(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Chinese state media label George Soros a ‘terrorist’
by Jeff Pao
08/09/2021
อภิมหาเศรษฐีที่เป็นผู้บริจาคเพื่อการกุศลชื่อดัง และเป็นอดีตผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ซึ่งมีเกียรติประวัติโด่งดังผู้นี้ เขียนบทความหลายชิ้นต่อเนื่องกันเมื่อเร็วๆ นี้ รบเร้าเรียกร้องกองทุนเพื่อการลงทุนทั้งหลายของสหรัฐฯ ให้หลีกเลี่ยงการเข้าลงทุนในตลาดจีน
โกลบอลไทมส์ (Global Times) กระบอกเสียงของจีนเพิ่งตีตราประทับใส่ จอร์จ โซโรส (George Soros) อภิมหาเศรษฐีอเมริกันที่เกิดในฮังการี ว่าเป็น “ผู้ก่อการร้ายทางเศรษฐกิจระดับโลก” (global economic terrorist) ระหว่างการดวลกันผ่านทางหน้าทัศนะ-ความคิดเห็นของสื่อมวลชน ซึ่งมีการตอบโต้ใส่กันดุเดือดชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน อันเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงอุณหภูมิที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนไปด้วย
บทความดังกล่าวของโกลบอลไทมส์ ซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 4 กันยายน และกล่าวหาโดยไม่ได้หยิบยกหลักฐานใดๆ มาแสดง ระบุว่า โซรอส ผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์และผู้บริจาคเพื่อการกุศลชื่อดัง เป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนแก่ จิมมี ไล (Jimmy Lai) เพื่อสนับสนุนการประท้วงต่อต้านปักกิ่งของนครแห่งนี้เมื่อปี 2019 ทั้งนี้ ไล เป็นเจ้าของ “แอปเปิลเดลี่” หนังสือพิมพ์ฮ่องกงชื่อดัง ซึ่งเวลานี้ปิดกิจการไปแล้ว ภายหลังที่ตัว ไล เองถูกพิพากษาจำคุก
หลังจากถูกโกลบอลไทมส์ประทับตราไม่นานนัก โซรอสได้เขียนบทความที่เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล มีเนื้อหาระบุว่า การที่ แบล็กร็อก (BlackRock) บริษัทจัดการการลงทุนรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ตั้งฐานอยู่ที่นิวยอร์ก เข้าลงทุนในกองทุนรวมในจีนเป็นมูลค่า 6,700 ล้านหยวน (1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อเร็วๆ นี คือ “ความผิดพลาดอย่างน่าเศร้าใจ” และน่าที่จะทำให้พวกลูกค้าของแบล็กร็อกต้องสูญเสียเงิน โซรอสเขียนด้วยว่า การลงทุนเช่นนี้ของ แบล็กร็อก “เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ”
นี่เป็นข้อเขียนตามหลังบทความอีกชิ้นหนึ่งของโซรอส ซึ่งได้รับการเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม โดยเขาระบุว่า การที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเข้ากำราบเล่นงานพวกวิสาหกิจภาคเอกชน กำลังเป็นการ “ฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนอย่างสำคัญ” และ “สามารถที่จะนำไปสู่การพังครืนครั้งใหญ่ได้”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ www.ft.com/content/ecf7de34-e595-4814-9cbd-4a5119187330)
