xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’ ไฟเขียวให้ปรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร


จอห์น เคร์รี ผู้แทนพิเศษด้านภูมิอากาศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางจีนระหว่างวันที่ 1-3 กันยายนที่ผ่านมา โดยคาดหมายกันว่าเขามีการเจรจาหารือกับฝ่ายจีนในเรื่องต่างๆ มากกว่าแค่หัวข้อเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (ภาพจากแฟ้ม)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Biden gives green light to US-China thaw
by MK Bhadrakumar
03/09/2021

เห็นกันว่า จอห์น เคร์รี ผู้แทนพิเศษด้านภูมิอากาศของสหรัฐฯ ที่มีประสบการณ์ด้านการทูตมายาวนาน กำลังทำหน้าที่ส่งข่าวสารไปถึงปักกิ่ง ในเรื่องประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังหันมาใช้แบบแผนวิธีการใหม่ในความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯมีอยู่กับจีน

จอห์น เคร์รี (John Kerry) ผู้แทนพิเศษด้านภูมิอากาศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนนครเทียนจิน (เทียนสิน) เมืองท่าสำคัญของจีนที่อยู่ไม่ห่างจากกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 1-3 กันยายนที่ผ่านมา เรื่องนี้กำลังทำท่าจะมีมิติอย่างใหญ่โตมหึมา โดยมีโอกาสอย่างมากที่จะกลายเป็นช่วงขณะแห่งการพลิกผันเปลี่ยนแปลง ในความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เป็นไปด้วยความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

ไม่เหมือนกับการเยือนจีนเมื่อครั้งก่อนของ เคร์รี ในเดือนเมษายนปีนี้ ซึ่งเป็นการเดินทางไปยังนครเซี่ยงไฮ้ โดยในเที่ยวล่าสุดนี้ การสนทนาของเขากับฝ่ายจีนมีเนื้อหาที่กว้างขวางมากกว่าและลงลึกไปกว่าเรื่องประเด็นปัญหาต่างๆ ทางด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ได้พบหารือกับ เคร์รี “ผ่านทางวิดีโอลิงก์โดยเป็นไปตามการเชื้อเชิญ” และเขาใช้โอกาสนี้ในการรบเร้าวอชิงตัน ให้ “ใช้ฝีก้าวต่างๆ ด้วยความแข็งขันเพื่อนำเอาสายสัมพันธ์ (ระหว่างสองประเทศ) กลับเข้ามาอยู่ในร่องในรอย”

หวัง กล่าวย้ำว่า การร่วมมือกันในประเด็นปัญหาด้านภูมิอากาศ คือสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ทว่าความร่วมมือนี้จะไม่สามารถยั่งยืนคงทนไปได้ ถ้าหากความสัมพันธ์ทวิภาคีไม่ได้ปรับปรุงกระเตื้องดีขึ้นไปด้วย

หวัง กล่าวทบทวนความหลังว่า จีนกับสหรัฐฯเคยมีประวัติศาสตร์แห่งการสนทนากันและความร่วมมือกันที่ผลิดอกออกผล ทั้งในประเด็นปัญหาระดับทวิภาคี และก็ในประเด็นปัญหาสำคัญๆ ระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคมาแล้ว รวมทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งก่อให้เกิด “ผลประโยชน์ที่จับต้องได้” แก่ทั้งสองฝ่าย และความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาเหล่านี้คือพยานหลักฐานยืนยันถึงศักยภาพความเป็นไปได้ที่จะบรรลุผลลัพธ์แบบชนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย หากสองฝ่ายกลับมาเน้นที่การให้ความเคารพซึ่งกันและกันและการมีพื้นที่ซึ่งร่วมกันได้ ขณะเดียวกับที่เก็บเอาสิ่งที่แตกต่างกันเอาไว้ก่อน

หวัง บอกว่า เวลานี้สหรัฐฯต้องเป็นฝ่ายริเริ่มตัดสินใจแล้ว เนื่องจากความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เลวร้ายลงอย่างฉับพลันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่สามารถบอกได้ว่า เนื่องมาจาก “การคาดคำนวณอย่างผิดพลาดในทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่” ของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อหันมามองจีนว่าเป็นภัยคุกคามและเป็นปรปักษ์ และก็จึงพยายามที่จะปิดล้อมและปราบปรามกำราบจีน

