สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านอับดุลเลาะห์แห่งมาเลเซีย ทรงมีพระราชประสงค์ให้ผู้ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องผ่านการลงมติสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยืนยันถึงการมีเสียงข้างมาก
นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน ได้กราบบังคมทูลฯ ลาออกพร้อมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 ส.ค.) โดยยอมรับว่าสูญเสียเสียข้างมากในสภา ทว่ายังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้นำรัฐบาลคนใหม่
ตลอดระยะเวลา 17 เดือนที่บริหารประเทศ มูห์ยิดดิน ไม่เคยเผชิญการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาเลยแม้แต้ครั้งเดียว ทั้งที่มีกระแสเรียกร้องจากฝ่ายค้าน
การลาออกของ มูห์ยิดดิน ส่งผลให้มาเลเซียต้องเผชิญกับวิกฤตการเมืองครั้งใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยอดผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูง บวกกับสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาจากผลกระทบของโรคระบาดใหญ่
เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองใดครองเสียงข้างมากในสภาเวลานี้ การเลือกนายกรัฐมนตรีจึงต้องใช้วิธีเสนอชื่อบุคคลที่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ส่วนใหญ่
สมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซียทรงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยทรงให้เวลาแก่สภาผู้แทนราษฎรจนถึง 16.00 น. ของวันนี้ (18) เพื่อเสนอชื่อบุคคลที่พวกเขาเห็นว่ามีความเหมาะสม
สำนักพระราชวังมาเลเซียแถลงว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต่อสมเด็จพระราชาธิบดีจะต้องเข้าสู่กระบวนการโหวตในสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุด เพื่อ “ยืนยันถึงการมีเสียงข้างมากในสภาโดยชอบธรรม”
สมเด็จพระราชาธิบดีจะทรงหารือร่วมกับบรรดาเชื้อพระวงศ์ระดับสูงในวันศุกร์ (20) เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และยังไม่ชัดเจนว่าการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะมีขึ้นหลังจากนั้นหรือไม่
บุคคลที่หลายฝ่ายจับตามองว่าเป็นเต็ง 1 ว่าที่นายกฯ คนใหม่ก็คือ อิสมาอีล ซาบรี ยาคอบ (Ismail Sabri Yaakob) รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักการเมืองในสังกัดพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) โดยอิสมาอีล ซาบรี เคยเป็นรัฐมนตรีอาวุโสฝ่ายความมั่นคง และเพิ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
สื่อมาเลเซียอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่พรรคอัมโนซึ่งระบุว่า เขาได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ส่วนใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาลของมูห์ยิดดิน ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านคนดังอย่าง “อันวาร์ อิบราฮิม” ก็ยังไม่ล้มเลิกความพยายามที่จะระดมเสียง ส.ส.เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน
ที่มา : รอยเตอร์