เขาบอกอีกว่า พวกดัชนีอย่างเช่น MSCI’s ACWI, ESG Leaders Index and BlackRock’s ESG Aware (ที่มุ่งวัดความเคลื่อนไหวราคาหุ้นของพวกบริษัทใหญ่น้อยในประเทศต่างๆ โดยที่พวกกองทุนรวมในสหรัฐฯนิยมนำมาอ้างอิง เพื่อใช้ในการลงทุนของพวกตนในประเทศเหล่านั้น) “ส่งผลกลายเป็นการบีบบังคับให้เงินทองเป็นจำนวนหลายแสนล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นของบรรดานักลงทุนสหรัฐฯ หลั่งไหลเข้าไปในบริษัทจีนแห่งต่างๆ ซึ่งคุณภาพในด้านบรรษัทภิบาลไม่ถึงมาตรฐานที่กำหนดกันไว้ –อำนาจและภาระความรับผิดชอบ เวลานี้ถูกใช้โดยคนเพียงคนเดียว (นั่นคือ สี จิ้นผิง) ผู้ซึ่งไม่ต้องแสดงภาระความรับผิดชอบ ต่อผู้ทรงอำนาจระดับระหว่างประเทศใดๆ ทั้งสิ้น”
อภิมหาเศรษฐีผู้นี้รบเร้าให้รัฐสภาสหรัฐฯผ่านกฎหมายที่จำกัดตีกรอบให้พวกผู้จัดการสินทรัพย์ทั้งหลาย ต้องทำการลงทุนใน “บริษัทที่โครงสร้างด้านบรรษัทภิบาลอันแท้จริง มีทั้งความโปร่งใสและทั้งเป็นพันธมิตรกับพวกผู้ถือหุ้น” ทั้งนี้มีรายงานหลายชิ้นก่อนหน้านั้นระบุว่า กองทุนเฮดจ์ฟันด์ของโซโรสเอง ได้ปล่อยทิ้งเลิกเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ของจีนไปทั้งหมดแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ของปีนี้
โซรอส ปัจจุบันอายุ 91 ปี และมีรายงานว่ามีทรัพย์สินสุทธิคิดเป็นมูลค่า 86,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งเป็นผู้ให้เงินทองแก่มูลนิธิเพื่อการกุศล “โอเพน โซไซตี้ ฟาวน์เดชั่น” (Open Society Foundations) ซึ่งให้ความสนับสนุนแก่พวกองค์การนอกภาครัฐบาล (non-governmental organizations หรือ NGOs) ในทั่วโลก ทั้งนี้เขามีความสัมพันธ์แบบเดี๋ยวรักเดี๋ยวชังกับประเทศจีนมาอย่างยาวนาน
ระหว่างที่เกิดวิกฤตภาคการเงินเอเชียในช่วงปี 1997-98 เขาเก็งกำไรโดยพยายามทำลายการที่ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่าลงท้ายแล้วก็กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้รัฐบาลฮ่องกง ซึ่งเข้าแทรกแซงในตลาดอย่างหนักเพื่อปกป้องการผูกค่าเงินนี้ และโซรอสถูกพวกสื่อท้องถิ่นในเวลานั้นตั้งฉายาว่า “จระเข้ทางการเงิน”
ในเดือนกันยายน 2001 โซรอสได้รับเชิญให้ไปเยือนจีน และได้พบกับนายกรัฐมนตรี จู หรงจี ของจีนในเวลานั้นที่กรุงปักกิ่ง แต่หลังจากเกิดวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกในปี 2008 โซรอสบอกกับสื่อมวลชนเมื่อเดือนตุลาคม 2009 ว่า จีนควรจะตอบรับโอกาสที่เปิดให้แล้ว ด้วยการก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำของระเบียบใหม่แห่งเศรษฐกิจโลก
เขาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของจีนหลายรายในปี 2009 และ 2010 เพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ของเขาในฐานะที่เป็นนักลงทุนระดับโลก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3AhkSsF)
ในเดือนมกราคม 2016 โซรอสบอกกับผู้เข้าร่วมงานรับประทานอาหารค่ำ ในรายการซึ่งไม่ค่อยสำคัญอะไรนักของเวทีประชุม เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) ที่ ดาวอส, สวิตเซอร์แลนด์ ว่า เศรษฐกิจจีน “ในทางปฏิบัติไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการชะลอตัวแบบดิ่งแรง (hard landing) ได้แล้ว”