เขารบเร้าคณะบริหารไบเดน ให้ดำเนิน “ฝีก้าวต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมเพื่อปรับปรุงสายสัมพันธ์”

ทางด้าน เคร์รี ได้ตอบรับในทางบวกจนถึงขนาดระบุว่า ฝ่ายสหรัฐฯมีความปรารถนาที่จะทำงานกับจีน เพื่อ “เพิ่มพูนการสนทนากัน, ร่วมกันปรับปรุงยกระดับความมุ่งมาดปรารถนาต่างๆ, สาธิตให้เห็นถึงความเป็นผู้นำ” และทำให้เห็นเป็นตัวอย่างในเรื่องการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ของข้อตกลงกรุงปารีส (Paris Agreement)” โดยที่เรื่องนี้ “ยังจะเป็นการสร้างโอกาสสำหรับการแก้ไขคลี่คลายความยากลำบากต่างๆ ที่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนกำลังเผชิญอยู่”

กล่าวโดยสรุปแล้ว การพลิกกลับเส้นทางโคจรที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนนั้นเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้อย่างมาก ทั้งนี้การริเริ่มของ เคร์รี ย่อมจะต้องได้รับการรู้เห็นและการรับรองอนุมัติจากไบเดนแล้ว เคร์รี นั้นเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยในปักกิ่ง และการดำเนินการทางการทูตระดับโลกแบบเก่าของเขานั้น ไม่ได้สร้างความรู้สึกขุ่นเคืองว่าถูกข่มขู่และถูกรังแก ให้แก่จีน –ตลอดจนให้แก่รัสเซีย

การนำเอา เคร์รี “เข้าประจำการ” เช่นนี้ เป็นสัญญาณแสดงถึงการพลิกกลับตัวครั้งใหญ่ในแบบแผนการดำเนินการกับจีนของคณะบริหารไบเดน ซึ่งเท่าที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ยังคงเดินไปตามทิศทางที่ ทรัมป์ ตั้งเอาไว้ โดยที่มีการปรับแก้อะไรแค่เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

เวลาเดียวกัน ภาพใหญ่ที่ปรากฏออกมาก็คือ ไบเดนน่าจะกำลังลดระดับความตึงเครียดทั้งที่มีอยู่กับจีนและกับรัสเซียด้วย

น่าสังเกตเช่นเดียวกันว่า การเจรจาหารือระหว่างไบเดนกับประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ ของยูเครน เมื่อวันพุธ (1 ก.ย.) ที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nbcnews.com/politics/white-house/biden-zelensky-meet-white-house-amid-ukraine-russia-conflict-n1278232) สรุปปิดฉากลงแบบไม่เอิกเกริกเกรียวกราวอะไร ซึ่งนี่ก็จะได้รับการจับตามองอย่างระมัดระวังในมอสโกเหมือนกัน

แน่นอนทีเดียว ยังเป็นการเร็วเกินไปที่จะพูดว่ากำลังมีการขบคิดทบทวนกันใหม่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯกันแล้ว ทว่าคำปราศรัยที่ผ่านการขบคิดไตร่ตรองและเร้าความรู้สึกอย่างล้ำลึกของไบเดนเมื่อวันอังคาร (31 ส.ค.) เนื่องในวาระการสิ้นสุดของสงครามในอัฟกานิสถาน ก็เป็นการส่งสัญญาณที่ให้กำลังใจอย่างมากมาย เกี่ยวกับความจำเป็นอย่างเหลือเกินที่จะต้องขบคิดทบทวนอะไรกันใหม่

มั่นใจได้ว่า เรื่องการแข่งขันชิงดีกับจีน และเรื่องจำพวกยุทธศาสตร์ตอบโต้เพื่อเล่นงานรัสเซียนั้น ยังไม่น่าที่จะสูญสลายหายไปในชั่วเวลาข้ามคืนหรอก ทว่ามีความเป็นไปได้ว่าพวกแบบแผนวิธีการชนิดมุ่งประจันหน้าอาจจะถูกระงับเอาไว้

