หลังเผชิญการรุกคืบรวดเร็วเกินคาดหมายของตอลิบาน สหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (12 ส.ค.) ตัดสินใจลดขนาดสถานทูตอเมริกาประจำกรุงคาบูลลงอย่างมาก และส่งทหาร 3,000 นาย เป็นการชั่วคราวเข้าช่วยเหลืออพยพเจ้าหน้าที่ ในขณะที่ทางสถานทูตเองเร่งเร้าให้พลเมืองสหรัฐฯ ที่พำนักอยู่ในอัฟกานิสถาน เดินทางออกนอกประเทศในทันที ถึงขั้นให้ยืมเงินซื้อตั๋วเครื่องบินถ้าจำเป็น
ข่าวคราวการลดขนาดสถานทูตสหรัฐฯ ตอกย้ำว่า ความปรารถนาของสหรัฐฯ ที่หวังเห็นแนวทางด้านการทูตจะช่วยหยุดการรุกคืบของตอลิบานและรักษาเมืองหลวงของอัฟกานิสถานให้อยู่ในมือของฝ่ายรัฐบาลต่อไปนั้น กำลังเลือนรางลงไปทุกขณะ ท่ามกลางคำประเมินของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ว่า พวกตอลิบานอาจสามารถโดดเดี่ยวกรุงคาบูลได้ภายใน 30 วัน และยึดครองเมืองหลวงแห่งนี้ใน 90 วัน
"เราประเมินสถานการณ์ความมั่นคงในทุกๆ วัน เพื่อสรุปหาหนทางที่ดีที่สุดในการปกป้องความปลอดภัยแก่บุคคลที่ทำหน้าที่ในสถานทูต" เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯกล่าว อย่างไรก็ตาม เขาเน้นย้ำว่ายังไม่ถึงขั้นปิดสถานทูต แม้สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดระบุไม่มีคำรับประกันว่าสถานทูตจะยังคงเปิดทำการต่อไป
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านความั่นคงระดับสูงด้านอัฟกานิสถานในวันพฤหัสบดี (12 ส.ค.) และยอมรับคำแนะนำของพวกเขา ออกคำสั่งลดขนาดสถานทูต รอยเตอร์รายงานอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับสถานการณ์
แหล่งข่าวระบุว่า การตัดสินใจอยู่ในประเทศแห่งนี้ต่อไปอาจเป็นการบังคับให้ต้องมีทหารสหรัฐฯ มากขึ้นร่วมสู้รบในสงครามกลางเมืองอัฟกานิสถาน สวนทางกับยุทธศาสตร์ปัจจุบันที่สหรัฐฯ กำลังหาทางยุติภารกิจทางทหารในอัฟกานิสถาน ราว 20 ปีหลังจากยกพลบุกตอบโต้เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001
กระนั้นการตัดสินใจลดขนาดสถานทูตได้ก่อข้อสงสัยใหม่ในยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่เคยต้องการมีอิทธิพลในกระบวนการสันติภาพของอัฟกานิสถาน ด้วยการคงไว้ซึ่งความช่วยเหลือและบุคลากรทางการทูต แม้ได้ถอนกำลังทหารออกไปแล้ว
เจ้าหน้าที่รัฐบาลยืนยันไม่ได้ปรับเปลี่ยนกรอบเวลาการถอนทัพ แม้ว่าไบเดน ออกคำสั่งให้เสริมทหารเข้าไปยังอัฟกานิสถานเพื่อช่วยคุ้มกันการเดินทางออกมาของบุคลากรที่เป็นพลเรือน และคาดหมายว่าทหารชุดแรกจะถูกส่งเข้าประจำการที่สนามบินในกรุงคาบูล ภายใน 24 ถึง 48 ชั่วโมง จากการเปิดเผยของจอห์น เคอร์บี โฆษกของเพนตากอน
นอกจากนี้แล้ว ทหารสหรัฐฯ อีก 3,500 นายจากฐานทัพฟอร์ตแบรกก์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ถูกสั่งให้เตรียมพร้อมสำหรับถูกส่งเข้าไปยังภูมิภาคหากสถานการณ์เลวร้ายลง เช่นเดียวกับบุคลากรอีก 1,000 นาย ที่จะช่วยอพยพชาวอัฟกานิสถานหลายหมื่นคนซึ่งเคยให้ความช่วยเหลือแก่กองกำลังสหรัฐฯ ผ่านกระบวนการคนเข้าเมืองพิเศษ
ทั้งนี้ รอยเตอร์ระบุว่า เป็นเรื่องปกติที่กองทัพสหรัฐฯ จะส่งทหารเข้าอพยพบุคลากรออกจากเขตสู้รบ
"ผมไม่รู้ว่าเราเหลือทางเลือกมากน้อยแค่ไหน" โรนัลด์ นอยมันน์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอัฟกานิสถานระหว่างปี 2005 ถึง 2007 พูดถึงการตัดสินใจลดขนาดสถานทูต "ยังเหลืออะไรอยู่บ้างระหว่างคาบูลกับตอลิบาน?"
ว่ากันว่ามีเจ้าหน้าที่ยังอยู่ในสถานทูตสหรัฐฯ ประจำคาบูลราวๆ 1,400 คน และเจ้าหน้าที่ระบุว่าจะมีการลดจำนวนบุคลากรลงอย่างมาก
แม้ภารกิจด้านการทหารของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานมีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม แต่ทหารอเมริการาวๆ 650 นาย จะยังคงอยู่ในประเทศนี้ต่อไป เพื่อปกป้องสนามบินและสถานทูต
ท่ามกลางการรุกคืบอย่างรวดเร็วของตอลิบาน ในพฤหัสบดี (12 ส.ค.) สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงคาบูล ยังได้เร่งเร้าพลเมืองอเมริกันทุกคนให้เดินทางออกจากอัฟกานิสถานในทันที ถึงขั้นเสนอให้ยืมเงินสำหรับซื้อตั๋วเครื่องบินถ้าจำเป็น
"สถานทูตสหรัฐฯ เรียกร้องพลเมืองสหรัฐฯ ให้ออกจากอัฟกานิสถานในทันที โดยใช้ทางเลือกเครื่องบินพาณิชย์ทุกทางเลือกที่มี" ประกาศเตือนด้านความปลอดภัยของสถานทูตระบุ พร้อมเผยว่า ทางสถานทูตเสนอให้ชาวอเมริกันชนที่ไม่มีเงินซื้อตั๋วเครื่องบินบินกลับบ้านยืมเงิน และจะช่วยเหลือด้านวีซ่าคนเข้าเมืองแก่สมาชิกในครอบครัวที่เป็นชาวต่างชาติ
(ที่มา : รอยเตอร์/รัสเซียทูเดย์)