อีกไม่กี่วันต่อมาหนังสือพิมพ์ เหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์เดลี่) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ออกมาเตือนว่า “สงครามที่โซรอสทำกับสกุลเงินเหรินหมินปี้ (เงินหยวนของจีน) และสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงนั้น ไม่สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้เลย –เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่อาจมีข้อสงสัยได้หรอก”
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเขียนของ เหรินหมินรึเป้า ได้ที่ https://www.irishtimes.com/business/economy/george-soros-warned-by-beijing-that-war-on-the-renminbi-will-fail-1.2511491)
ในเดือนสิงหาคม 2017 คำร้องเรียนซึ่งเรียกร้องให้ประกาศว่าโซรอสเป็น “ผู้ก่อการร้ายภายในประเทศ” ได้ลายเซ็นผู้ที่เห็นด้วยมากกว่า 100,000 ชื่อบนเว็บไซต์ของทำเนียบขาว สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาที่ว่าเขาให้เงินทุนสนับสนุนการประท้วงของพวกเสรีนิยมในสหรัฐฯ ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายน 2018 โซรอสถูกประธานาธิบดีเรเจป ทอยยิป แอร์โดอัน ของตุรกี กล่าวหาว่าสนับสนุนให้เงินทุนแก่ “พวกผู้ก่อการร้าย” ในการประท้วงที่สวนสาธารณะเกซี (Gezi Park) ของเมืองอิสตันบุล เมื่อปี 2013
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Gezi_Park_protests)
ถึงเดือนมกราคม 2019 โซรอสระบุว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เป็น “ศัตรูที่อันตรายมากที่สุด” ของบรรดาสังคมเสรี จากการที่เขาเป็นเประธานาธิบดีของระบอบปกครองซึ่งคอยเฝ้าตรวจตราสอดส่องด้วยเทคโนโลยีไฮเทค เขากล่าวว่า “จีนไม่ได้เป็นระบอบปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จระบอบเดียวในโลกก็จริงอยู่ แต่เป็นระบอบที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุด, เข้มแข็งที่สุด, และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สุด”
เขาบอกว่า พวกยักษ์ใหญ่เทเลคอมของจีนอย่าง แซดทีอี และ หัวเว่ย ไม่ควรได้รับอนุญาตให้ครอบงำโครงสร้างพื้นฐาน 5จี ของโลกที่กำลังสร้างกันขึ้นมา
สำหรับบทวิจารณ์วันที่ 4 กันยายน ของ โกลบอลไทมส์ ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “This global economic terrorist is staring at China!” (ผู้ก่อการร้ายทางเศรษฐกิจระดับโลกคนนี้กำลังจ้องมาที่จีน!) อ้างว่าโซรอสเริ่มที่จะวิพากษ์วิจารณ์จีนก็เพียงเพราะเขารู้สึกเสียใจภายหลังได้ปล่อยทิ้งการลงทุนของเขาทั้งหมดที่เคยไปลงไว้ใน เทนเซนต์มิวสิก (Tencent Music), ไป่ตู้ (Baidu), และ วิช็อป (Vishop) ช่วงก่อนหน้านี้ของปีนี้
บทวิจารณ์ของ โกลบอลไทมส์ ชิ้นนี้กล่าวต่อไปว่า มูลนิธิ โอเพน โซไซตี้ ฟาวน์เดชั่นของเขา เป็นผู้ให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่องค์การ ฮิวแมน ไรต์ส วอต์ช (Human Rights Watch) ซึ่งบทวิจารณ์นี้ระบุว่า เที่ยวเผยแพร่ “ข่าวลือ” ต่อต้านคัดค้านจีน สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ในฮ่องกงและซินเจียง ตลอดจนในเรื่องต้นกำเนิดที่มาของโรคระบาดใหญ่โควิด-19
