xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอนุมัติปล่อยตัว ‘ลี แจยอง’ ทายาทซัมซุงภายใต้ทัณฑ์บน-จ่อพ้นคุกวันศุกร์นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลี แจยอง รองประธานซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องโทษจำคุก 2 ปีครึ่ง ฐานทุจริตจ่ายสินบน ยักยอกทรัพย์ และอื่นๆ ได้รับอนุญาตปล่อยตัวภายใต้เงื่อนไขทัณฑ์บน และคาดว่าจะออกจากเรือนจำในวันศุกร์นี้ (13 ส.ค.)

กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้แถลงเมื่อวันจันทร์ (9) ว่า “การตัดสินใจให้ ลี แจยอง รองประธานซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับทัณฑ์บน เป็นผลมาจากการพิจารณาทบทวนหลายๆ ปัจจัย เช่น ความรู้สึกของสาธารณชน และพฤติกรรมที่ดีของเขาระหว่างถูกคุมขัง”

ลี วัย 53 ปี ถูกดำเนินคดีฐานจ่ายสินบนให้แก่เพื่อนหญิงคนสนิทของอดีตประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย และถูกศาลสั่งจำคุกครั้งแรกเป็นเวลา 5 ปี เมื่อปี 2017 ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในปีถัดมาเนื่องจากศาลอุทธรณ์ยกฟ้องเกือบทุกข้อหาในคดีจ่ายสินบน ส่วนความผิดอื่นๆ ก็ให้รอลงอาญา

ต่อมา ศาลสูงสุดเกาหลีใต้ได้สั่งรื้อคดีขึ้นมาใหม่ ทำให้เรื่องถูกตีกลับไปยังศาลชั้นต้น ซึ่งได้พิพากษาจำคุก ลี เป็นเวลา 2 ปีครึ่งเมื่อต้นปีนี้

อีกหนึ่งปัจจัยที่นำมาสู่คำสั่งปล่อยตัว ลี แจยอง ก็คือ กระแสเรียกร้องจากประชาคมธุรกิจและการเมืองเกาหลีใต้ที่เกรงว่าการที่ ลี ถูกจำคุกอาจส่งผลต่อการตัดสินใจในเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของซัมซุง และจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

แม้การดำเนินธุรกิจรายวันของซัมซุงซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปและสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลกจะไม่ได้รับผลกระทบจากการหายไปของ ลี แต่แหล่งข่าวในบริษัทยอมรับว่า การลงทุนสำคัญๆ รวมไปถึงการควบกิจการ (M&A) เป็นสิ่งที่ใครอื่นจะตัดสินใจแทน ลี ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกสถานที่ตั้งโรงงานผลิตชิปในสหรัฐฯ มูลค่าการลงทุน 17,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งยังต้องรอบอสใหญ่รายนี้กลับมาสั่งการ ท่ามกลางภาวะขาดแคลนชิปในตลาดโลก รวมไปถึงการแข่งขันที่ดุเดือดจากบริษัทคู่แข่งอย่าง ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ เมนูแฟกเจอริง โค (TSMC) และ อินเทล คอร์ป

ทั้งนี้ ลี ยังจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมให้กลับมาทำงานในซัมซุง เนื่องจากฎหมายเกาหลีใต้นั้นห้ามมิให้บุคคลที่ต้องโทษบางอย่างกลับมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับความผิดของตนเองเป็นเวลา 5 ปี

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเชื่อว่า ลี น่าจะได้รับอนุญาต เนื่องจากมีการจ่ายคืนวงเงินที่ถูกกล่าวหาว่ายักยอกไปแล้ว ขณะที่ทางซัมซุงเองปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้

แม้ผลสำรวจความคิดเห็นจะพบว่าประชาชน 70% สนับสนุนให้ ลี ได้ทำทัณฑ์บน แต่ยังมีเสียงคัดค้านจากองค์กรภาคพลเรือนที่มองว่า รัฐบาลประธานาธิบดีมุน แจอิน กำลังใช้ความยุติธรรมแบบ “2 มาตรฐาน” เมื่อคนที่ฉ้อโกงเป็นมหาเศรษฐีหรือผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

ที่มา : รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น