหน้าด้านข้อมูล (Data Portal) ในการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ให้ระบบของภาคเอกชนที่ร่วมมือกับภาครัฐอย่างแพลตฟอร์ม “thai.care” ที่สามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ติดเชื้อตามชุมชนแออัด ลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19

ทั้งนี้ การดำเนินงานของดีป้า และหน่วยงานในสังกัดมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ตามวิสัยทัศน์ ‘think faster and live better’ เตรียมความพร้อมเดินหน้าสู่เศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัลในอนาคต ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดต่างๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารของดีป้า


กำลังโหลดความคิดเห็น