เอเอฟพี – เฟอร์เดาซี คาดรี ( Firdausi Qadri ) นักวิทยาศาสตร์บังกลาเทศวัย 70 ปี กลายเป็น 1 ใน 5 ที่ถูกประกาศชื่อรับรางวัลแมกไซไซในปีนี้ซึ่งถือเป็นรางวัลโนเบลของภูมิภาคเอเชีย ประสบความสำเร็จสามารถพัฒนาวัคซีนทางปากที่มีต้นทุนต่ำเพื่อสู้กับโรคอหิวาตกโรคและโรคไข้ไทฟอยด์ได้สำเร็จ
เอเอฟพีรายงานวันนี้(31 ส.ค)ว่า เฟอร์เดาซี คาดรี ( Firdausi Qadri ) นักวิทยาศาสตร์บังกลาเทศวัย 70 ปีทำงานให้กับศูนย์ระหว่างประเทศด้านโรคอุจจาระร่วงประจำกรุงธากา ถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการพัฒนาวัคซีนต้นทุนต่ำเพื่อต่อสู้กับการระบาดโรคอหิวาตกโรค (cholera )และโรคไข้ไทฟอยด์ (typhoid) สถาบันแมกไซไซที่มีฐานอยู่ในกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์กล่าวผ่านแถลงการณ์
คาดรีกลายเป็น 1 ใน 5 ที่ถูกสถาบันประกาศชื่อในวันอังคาร(31)ว่าเป็นผู้ชนะรางวัลแมกไซไซในปีนี้ซึ่งถือเป็นรางวัลที่มีเกียรติสูงสุดและเทียบเท่ากับรางวัลโนเบลประจำภูมิภาคเอเชีย
นอกจากนี้ยังพบว่าคาดรีเป็นผู้ที่มีบทบาทในการแจกวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่ค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศที่เขตค็อกซ์ บาซาร์(Cox's Bazar)เพื่อป้องกันการระบาดโรคอหิวาตกโรคเมื่อไม่กี่ปีมาแล้ว
ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงเฉียบพลันและเป็นการระบาดผ่านอาหารและน้ำที่ไม่สะอาดมีการปนเปื้อน
นักวิทยาศาสตร์หญิงชั้นนำของบังกลาเทศรายนี้ถูกกล่าวขานว่ามีความพยายามในการสร้างสามารถทางการวิจัยวิทยาศาสตร์ในบังกาเทศให้แข็งแกร่ง
“ดิฉันรู้สึกเต็มตื้นมีความยินดีเป็นอย่างมากและรู้สึกถ่อมตน” คาดรีกล่าวผ่านแถลงการณ์ที่ถูกเผยแพร่โดยสถาบันแมกไซไซ
เอเอฟพีรายงานว่า สำหรับในปีนี้เป็นการจัดงานแบบทางออนไลน์และการจัดงานในปี 2020 ถูกยกเลิกไปเนื่องมาจากการระบาดโรคโควิด-19
และนอกเหนือจากคาดรีพบว่าผู้ชนะรางวัลอื่นได้แก่ นักพัฒนาชาวปากีสถาน มูฮัมหมัด อัมจาด ซาคิบ (Muhammad Amjad Saqib) วัย 64 ปีสำหรับโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รายย่อยแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนที่สามารถช่วยเหลือหลายล้านครอบครัว
โรเบอร์โต บาลลอน(Roberto Ballon) ชาวประมงฟิลิปปินส์วัย 53 ปีชนะรางวัลแมกไซไซในปีนี้เนื่องมาจากผลงานการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการประมงที่กำลังจะตายของเกาะมินดาเนาที่ซึ่งบ่อเลี้ยงปลาที่ถูกทิ้งทำลายป่าชายเลนฟิลิปปินส์
และด้วยการสนับสนุนของภาครัฐ ทั้งบาลลอนกลุ่มชาวประมงรายใหญ่อื่นๆร่วมกันปลูกป่าชายเลนจำนวน 1,235 เอเคอร์สำเร็จภายในปี 2015 เพิ่มการจับปลาและคุณภาพชีวิต
“จากสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนร้างของบ่อปลาที่ถูกทิ้งในเวลานี้ถูกเปลี่ยนแปลงขยายเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์พร้อมพรั่งไปด้วยสัตว์น้ำและสัตว์บก” สถาบันแมกไซไซกล่าวสดุดี
เอเอฟพีรายงานว่า มีชาวตะวันตกร่วมเป็นผู้ชนะรางวัลแมกไซไซในปีนี้ สตีเวน มันซีย์ (Steven Muncy) ผู้ก่อตั้งองค์กรเอ็นจีโอบริการครอบครัวและชุมชนระหว่างประเทศ( Community and Family Services International)ซึ่งมีฐานอยู่ในฟิลิปปินส์ เป็นผู้ชนะรางวัลเนื่องมาจากช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ให้การสนับสนุนผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติและนำอดีตทหารเด็กกลับเข้าสู่ชั้นเรียนในเอเชียสำเร็จ
และผู้ชนะรางวัลรายสุดท้ายที่ทรงเกียรตินี้ตกเป็นของผู้สร้างภาพยนต์สารคดีอินโดนีเซีย วอตช์ด็อค (Watchdoc)ที่ให้ความสนใจในด้านสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางสังคม และสิ่งแวดล้อมถูกยกย่องว่าเป็นผู้มีหลักการสูงส่งอย่างกล้าหาญสำหรับการเป็นสื่อสารมวลชนอิสระ เอเอฟพีรายงาน