บทวิจารณ์ชิ้นนี้ยังกล่าวหาโดยไม่ได้แสดงหลักฐานยืนยันใดๆ ว่า โซรอสได้สมคบกับ จิมมี่ ไล ผู้ก่อตั้ง แอปเปิลเดลี่ ในความพยายามที่จะเริ่มต้น “การปฏิวัติสี” (color revolution) ขึ้นในฮ่องกงในปี 2019 นอกจากนั้นยังเรียกโซรอสว่าเป็น “บุคคลผู้ชั่วร้ายที่สุดในโลก” และ “ลูกซาตาน”
ปรากฏว่าบทวิจารณ์นี้ถูกนำไปเผยแพร่ต่ออย่างกว้างขวาง จากพวกเว็บไซต์แผ่นดินใหญ่ ขณะที่สื่อของฮ่องกงและไต้หวันก็อ้างอิงกล่าวถึงตลอดช่วงสองสามวันที่ผ่านมา
แต่ขณะที่ โกลบอลไทมส์ ทำตัวเป็นปากเป็นเสียงให้แก่พวกทฤษฎีสมคบคิดที่วนเวียนอยู่รอบๆ ตัวโซรอสมาอย่างยาวนานแล้ว รวมทั้งที่กล่าวหาว่าเขาเป็นจอมบงการลับๆ ซึ่งจุดชนวนให้เกิด “การปฏิวัติสี” ทั้งในแอฟริกา, ยุโรปตะวันออก, และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่เขาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ แบล็กร็อก นำเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ จำนวนมหึมามาลงทุนในจีน ตลอดจนเรื่องที่ สี ใช้กฎระเบียบเล่นงานบริษัทเอกชนแห่งต่างๆ ในจีนนั่นแหละ ที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงที่สุด
ในเดือนเมษายน 2021 แลร์รี ฟิงค์ (Larry Fink) ประธานของแบล็กร็อก เขียนเอาไว้ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นฉบับหนึ่ง กล่าวว่า “ตลาดจีนเป็นตัวแทนของโอกาสอันสำคัญที่จะช่วยทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ ในระยะยาวของบรรดานักลงทุนในจีนและในระดับระหว่างประเทศ” ขณะเดียวกันก็เป็นการให้โอกาสแก่ แบล็กร็อก ในการช่วยเหลือประชาชนเป็นล้านๆ คนในประเทศจีน แก้ไขรับมือกับความท้าทายจากการเกษียณอายุ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.blackrock.com/corporate/investor-relations/larry-fink-chairmans-letter)
“ขณะที่ตลาดทุนของจีนเปิดกว้างให้แก่บริษัทต่างชาติทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง แบล็กร็อกก็ได้ดำเนินปฏิบัติการอันสมเหตุสมผลต่างๆ เพื่อขยายการปรากฏตัวของเรา และตอบสนองความต้องการต่างๆ ของเหล่าลูกค้าของเรา” ฟิงค์ บอก
เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จีนอนุญาตให้จัดตั้งกิจการด้านการบริหารความมั่งคั่ง ที่เป็นการร่วมทุนกันระหว่าง แบล็กร็อก, เทมาเส็กโฮลดิ้งส์ (Temasek Holdings) ที่เป็นกิจการการลงทุนของภาครัฐสิงคโปร์, และธนาคารของจีน ไชน่า คอนสตรักชั่น แบงก์ คอร์ป (China Construction Bank Corp) จากนั้นในเดือนพฤษภาคมปีนี้ กิจการร่วมทุนแห่งนี้ ซึ่งแบล็กร็อกเป็นเจ้าของอยู่ในสัดส่วน 50.1% ขณะที่ แบงก์จีน CCB ถือครองอยู่ 40% และ เทมาเส็ก 9.9% ก็ได้รับใบอนุญาตจากพวกหน่วยงานผู้คุมกฎของจีน ให้ทำธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ในประเทศจีนได้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://fundselectorasia.com/blackrock-ccb-wealth-management-gains-china-licence/)