การที่ตอลิบานเข้ายึดครองอัฟกานิสถานได้ทั่วประเทศอย่างรวดเร็วน่าตื่นตะลึง เป็นผลลัพธ์ซึ่งเกิดขึ้นมาไม่เพียงเนื่องจากความเข้มแข็งในสมรภูมิของพวกเขา หากแต่ยังมาจากการสร้างแรงกดดันให้ฝ่ายตรงข้ามยอมแพ้ และการเจรจาต่อรองทำข้อตกลงกับฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยอีกด้วย
กลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มนี้ผสมผสานการข่มขู่คุกคามและการโน้มน้าวล่อใจ เข้ากับการโฆษณาชวนเชื่อและการทำสงครามจิตวิทยา ขณะที่พวกเขาเข้ายึดเมืองเอกของจังหวัดต่างๆ ได้แห่งแล้วแห่งเล่า บางเมืองก็ตีได้โดยแทบไม่ต้องยิงปืนสักนัด จนกระทั่งในที่สุดก็สามารถยึดนครหลวงคาบูลได้สำเร็จ
เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ทำไมกองทัพอัฟกันจึงไม่สู้รบกับตอลิบานด้วยความเข้มแข็ง อย่างที่คาดหมายกันไว้?
ขณะที่กองทหารต่างชาตินำโดยสหรัฐฯ เริ่มต้นการถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานในระยะสุดท้ายเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งวอชิงตันและคาบูลต่างมีความมั่นอกมั่นใจว่ากองทัพอัฟกันจะสามารถสู้รบอย่างแข็งแกร่งกับตอลิบาน
ด้วยกำลังพลมากกว่า 300,000 คน และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งไฮเทคล้ำสมัยกว่าที่มีอยู่ในคลังแสงฝ่ายตอลิบานเยอะ กองทัพอัฟกานิสถานจึงน่าเกรงบาม –เมื่อมองดูจากแผ่นกระดาษ
แต่ในความเป็นจริง กองทัพนี้ถูกรังควาญและกัดกร่อนทั้งด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น, การที่พวกผู้นำกองทัพอ่อนปวกเปียก, การขาดการฝึกฝน, และขวัญกำลังใจตกต่ำลงเรื่อยๆ มาเป็นแรมปีแล้ว การหนีทัพนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยจนถือเป็นเรื่องธรรมดา และพวกผู้ตรวจการของรัฐบาลสหรัฐฯได้เตือนเอาไว้นานเต็มทีแล้วว่า กองกำลังอาวุธนี้จะยันข้าศึกเอาไว้ได้ไม่นาน
ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมากองทัพอัฟกันออกศึกสู้รบต้านทานตอลิบานได้อย่างเข้มแข็งในบางพื้นที่ เป็นต้นว่า ที่เมืองลัชการ์ กาห์ ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ โดยที่ตอนนั้นยังคงได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯทั้งในเรื่องการถล่มโจมตีทางอากาศและความสนับสนุนทางทหารอย่างอื่นๆ ทว่าในเวลานี้พวกเขาต้องเผชิญกับตอลิบานโดยไม่มีการหนุนหลังดังกล่าวเสียแล้ว
เมื่อต้องเผชิญกับกองกำลังอาวุธข้าศึกที่มีขนาดเล็กกว่า ทว่ามีขวัญกำลังใจดีและมีการเกาะเกี่ยวกันอย่างแข็งแรง ทหารจำนวนมากในกองทัพอัฟกานิสถาน และกระทั่งหน่วยทหารทั้งหน่วยทีเดียว ก็เลือกที่จะหนีทัพหรือยอมจำนนเอาง่ายๆ ปล่อยให้กลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มนี้เข้ายึดเมืองเอกของจังหวัดต่างๆ ได้แห่งแล้วแห่งเล่า
ตอลิบานฉวยใช้ประโยชน์จากขวัญกำลังใจที่ตกตกต่ำของกองทัพอัฟกันอย่างไรบ้าง ?
กล่าวได้ว่าเมล็ดพันธุ์แห่งการพังทะลายได้ถูกหว่านเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อวอชิงตันในยุคคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในข้อตกลงฉบับหนึ่งกับตอลิบาน โดยให้สัญญาว่าจะถอนทหารอเมริกันทั้งหมดออกไปจากอัฟกานิสถาน
สำหรับตอลิบานแล้ว นี่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งชัยชนะของพวกเขาภายหลังทำสงครามมาเกือบๆ 20 ปี ขณะที่สำหรับชาวอัฟกันที่เสียขวัญจำนวนมาก นี่คือการทรยศหักหลังของอเมริกัน และการถูกอเมริกันทอดทิ้ง
ตอลิบานยังคงเข้าโจมตีกองกำลังฝ่ายรัฐบาลต่อไป แต่พร้อมๆ กันนั้นก็เริ่มผสมผสานด้วยการสังหารเป้าหมายที่พวกเขาเล็งเอาไว้ ทั้งพวกสื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษย์ เป็นการโหมกระพือบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว
พวกเขายังผลักดันแพร่กระจายเรื่องเล่าที่ว่า ตอลิบานจะต้องได้รับชัยชนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เอาไว้ในการโฆษณาชวนเชื่อและในการปฏิบัติการจิตวิทยาของพวกเขา
มีรายงานว่าในบางพื้นที่ พวกทหารรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นถูกกระหน่ำใส่ด้วยข้อความเท็กซ์แมสเซจ กระตุ้นรบเร้าให้พวกเขายอมจำนนหรือไม่ก็ร่วมมือกับตอลิบาน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องประสบชะตากรรมที่เลวร้ายลงกว่านี้
จำนวนมากได้รับข้อเสนอว่าจะออกไปจากสมรภูมิได้อย่างปลอดภัย ถ้าหากพวกเขาไม่เข้าสู้รบอย่างเข้มแข็ง เวลาเดียวกันนี้ยังมีคนอื่นๆ ที่ถูกเกลี้ยกล่อมโดยผ่านทางผู้อาวุโสของชนเผ่าและของหมู่บ้าน
เกิดอะไรขึ้นกับพวกขุนศึกต่อต้านตอลิบานตลอดจนกองกำลังของพวกเขา ที่ตอนแรกทำท่ามุ่งมั่นสู้รบไปจนถึงที่สุด ?
