ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ แสดงความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมต่อนายพลระดับสูงรายหนึ่ง หลังถูกแฉว่าเขายกหูโทรศัพท์หาผู้บัญชาการทหารจีนถึง 2 ครั้ง พื่อยืนยันว่าอเมริกาจะไม่โจมตีจีนโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะจิตใจของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น
ไบเดน ตีกลับเสียงเรียงร้องจากรีพับลิกันที่ขอให้ไล่ พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ น.ย. ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ตามคำกล่าวหาบ่อนทำลายหลักการพลเรือนควบคุมหาร (civilian control of the military) จากการยกหูโทรศัพท์หาผู้บัญชาการทหารจีนครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2020 หรือ 4 วันก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 3 พ.ย. ที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ปีนี้ หรือ 2 วันหลังจากพวกผู้สนับสนุนทรัมป์ก่อเหตุบุกโจมตีอาคารรัฐสภา และหลังจากที่ทรัมป์ปลด มาร์ก เอสเปอร์ จากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม แถมแต่งตั้งลิ่วล้อของตัวเองหลายคนในตำแหน่งระดับสูง
เจน ซากี เลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชนของทำเนียบขาวบอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า "ประธานาธิบดีมีความมั่นใจอย่างเต็มที่ในความเป็นผู้นำของเขา ความรักชาติของเขาและความจงรักภักดีของเขาต่อรัฐธรรมนูญของเรา"
ในหนังสือเรื่อง “เพอริล” ที่เขียนโดย บ็อบ วูดเวิร์ด นักหนังสือพิมพ์มากประสบการณ์ กับโรเบิร์ต คอสตา ผู้สื่อข่าวของวอชิงตันโพสต์ และมีกำหนดวางแผงสัปดาห์หน้านั้น มิลลีย์ ซึ่งทรัมป์เป็นคนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่ปี 2018 ให้สัญญาว่า จะเตือนหลี่ จั้วเฉิง ผู้บัญชาการสำนักงานเสนาธิการทหารร่วมของคณะกรรมการการทหารส่วนกลางของจีน ก่อน ถ้าอเมริกาจะโจมตีจีน พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีเสถียรภาพและทุกอย่างจะต้องเรียบร้อย ท่ามกลางสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ณ ขณะนั้น
"ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมติดต่อเป็นประจำกับผู้บัญชาการทหารทั่วโลก ในนั้นรวมถึงกับจีนและรัสเซีย" โฆษกของมิลลีย์ระบุในถ้อยแถลง "เขาพูดคุยโทรศัพท์กับจีนและคนอื่นๆ ในเดือนตุลาคมและเดือนมกราคม ตามหน้าที่รับผิดชอบ ส่งสารสร้างความวางใจเพื่อธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพแห่งยุทธศาสตร์"
ทั้งนี้ ในหนังสือ “เพอริล” ให้รายละเอียดว่า มิลลีย์ และเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระดับสูงรายอื่นๆ แสดงความกังวลระหว่างเดือนตุลาคมปีที่แล้ว จนถึงวันที่ 20 มกราคมปีนี้ ว่า ทรัมป์ ที่ไม่สบอารมณ์จากความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้ง อาจเริ่มเปิดฉากความขัดแย้งกับจีนหรืออิหร่าน
ในหนังสือระบุด้วยว่า พวกเจ้าหน้าที่เพนตากอนเข้าใจว่าจีนอาจหวั่นกลัวถูกสหรัฐฯ โจมตี และอาจตีความผิดๆ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวต่างๆ ของอเมริกา อย่างเช่นแผนการซ้อมรบทางทหาร
เพื่อทำให้จีนเบาใจ มิลลีย์ ได้ต่อโทรศัพท์ถึง หลี่ เพื่อรับประกันกับเขาว่าสหรัฐฯ ไม่มีแผนโจมตีจีนโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีเสถียรภาพและทุกอย่างจะต้องเรียบร้อย
แต่ถึงกระน้้น ในหนังสือระบุว่า ความตึงเครียดในวอชิงตันลุกลามบานปลายขึ้น หลังทรัมป์พยายามเหนี่ยวรั้งอำนาจไว้ในช่วงต้นเดือนมกราคม และทาง มิลลีย์ ได้เรียกเจ้าหน้าที่อาวุโสหลายคนมารวมตัวกัน และให้สัตย์สาบานว่า หากทรัมป์สั่งปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ เขาจะต้องรับรู้ด้วย
พฤติกรรมดังกล่าวก่อข้อกล่าวหาจากสมาชิกรีพับลิกันว่า มิลลิย์ แย่งชิงอำนาจด้านคลังแสงนิวเคลียร์สหรัฐฯ ของประธานาธิบดี แต่ในเรื่องนี้ โฆษกของมิลลีย์ระบุว่า "การประชุมครั้งนั้นเป็นแค่การเตือนพวกผู้นำนำเพนตากอนเกี่ยวกับระเบียบขั้นตอนจริงจัง ที่กำหนดมาอย่างช้านานในด้านอาวุธนิวเคลียร์"
"นายพลมิลลีย์ เพียงแค่ดำเนินการแจ้งให้ทราบภายใต้กรอบอำนาจของเขา ตามธรรมเนียมกฎหมายพลเรือนควบคุมทหารและคำสาบานของเขาที่มีต่อรัฐธรรมนูญ" โฆษก กล่าว
มาร์โก รูบิโอ วุฒิสมาชิกรีพับลิกัน ส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกร้องให้ปลดมิลลีย์ เนื่องจากการกระทำตามที่เป็นข่าวบ่อนทำลายตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของประธานาธิบดี
ส่วน เท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกรีพับลิกันเช่นเดียวกัน กล่าวว่า รายงานข่าวนี้น่ากังวลอย่างยิ่ง และสิ่งแรกที่มิลลีย์ ควรทำคือตอบว่า เขาพูดอะไรกับผู้บัญชาการทหารจีน
ทว่า ดิ๊ก เดอร์บิน วุฒิสมาชิกเดโมแครต บอกว่า เขาไม่กังวลว่ามิลลีย์อาจดำเนินการเกินอำนาจหน้าที่ และเสริมว่า สมาชิกเดโมแครตหลายคนแสดงออกชัดเจนว่า ยังคงไว้วางใจว่า มิลลีย์สามารถทำให้ประเทศหลีกเลี่ยงหายนะที่รู้กันดีว่า อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ด้าน ทรัมป์ ออกมาโวยวายในวันอังคาร (14 ก.ย.) เรียก มิลลีย์ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย และกล่าวโทษเขาว่าเป็นต้นตอของปฏิบัติการถอนทหารสหรัฐฯ อันยุ่งเหยิงออกจากอัฟกานิสถานในเดือนสิงหาคม
"ผมรับประกันเลยว่าเขาจะถูกดำเนินคดีข้อหาชายชาติ ในสิ่งที่เขาพูดคุยเจรจากับผู้บัญชาการทหารจีนลับหลังประธานาธิบดี" ทรัมป์ระบุในถ้อยแถลง
(ที่มา : รอยเตอร์)