แต่สามารถพูดได้ว่า พวกสัญญาณที่เพิ่งปรากฏขึ้นมาเกี่ยวกับแนวทางความคิดใหม่ๆ ต่อจีน เป็นสิ่งที่ไม่ควรดูเบาไม่ควรประเมินให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ฝ่ายจีนก็จะรู้สึกได้ถึงแนวทางความคิดใหม่ๆ ดังกล่าวนี้ ตัวอย่างเช่น การติดต่อสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศทั้งสองได้เริ่มต้นขึ้นมาอย่างชนิดเป็นจริงเป็นจังแล้ว เริ่มตั้งแต่การไปเยือนจีนเมื่อเดือนกรกฎาคมของรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ เวนดี้ เชอร์แมน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://english.www.gov.cn/statecouncil/wangyi/202107/27/content_WS60ff59b2c6d0df57f98dda3f.html)

การเจรจากับ เคร์รี ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้วในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง หวัง ได้พูดจากับเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของสหรัฐฯ โดยที่เขาพากเพียรที่จะส่งข้อความออกไปถึงฝ่ายสหรัฐฯว่า ภายในวงโคจรของความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกันซึ่งต่างฝ่ายต่างเคารพในความกังวลสนใจของกันและกันนั้น ความร่วมมือกันและการประสานงานกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯก็จะมีความเป็นไปได้อย่างชนิดไร้ขีดจำกัดทีเดียว โดยไม่เพียงเฉพาะแค่ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีเท่านั้น หากแต่ในประเด็นปัญหาระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ในการสนทนากันทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน (ทั้งสองครั้งต่างเป็นการริเริ่มขึ้นมาของบลิงเคน) เมื่อเดือนที่แล้ว ท่ามกลางฉากหลังของพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอัฟกานิสถาน หวัง อี้ ได้เน้นย้ำถึงขนาดขอบเขตของความร่วมมือกันเพื่อให้เป็นผู้ชนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะเป็นการรับใช้ผลประโยชน์ต่างๆ ของทั้งสองประเทศและของโลกโดยรวม

ในการสนทนากับบลิงเคนครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม หวัง พูดอย่างเจาะจงว่าฝ่ายจีนมีความกังวลอย่างลึกซึ้งในเรื่องที่คณะบริหารไบเดนยังคงยึดถือให้เป็นไปตามความเคลื่อนไหวอย่างชวนให้โกรธเกรี้ยวของทรัมป์ ในเรื่องการลบชื่อ ขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan Islamic Movement) ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงชาวอุยกูร์ ออกจากบัญชีรายชื่อองค์การผู้ก่อการร้ายของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

รายงานข่าวของซินหัวทำให้กลายเป็นที่ปรากฏแก่สาธารณชนว่า บลิงเคนได้ให้ความมั่นใจอย่างเจาะจงว่า “ความแตกต่างกันดังกล่าวระหว่างทั้งสองฝ่าย ... สามารถที่จะค่อยๆ แก้ไขกันได้ในวิถีทางอันสร้างสรรค์ในเวลาไม่กี่วันที่จะมาถึง”

ในการสนทนาครั้งที่สองเมื่อวันที่ 30 เมษายน หวัง ย้ำว่า จีน “คัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่” ในการที่สหรัฐฯกำลังทำให้ประเด็นปัญหาการติดตามค้นหาต้นต่อที่มาของโรคโควิด-19 กลายเป็นเรื่องการเมืองไป โดยที่มีการบีบคั้นกดดันองค์การอนามัยโลก และบ่อนทำลายความสมานฉันท์ของประชาคมระหว่างประเทศในการต่อสู้กับโรคระบาดนี้ ตลอดจนความร่วมมือทางในทางวิทยาศาสตร์ในระดับโลกเพื่อติดตามค้นหาต้นตอที่มาดังกล่าว

