ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ร่วมรำลึกวาระครบรอบ 20 ปีโศกนาฏกรรมโจมตีสหรัฐฯ 11 กันยายน เมื่อวันเสาร์ (11 ก.ย.) เดินทางเยือนแต่ละจุดของเหตุการณ์จี้เครื่องบินพุ่งชนในปี 2001 ไว้อาลัยแด่เหยื่อหลายพันคนในเหตุโจมตีเลวร้ายครั้งนั้น
ในพิธีไว้อาลัยครั้งแรกของเขา ไบเดนยืนสงบนิ่งเคียงข้างอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาและบิล คลินตัน ที่นิวยอร์กซิตี จุดที่พวกก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งชนอาคารแฝด "เวิร์ดเทดเซ็นเตอร์" จนพังถล่ม
ผู้นำทั้ง 3 ขนาบข้างด้วยจิลล์ ไบเดน มิเชลล์ โอบามา และฮิลลารี คลินตัน ได้ร่วมยืนสงบนิ่งร่วมกับฝูงชนเป็นเวลา 1 นาที ตอน 8.46 น.(ตามเวลาท้องถิ่น) ซึ่งเป็นเวลาที่เครื่องบินลำแรกพุ่งชน โค้งคำนับรับฟังตอนที่ญาติๆ อ่านรายชื่อผู้เสียชีวิต
จากนั้น ไบเดน ก็บินไปยังแชงค์สวิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย ก่อนมุ่งหน้ากลับสู่พื้นที่วอชิงตัน ร่วมพิธีรำลึกที่เพนตากอน
ประชาชนเกือบ 3,000 คนเสียชีวิตในเหตุโจมตีในนิวยอร์ก เพนตากอนและเพนซิลเวเนีย จุดที่พวกผู้โดยสารบนเที่ยวบิน 93 ของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ช่วยกันต่อสู้กับพวกที่จี้เครื่องบินและทำให้เครื่องบินไปตกลงในทุ่ง ป้องกันอีกหนึ่งเป้าหมายจากการโจมตี
ไบเดน ไม่ได้กล่าวปราศรัยใดๆ ในพิธีรำลึกทั้ง 3 แต่ก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ (10 ก.ย.) เขาเผยแพร่วิดีโอแสดงความเสียใจแก่ครอบครัวที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และเน้นย้ำว่าอย่างน้อยๆ ในเบื้องต้นหลังเหตุการณ์ 9/11 ก็แสดงถึงพลังแห่งความสามัคคีของคนในชาติ
“พลังด้านมืดในธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ ความกลัวและความโกรธ ความเสียใจและความรุนแรงต่อชาวมุสลิมอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้มีความเชื่อถือศรัทธาอย่างแท้จริงต่อศาสนาแห่งสันติ” มีส่วนสั่นคลอนความเป็นเอกภาพของชาวอเมริกัน ทว่าไม่สามารถ “ทำลาย” มันลงได้
“สำหรับผมแล้ว นั่นคือบทเรียนที่สำคัญจากเหตุการณ์ 9/11” ไบเดน กล่าว
“ความเป็นเอกภาพไม่ได้หมายความว่าเราทุกคนต้องเชื่อในสิ่งเดียวกัน แต่เราต้องมีพื้นฐานความเคารพและศรัทธาทั้งต่อกันและกัน และต่อความเป็นชาติ” ไบเดนระบุ
ในวันเสาร์ (11 ก.ย.) ไบเดนกล่าวระหว่างเยือนสถานีดับเพลิงแห่งหนึ่ง หลังร่วมพิธีที่แชงค์สวิลล์ ว่า "แก่นกลางที่เราเป็นคือ ไม่แตกแยก"
ที่นิวยอร์ก รูดี จูเลียนี ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนิวยอร์กตอนที่เกิดเหตุโจมตี ได้เข้าร่วมพิธีด้วย แต่ไร้เงาของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งพื้นเพเป็นคนนิวยอร์ก
ส่วนที่แชงค์วิลล์ ประธานาธิบดีไบเดน เข้าร่วมในพิธีวางพวงหรีด ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติเที่ยวบินที่ 93 บริเวณที่รายชื่อผู้เสียชีวิตถูกสลักไว้บนกำแพงหินอ่อนสีขาว
สถานที่สุดท้ายที่ไบเดนเดินทางไปเยือนในวันเสาร์ (11 ก.ย.) คือเพนตากอน สัญลักษณ์ด้านการทหารของสหรัฐฯ ที่ถูกพวกก่อการร้ายจี้เครื่องบินอีกลำพุ่งชน
ไบเดนและภรรยา รวมถึงรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส และดักลาส เอ็มฮอฟฟ์ สามี สัมผัสพวงหรีดไว้อาลัย ณ จุดเกิดเหตุ สถานที่ซึ่งเก้าอี้นั่งแต่ละตัวถูกสร้างขึ้นมาเป็นตัวแทนของเหยื่อแต่ละรายทั้ง 184 คน พวกเขาจับมือกันและกัน และ ไบเดน ยกมือขึ้นมาทำท่าวันทยหัตถ์ตอนที่ปี่แตรบรรเลง
วาระครบรอบ 20 ปีวินาศกรรมสหรัฐฯ มีขึ้นไม่นานหลังจากสงครามในอัฟกานิสถานที่นำโดยอเมริกาสิ้นสุดลง หลังจากเมื่อ 20 ปีก่อน สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ยกพลบุกอัฟกานิสถานเพื่อขุดรากถอนโคนกลุ่มนักรบอัลกออิดะห์ ซึ่งอยู่เบื้อหลังเหตุโจมตี 9/11
ไบเดน ถอนทหารสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม หลายเดือนหลังจากผ่านเส้นตายที่กำหนดโดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผลคือประเทศแห่งนี้ตกไปอยู่ในเงื้อมมือของตอลิบานอย่างรวดเร็ว เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดจากสมาชิกของ 2 ฟากฝั่งทางการเมือง
บ่อยครั้งที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผ่านมามักเลือกเดินทางไปร่วมรำลึกเหตุการณ์ 9/11 เพียงแค่แห่งใดแห่งหนึ่ง และการเดินทางเยือนทั้ง 3 จุดในวันเดียวของไบเดน ถือว่าแปลกพอสมควร
ประธานาธิบดีไบเดน กล่าวในวิดีโอ เน้นว่าพบเห็นความกล้าหาญมากมายในช่วงเวลาหลายวันหลังเหตุโจมตีเมื่อ 20 ปีก่อน และ "เรายังเห็นบางอย่างที่หาได้ยากมาก นั่นก็คือสำนึกที่แท้จริงแห่งความสามัคคีของคนในชาติ"
ไบเดน จากพรรคเดโมแครต สัญญาว่าจะเสริมสร้างความสามัคคีหลังเข้ารับตำแหน่งในช่วงปลายเดือนมกราคม แต่ดูเหมือนว่าประเทศแห่งนี้ยังคงแตกแยกทางการเมืองอย่างรุนแรง
(ที่มา : รอยเตอร์)