รายงานยูเอ็นฉบับล่าสุด เตือนภาวะโลกร้อนเสี่ยงถึงระดับที่เกินควบคุม ย้ำขณะนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า โลกจะเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปอีกนานอย่างน้อยหลายสิบปี แม้ลงมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วนก็ตาม
รายงานจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ของสหประชาชาติฉบับล่าสุด ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (9 ส.ค.) ระบุว่า ตัวการสำคัญของปัญหาทั้งหมดคือมนุษย์ และเสริมว่า การเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจช่วยจำกัดผลกระทบได้บ้าง กระนั้นยังมีผลกระทบอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้นแล้วและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้
รายงานคาดหมายว่า คลื่นร้อน พายุเฮอร์ริเคนขนาดยักษ์ และสภาพอากาศสุดโต่งอื่นๆ จะรุนแรงขึ้น
อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ชี้ว่า รายงานฉบับนี้เป็นสัญญาณอันตรายสำหรับมนุษยชาติ และควรเป็นสัญญาณการสิ้นสุดสำหรับการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ตลอดจนถ่านหิน ก่อนที่เชื้อเพลิงเหล่านี้จะทำลายโลก
รายงานของไอพีซีซีที่อิงกับงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์กว่า 14,000 ชิ้น ให้ภาพที่ครอบคลุมและชัดเจนที่สุดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกกำลังทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
รายงานระบุว่า ถ้าไม่มีมาตรการขนาดใหญ่และดำเนินการทันทีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิโลกเฉลี่ยมีแนวโน้มแตะหรือเกินเกณฑ์ภาวะโลกร้อนที่ 1.5 องศาเซลเซียสภายในเวลา 20 ปี
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ แสดงความหวังว่า รายงานฉบับนี้จะเป็นสัญญาณเตือนให้ทั่วโลกลงมือทำทันที ไม่ต้องรอจนถึงการประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศซีโอพี26 ของยูเอ็นที่สกอตแลนด์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทวิตว่า การแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่อาจรอได้อีกต่อไป และราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเพิกเฉยยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
รายงานยังระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียสจากค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม และอาจขยับขึ้นอีก 0.5 องศาเซลเซียสหากไม่มีความพยายามในการลดผลกระทบจากมลพิษในบรรยากาศ ซึ่งเท่ากับว่า แม้เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่อุณหภูมิจะยังคงสูงขึ้นจากการสูญเสียมลพิษทางอากาศและการสะท้อนของความร้อนจากดวงอาทิตย์บางส่วน
อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเป็นระดับสูงสุดที่มนุษยชาติสามารถรับได้โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง
ทั้งนี้ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสที่บันทึกได้ เพียงพอทำให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ โดยในปีนี้คลื่นร้อนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนในแถบแปซิฟิกนอร์ทเวสต์ของอเมริกาเหนือ รวมทั้งอุณหภูมิยังร้อนจัดชนิดทำลายสถิติทั่วโลก
ในอีกด้านหนึ่ง ไฟป่าที่ยิ่งรุนแรงจากความร้อนและความแห้งแล้งกำลังแผ่ปกคลุมหลายเมืองในภาคตะวันตกของอเมริกา ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากป่าแถบไซบีเรีย และบีบให้ชาวกรีซต้องทิ้งบ้านหนีลงเรือเฟอร์รี
นอกจากนั้น ขณะนี้ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น แผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์จะยังคงละลาย “แทบจะแน่นอน” และทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นซึ่งจะสูงขึ้นต่อๆ ไปหากน้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น
รายงานสำทับว่า แม้จำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้นและช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ แต่เวลาของโลกกำลังจะหมดลง กล่าวคือ หากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในทศวรรษหน้า อุณหภูมิเฉลี่ยจะยังคงสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2040 และอาจสูงขึ้น 1.6 องศาเซลเซียสภายในปี 2060 ก่อนที่อุณหภูมิจะทรงตัว
แต่ถ้าโลกยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่คาดการณ์ปัจจุบัน อุณหภูมิอาจเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสในปี 2060 และ 2.7 องศาเซลเซียสเมื่อสิ้นศตวรรษ และสถานการณ์อาจเลวร้ายลง หากภาวะโลกร้อนทำให้เกิดวงจรป้อนกลับที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เช่น การละลายของชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) หรือการที่พืชพันธุ์ในป่าทั่วโลกประสบปัญหาตายจากยอดลงสู่โคนต้น (dieback)
ภายใต้สถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากเหล่านี้ อุณหภูมิโลกจะสูงกว่าระดับเฉลี่ยช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม 4.4 องศาเซลเซียสภายในช่วง 2 ทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษนี้
(ที่มา : รอยเตอร์)