การเดินทางเยือนจีนของ เคร์รี เกิดขึ้นในตอนปลายของการหารือแลกเปลี่ยน 2 นัดแรกเหล่านี้พอดี ข้อความที่ เคร์รี อาจจะถ่ายทอดไปถึง หวัง จะมีอะไรบ้าง เวลานี้ยังคงทำได้เพียงแค่คาดเดากันไป แต่สิ่งที่กระจ่างชัดเจนก็คือว่า หลังจากอัฟกานิสถานแล้ว สหรัฐฯกำลังจัดลำดับความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของตนเสียใหม่

ไบเดนแสดงให้ทราบถึงเรื่องนี้อย่างหลักแหลมคมคาย, อย่างรู้สึกเจ็บปวด, และอย่างทรงพลัง เมื่อเขากล่าวในคำปราศรัยของเขาวันอังคาร (31 ส.ค.) ว่า “เราเป็นชาติที่อยู่ในสงครามนานเกินไปแล้ว ถ้าคุณมีอายุ 20 ปีในวันนี้ คุณก็ไม่เคยรู้จักอเมริกาที่อยู่ในสันติภาพเลย

“สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดก็คือ เรามองเห็นมันในตัวเลขสถิติที่ชวนให้รู้สึกช็อกและชวนให้ตื่นตะลึง ซึ่งควรที่จะส่งผลให้เกิดการฉุกใจคิดขึ้นมาสำหรับใครก็ตามที่คิดว่าสงครามนั้นสามารถที่จะดำเนินไปเรื่อยๆ ในระดับต่ำๆ , ในความเสี่ยงต่ำๆ , หรือ ในค่าใช้จ่ายต่ำๆ นั่นคือ มีทหารผ่านศึก 18 คนโดยเฉลี่ย ซึ่งเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายในทุกๆ 1 วันในอเมริกา –ไม่ใช่ในสถานที่ไกลโพ้น แต่ที่นี่แหละในอเมริกานี่แหละ

“มันไม่มีหรอก ระดับต่ำๆ หรือ ความเสี่ยงต่ำๆ หรือค่าใช้จ่ายต่ำๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามครั้งไหน มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องยุติสงครามในอัฟกานิสถาน”

สามารถกล่าวได้ว่า เคร์รีได้ไปไกลเกินกว่าการหารือเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน และปักกิ่งก็ทำให้เป็นที่ชัดเจนว่าตนยินดีต้อนรับการหารือที่มีเนื้อหากว้างขวางยิ่งขึ้น เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษออกในฮ่องกง) รายงาน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3147259/china-drives-john-kerry-talks-beyond-climate-change-us) เอาไว้ในตอนเช้าวันพฤหัสบดี (2 ก.ย.) ว่า เคร์รียังได้เจรจาหารือกับ หาน เจิ้ง (Han Zheng) สมาชิกประจำของคณะกรรมการกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรองนายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบภาพรวมของเศรษฐกิจภายในประเทศของจีน

สิ่งสำคัญอีกจุดหนึ่งคือ เคร์รี ยังได้เจรจาหารือกับ สมาชิกของคณะกรรมการกรมการเมืองพรรค หยาง เจียฉือ (Yang Jiechi) ซึ่งเป็นนักการทูตอาวุโสที่สุดของจีนในเวลานี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://news.cgtn.com/news/2021-09-02/Yang-Jiechi-meets-U-S-climate-envoy-John-Kerry-13eytUnK6DS/index.html)

ดูเหมือนว่าแบบแผนวิธีการแบบมุ่งประจันหน้าจีน มีโอกาสสูงมากที่จะไม่ได้ไปต่อ ระหว่างสมัยการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของไบเดน ภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารแล้ว

ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับGlobetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย

จอห์น เคร์รี ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯด้านภูมิอากาศ กับ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน  ปรากฏภาพอยู่บนจอมอนิเตอร์คนละจอ ระหว่างการหารือผ่านวิดีโอลิงก์ ขณะที่ เคร์รีอยู่ในเมืองเทียนสิน ของจีนในวันพุธ (1 ก.ย)
กำลังโหลดความคิดเห็น