xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ “นอกหน้าต่าง” : ‘ไบเดน’ บอก ‘สี’ สหรัฐฯ กับจีนต้องไม่ ‘หันเข้าสู่การขัดแย้งสู้รบกัน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โจ ไบเดน ประมุขของสหรัฐฯ กับ สี จิ้นผิง ประมุขของจีน พูดคุยกันทางโทรศัพท์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นการติดต่อกันโดยตรงครั้งแรกของผู้นำทั้งสองในรอบระยะเวลา 7 เดือน ท่ามกลางความตึงเครียดที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ระหว่างประเทศเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก

ระหว่างการพูดจากันทางโทรศัพท์เป็นเวลา 90 นาที ซึ่งเกิดขึ้นโดยทางประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นฝ่ายริเริ่ม เมื่อตอนดึกคืนวันพฤหัสบดี (9 ก.ย.) ตามเวลาในวอชิงตัน แต่เป็นเช้ามืดวันศุกร์ (10) ตามเวลาในจีน ผู้นำทั้งสองได้เจรจาหารือกันถึงความรับผิดชอบร่วมกันของพวกเขาในการทำให้เกิดความมั่นใจว่า การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ไม่ได้ “หันเหเบี่ยงเบนเข้าสู่การขัดแย้งสู้รบกัน” ทั้งนี้ ตามบันทึกรายงานการสนทนาคราวนี้จากทางทำเนียบขาว

บันทึกรายงานนี้บอกว่า ผู้นำทั้งสองมี “การหารือในทางยุทธศาสตร์วงกว้าง” ซึ่งครอบคลุมถึง “อาณาบริเวณต่างๆ ที่ผลประโยชน์ของพวกเราบรรจบกัน และอาณาบริเวณต่างๆ ที่ผลประโยชน์ ค่านิยม และทัศนะมุมมองแยกห่างจากกัน”

พร้อมกับบอกว่า ไบเดน กับ สี ตกลงเห็นพ้องกันที่จะมีปฏิสัมพันธ์กัน “อย่างเปิดกว้างและอย่างตรงไปตรงมา”

“ในการหารือครั้งนี้ อย่างที่ประธานาธิบดีไบเดนได้แจกแจงเอาไว้อย่างชัดเจน ถือเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ที่จะบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบต่อการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับสาธารณรัฐประชาชนจีน” บันทึกรายงานของทำเนียบขาวระบุ

สำหรับบันทึกรายงานการสนทนาของทางฝ่ายจีนนั้นกล่าวว่า การพูดจากันเป็นไปอย่างจริงจังตรงไปตรงมาและลงลึก โดยที่ สี บอกว่า “จีนกับสหรัฐฯ จะสามารถจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาได้ดีหรือไม่ มีผลกระทบต่ออนาคตของโลก มันเป็นคำถามแห่งศตวรรษคำถามหนึ่ง ซึ่งทั้ง 2 ประเทศจะต้องให้คำตอบที่ดีน่าพอใจ” ทั้งนี้ ตามบันทึกรายงานของฝ่ายปักกิ่ง

สี ตกลงอนุญาตให้พวกเจ้าหน้าที่ของเขาไปทำงานกับเจ้าหน้าที่ของฝ่ายสหรัฐฯ ในการ “ดำเนินปฏิสัมพันธ์และการสนทนาของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในการประสานงานและในการร่วมมือกัน” ในเรื่องความเร่งด่วนฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ การตอบโต้รับมือกับโควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตลอดจนในประเด็นปัญหาสำคัญๆ ระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค แต่ก็เสริมด้วยว่า ปฏิสัมพันธ์และการสนทนากันของเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายดังกล่าวนี้ควรต้องวาง “อยู่บนพื้นฐานแห่งการมีความเคารพในความกังวลห่วงใยระดับแกนกลางของแต่ละฝ่าย”

พวกนักวิเคราะห์ในวอชิงตันชี้ว่า เท่าที่ผ่านมาทางฝ่ายสหรัฐฯ บังเกิดความหงุดหงิดไม่พอใจอยู่เรื่อยๆ เมื่อพบว่า ความพยายามต่างๆ ในการเสาะแสวงหาพื้นที่ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีอยู่ร่วมกันนั้น จวบจนถึงเวลานี้ยังคงไร้ผล พวกเขาบอกว่า การที่จีนเพิ่มความแข็งกร้าวในทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนการที่สหรัฐฯ กำลังเพิ่มการปรากฏตัวและเพิ่มความสนับสนุนที่ให้แก่ไต้หวัน ก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าอาจมีลู่ทางที่จะเกิดการขัดแย้งสู้รบกันขึ้นมา

