xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลสำรวจคน กทม.-ปริมณฑลได้รับวัคซีนโควิดแล้ว 67.3% ผู้สูงอายุ 88.8% ส่วนใหญ่ฉีดแอสตร้าฯ 64.5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรคเผยผลสำรวจประชาชนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบ 67.3% ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว ส่วนใหญ่ได้แอสตร้า 64.5% รองลงไปเป็นซิโนคแวค 26.3% โดยภาพรวมผู้สูงอายุได้ฉีดแล้ว 88.8% 

วันนี้ (21 ส.ค.) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนผ่านดีดีซีโพล (DDC Poll) เรื่อง วัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนได้รับวัคซีนอย่างเพียงพอและครอบคลุม โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ ลงไปเก็บข้อมูลหลักๆ ที่ชุมชนแออัด ส่วนปริมณฑลเน้นกลุ่มพนักงานบริษัทและรับจ้างทั่วไป จำนวน 1,500 คน ช่วงอายุตั้งแต่ 12-60 ปีขึ้นไป

พบว่า 67.3% ได้รับวัคซีนแล้ว โดยกรุงเทพฯ ได้รับวัคซีน 59.6% นนทบุรีได้รับวัคซีน 78.7% ปทุมธานีได้รับวัคซีน 73.1% นครปฐมได้รับวัคซีน 84.2% สมุทรปราการได้รับวัคซีน 69.4% และสมุทรสาครได้รับวัคซีน 76.5% ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เร่งรัดในการฉีดวัคซีน เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีการระบาดโควิด-19 ค่อนข้างสูง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) 64.5% วัคซีนโควิดซิโนแวค (Sinovac) 26.3% วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) 6% และวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) 3.2%

"จุดหนึ่งที่คิดว่า จะมีการรณรงค์ในการฉีดวัคซีนต่อไป โดยเฉพาะกรุงเทพฯ คือ ชุมชนแออัด วิธีการฉีดวัคซีนอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน กรุงเทพฯ อาจต้องใช้เชิงรุกลงพื้นที่ชุมชนแออัดให้มากขึ้น"

สำหรับเหตุผลในการเข้ารับวัคซีนกลุ่มผู้ตอบ 85.5% ไปฉีดวัคซีนเพราะ 1.ป้องกันการติดเชื้อ 2.เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง 3.ลดความรุนแรงหากติดเชื้อ 4.อยู่ในชุมชนแออัดเจอคนหมู่มาก ส่วนเหตุผลของการไม่ไปฉีดวัคซีนเพราะ 1.ยังไม่เชื่อมั่นในวัคซีน 2.อายุยังไม่ถึง 3.ไม่ได้ออกไปไหน และ 4.ไม่อยากฉีด

จากการสอบถามว่า ท่านมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในบ้านของท่านหรือไม่ พบว่า 73.7% มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน โดยกรุงเทพฯ ผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านได้ฉีดวัคซีนแล้ว 71.7% ส่วนปริมณฑลผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านได้ฉีดวัคซีนแล้ว 99.1% จากภาพรวมจะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุได้รับวัคซีนแล้ว 88.8%

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาและความเครียดของประชาชน พบว่า เครียดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ/รายได้ 41.2% ปัญหาความกังวลว่าจะไม่ได้รับวัคซีน 20.5% กลัวติดเชื้อโควิด 19 20.1% และปัญหาด้านการศึกษา 18.1% ด้านประสิทธิภาพของวัคซีน ผู้ตอบแบบสำรวจ เชื่อว่าการได้รับวัคซีนจะลดความรุนแรงของโรคได้ 66.9% ซึ่งเปรียบเทียบกับผลสำรวจในรอบที่ผ่านมา มีเพียง 23.9% ที่เชื่อว่าวัคซีนลดความรุนแรงของโรคได้

ส่วนความกังวลถึงอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน พบเพียง 27.5% ซึ่งผลการสำรวจที่ผ่านมา มีความกังวลมากถึง 83.4% สอดคล้องกับข้อมูลที่มีว่า ได้ฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งหมด 26 ล้านโดส ยังไม่มีรายใดเลยที่มีการเสียชีวิตจากวัคซีนที่ผ่านการพิสูจน์ข้อมูลจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ตาม จากผลดีดีซีโพล ทำให้ผู้สูงอายุที่อาศัยในชุมชนแออัด ของ กทม. จะได้ประโยชน์จากการลงพื้นที่ของ CCRT (Comprehensive Covid-19 Response Team) ซึ่งเป็นทีมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่จะให้ความรู้การดูแลรักษาทางกายและใจ ทั้งยังตรวจคัดกรอง ฉีดวัคซีนให้กลุ่มสูงวัยในชุมชนที่ยังไม่สามารถออกมารับบริการได้ รวมถึงให้คำปรึกษาผ่านเทเลเมดิซีน จ่ายยารักษา และหากมีอาการมากขึ้นจะประสานเข้าระบบการรักษาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น