ผลศึกษาระหว่างประเทศตอกย้ำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากฝีมือมนุษย์ทำให้เกิดอุทกภัยร้ายแรงที่มีผู้เสียชีวิตมากมายในเยอรมนี และเบลเยียมเมื่อปีที่แล้วถึง 9 ครั้ง และมีแนวโน้มเกิดขึ้นอีกหลายหน
ประชาชนอย่างน้อย 190 คนเสียชีวิตในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทางภาคตะวันตกของเยอรมนีเมื่อกลางเดือนที่แล้ว และอย่างน้อย 38 คน หลังฝนตกหนักในเขตวัลโลเนียทางใต้ของเบลเยียม
ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศสามารถเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากฝีมือมนุษย์กับสภาพอากาศเลวร้ายสุดขั้วบางอย่างได้มากขึ้นโดยใช้ศาสตร์การบ่งชี้ที่เฉพาะเจาะจง
ในการคำนวณบทบาทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อฝนที่ตกลงมาและทำให้เกิดน้ำท่วม นักวิจัยวิเคราะห์บันทึกข้อมูลสภาพอากาศและจำลองด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเปรียบเทียบสภาพภูมิอากาศปัจจุบันที่อุณหภูมิสูงกว่าในอดีตราว 1.2 องศาเซลเซียสอันเนื่องมาจากฝีมือมนุษย์
นักวิจัยมุ่งเน้นระดับน้ำฝนในวันเดียวและ 2 วัน และพบว่าพื้นที่ที่ฝนตกหนักมาก 2 แห่งมีหยาดน้ำฟ้าแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ในเขตอาร์และแอฟต์ของเยอรมนี พบปริมาณน้ำฝน 93 มิลลิเมตรในวันเดียวในวันที่อุณหภูมิพุ่งสูงระดับวิกฤต ส่วนเขตมูสของเบลเยียมพบปริมาณน้ำฝนสูงสุดทำสถิติที่ 106 มิลลิเมตรในช่วง 2 วันที่ฝนตก
นักวิจัยคำนวณว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.2-9 เท่าที่น้ำจะท่วมท่ามกลางสภาวะโลกร้อนขณะนี้ เทียบกับสถานการณ์ที่อุณหภูมิโลกไม่ได้สูงขึ้นนับจากยุคก่อนอุตสาหกรรม
รายงานที่จัดทำโดยเวิลด์ เวทเธอร์ แอตทริบิวชันระบุว่า ฝนที่ตกหนักขึ้น 3-19% ในเยอรมนีและเบเนลักซ์ขณะนี้เป็นผลจากภาวะโลกร้อนฝีมือมนุษย์
แฟรงค์ ไครเอนแคมป์ จากบริการสภาพอากาศในเยอรมนี ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มแนวโน้มที่จะมีฝนตกรวมทั้งระดับความรุนแรง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เฟรเดอริโก ออตโต ของสถาบันการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เสริมว่า น้ำที่ท่วมแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วก็ไม่ปลอดภัยจากผลกระทบรุนแรงของสภาพอากาศเลวร้ายที่เกิดขึ้นและเป็นที่รับรู้ว่า เลวร้ายลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงถือเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่โลกต้องรีบจัดการ
ผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันอังคาร (24 ส.ค.) สามารถประเมินแนวโน้มที่เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อเดือนที่แล้วจะเกิดขึ้นอีกจากการวิเคราะห์รูปแบบฝนทั่วยุโรปตะวันตก ซึ่งพบว่า อาจเกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้ในบางพื้นที่ทุกๆ 400 ปีในระดับอุณหภูมิปัจจุบัน หมายความว่า มีแนวโน้มเกิดน้ำท่วมรุนแรงระดับเดียวกับที่เยอรมนีและเบลเยียมทั่วยุโรปตะวันตกในกรอบเวลาดังกล่าว
มาร์เทน แวน อะแลสต์ ผู้อำนวยการศูนย์สภาพภูมิอากาศขององค์การกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยมากในอดีต แต่มีแนวโน้มจะเกิดบ่อยขึ้นในอนาคต
นักวิจัยมุ่งเน้นการเกิดฝนตกในการศึกษานี้ เนื่องจากข้อมูลระดับน้ำในแม่น้ำสูญหายไปหลังจากสถานีตรวจวัดหลายแห่งถูกน้ำท่วม
แวน อะลาสต์ ทิ้งท้ายว่า รายงานฉบับนี้เป็นสัญญาณเตือนทุกคนว่า จำเป็นต้องจัดการความเสี่ยงน้ำท่วม การเตรียมพร้อม และระบบเตือนภัยล่วงหน้า แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ดูเหมือนคนจะเตรียมพร้อมรับมือโดยคิดว่าเป็นภัยพิบัติครั้งสุดท้ายแล้ว
(ที่มา : เอเอฟพี)