เมื่อกองกำลังฝ่ายรัฐบาลอัฟกันไม่สามารถหยุดยั้งการรุกคืบอย่างรวดเร็วของตอลิบานได้ เหล่าขุนศึกรุ่นเก่าๆ ของอัฟกานิสถานจำนวนมาก ทั้งที่ในอดีตมีชื่อเสียงด้านการสู้รบ และมีความฉาวโฉ่เรื่องความโหดเหี้ยม ต่างระดมกองกำลังอาวุธของพวกเขาออกมา และให้สัญญาจะสู้รบอย่างถึงเลือดถึงเนื้อกับตอลิบาน ถ้าหากกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มนี้บุกโจมตีเมืองของพวกเขา
แต่เมื่อความมั่นอกมั่นใจเกี่ยวกับความสามารถที่จะอยู่รอดต่อไปได้ของรัฐบาลอัฟกานิสถาน หล่นฮวบลงมาเรื่อยๆ โดยยังไม่ต้องพูดถึงการสกัดกั้นตอลิบานให้อยู่หมัด ชะตากรรมก็ดูจะถูกลิขิตเอาไว้แล้วสำหรับขุนศึกเหล่านี้
ลงท้ายเมืองของพวกเขาก็แตกโดยแทบไม่มีการสู้รบ ขุนศึกอิสมาอิล ข่าน ในเมืองเฮรัต ที่อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ ถูกตอลิบานจับตัวได้ขณะเมืองแห่งนั้นแตกพ่าย
อับดุล ราชิด ดอสตุม และ อัตตา โมฮัมหมัด นูร์ ในภาคเหนือ พากันหลบหนีไปอุซเบกิสถาน ขณะที่สมาชิกกองกำลังอาวุธของพวกเขาทอดทิ้งทั้งรถฮัมวี, อาวุธยุทโธปกรณ์, และกระทั่งเครื่องแบบของพวกเขา บนถนนขาออกไปจากเมืองมาซาร์อีชาริฟ
แต่ทำไมตอลิบานจึงสามารถตีทั้งประเทศได้อย่างรวดเร็วขนาดนี้ ?
มีรายงานว่า ตอลิบานเริ่มยื่นข้อเสนอเจรจาต่อรองและให้ยอมจำนน ต่อเป้าหมายของพวกเขา นานทีเดียวก่อนที่พวกเขาจะเปิดฉากการรุกโจมตีสายฟ้าแลบของพวกเขาในเดือนพฤษภาคม
ตั้งแต่ทหารเป็นรายบุคคลและพวกเจ้าหน้าที่ระดับล่าง จนกระทั่งดูเหมือนไปถึงระดับผู้ว่าการจังหวัดและรัฐมนตรีต่างๆ ด้วยซ้ำ กลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มนี้จะกดดันให้มาเจรจาทำข้อตกลงกัน --ในเมื่อตอลิบานยังไงก็จะต้องชนะอยู่แล้ววันยังค่ำ จะมาสู้รบอย่างเอาเป็นเอาตายไปทำไม?
ยุทธศาสตร์เช่นนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าได้ผลทรงประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง
ภาพต่างๆ ที่ได้เห็นกันในตอนที่พวกเขาเคลื่อนทัพเข้าคาบูล ไม่ใช่เต็มไปด้วยซากศพ
ตามสองข้างถนนและสมรภูมิเลือดนองท่วม แต่เป็นการที่ตอลิบานและพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลกำลังนั่งกันอย่างสบายอกสบายใจบนโซฟา ขณะที่พวกเขาทำพิธีรับ-ส่งมอบเมืองต่างๆ และจังหวัดต่างๆ ให้กันอย่างเป็นทางการ
ในงานประเมินสถานการณ์ฉบับหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งพวกสื่อรายงานข่าวกันช่วงไม่ถึง 1 เดือนก่อนคาบูลแตก ระบุว่ารัฐบาลอัฟกันอาจจะพังครืนลงใน 90 วัน
แต่ทันทีที่ตอลิบานยึดเมืองเอกระดับจังหวัดแห่งแรกเอาไว้ได้ พวกเขาใช้เวลาอีกแค่ 10 วันเท่านั้น ก็ตีได้ทั่วประเทศแล้ว
(เก็บความจากเรื่อง How did the Taliban take over Afghanistan so quickly? ของสำนักข่าวเอเอฟพี)