สำหรับในส่วนของจีนนั้น ได้กล่าวหาสหรัฐฯ ว่ากำลังแทรกแซงกิจการภายในประเทศของตน ด้วยการทำให้ประเด็นปัญหาหลายๆ ประการ อย่างเช่น ฮ่องกง และซินเจียง กลายเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นมา มีนักวิเคราะห์ให้ความเห็นทางสื่อ (คอนเมนเตเตอร์) บางคนของจีนไปไกลถึงขนาดเสนอแนะว่า สหรัฐฯ กำลังพยายามที่จะปิดล้อมจีน

ความพยายามในระยะหลังๆ มานี้ เพื่อผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เกิดความคืบหน้าขึ้นมานั้น ปรากฏว่าไม่ประสบผล ล่าสุดคือเมื่อสัปดาห์เศษที่ผ่านมา จอห์น เคร์รี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้แทนพิเศษเรื่องภูมิอากาศของประธานาธิบดีอเมริกัน ได้พบหารือกับ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เคร์รี บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมาว่า เขาได้รบเร้า หวัง และทางผู้แทนด้านภูมิอากาศของฝ่ายจีนว่า แดนมังกรจะต้องทำอะไรเพิ่มมากขึ้นในการต่อสู้กับวิกฤตด้านภูมิอากาศ ซึ่งมีความสำคัญมากยิ่งกว่าเรื่องการเมือง

อย่างไรก็ดี ตามรายงานของฝ่ายจีน หวังได้ตอบโต้ว่า ความร่วมมือทวิภาคีในเรื่องภูมิอากาศ “ไม่สามารถที่จะแยกขาดจากสภาพแวดล้อมในวงกว้างของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ได้” พร้อมกับระบุว่า วอชิงตันควร “เลิกมองจีนเป็นภัยคุกคามและเป็นปรปักษ์” รวมทั้ง “ยุติการปิดล้อมและการกำราบยับยั้งจีนในตลอดทั่วโลก”

เขาพูดด้วยว่า สหรัฐฯ มองความพยายามร่วมกันของทั้งสองประเทศในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนเหมือนกับเป็นดินแดนโอเอซิสที่ยังคงมีน้ำมีความชุ่มฉ่ำ “แต่สิ่งที่รายล้อมโอเอซิสนี้อยู่คือทะเลทราย และโอเอซิสนี้อาจถูกทำให้กลายเป็นทะเลทรายในเวลาอันรวดเร็ว” เขากล่าว

ระหว่างการพูดจากันทางโทรศัพท์คราวล่าสุดนี้ ไบเดน กับ สี ได้หารือกันในประเด็นปัญหาความเร่งด่วนฉุกเฉินทางด้านภูมิอากาศด้วยเช่นกัน บันทึกรายงานการสนทนาของฝ่ายจีนบอกว่า ปักกิ่ง “ได้ริเริ่มด้วยความกระตือรือร้นในการเข้าแบกรับความรับผิดชอบต่างๆ ในระดับระหว่างประเทศ ซึ่งมีความเหมาะสมสอดคล้องกับเงื่อนไขแห่งชาติของจีน”

ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างมหาอำนาจที่ทรงความสำคัญที่สุดในโลก 2 รายนี้ ได้ตกต่ำลงอย่างหนักตั้งแต่สมัยคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ทว่าการพบปะหารือระดับสูงของ 2 ประเทศครั้งแรกในยุคคณะบริหารไบเดน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางฝ่ายจีนมีทั้ง หวัง กับ หยาง เจียฉือ ที่ถือเป็นนักการทูตระดับสูงสุดของแดนมังกรในปัจจุบัน ส่วนฝ่ายสหรัฐฯ ก็มีทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน กับที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ เจค ซุลลิแวน ปรากฏว่าได้กลายเป็นการตอบโต้ใส่กันอย่างเป็นปรปักษ์ต่อหน้าสาธารณชน

เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะบริหารไบเดน บอกกับสำนักข่าวเอพีว่า ทางทำเนียบขาวไม่มีความพอใจเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ที่มีกับจีนหลายๆ ครั้ง ทั้งในคราวเดือนมีนาคม และภายหลังจากนั้นมา

เจ้าหน้าที่ผู้นี้ซึ่งไม่ได้รับมอบหมายให้แสดงความคิดเห็นต่อหน้าสาธารณชน และพูดกับเอพีแบบขอให้สงวนนาม กล่าวว่า พวกเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวตั้งความหวังว่าการที่ สี ได้รับฟังอะไรๆ โดยตรงจาก ไบเดน น่าที่จะมีประโยชน์

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวผู้นี้ย้ำว่า ไบเดนพูดอย่างชัดเจนกับ สี ว่า เขาไม่ได้มีเจตนาใดๆ ที่จะถอยห่างออกจากนโยบายของคณะบริหารของเขาในการกดดันจีนทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน การค้า และเรื่องอื่นๆ ซึ่งสหรัฐฯ เชื่อว่า จีนกำลังมีความประพฤติออกนอกบรรทัดฐานระหว่างประเทศ

(เก็บความจากเรื่อง Biden tells Xi US and China must not ‘veer into conflict’ ของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน)
กำลังโหลดความคิดเห็น