xs
xsm
sm
md
lg

เลบานอนเผชิญวิกฤตขั้นหายนะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


ประธานาธิบดีมิเชล อูน แห่งเลบานอน
เลบานอนกำลังเผชิญรุนแรงจนถึงขั้นล่มสลายด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม มีผู้คนอดอยากหนักจากปัญหาการขาดแคลนทุกด้าน ทั้งยา ไฟฟ้า พลังงาน รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค คนไม่มีงานทำ ขาดรายได้ ไม่มีจะกิน รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ถือว่าเป็นประเทศที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงจุดหนึ่งของโลกในรอบ 100 ปี เพราะค่าเงินปอนด์เลบานอน เมื่อเทียบค่ากับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ มีเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ นับวันจะไม่เพียงพอสำหรับซื้ออาหารการกิน และยังจะเลวร้ายลง

ชายคนหนึ่งรำพันว่าเคยมีรายได้ต่อเดือน 2 พันดอลลาร์สหรัฐ เมื่อค่าเงินปอนด์เลบานอนลดลง เงินเดือนที่ได้รับในปัจจุบันมีค่าเหลือเพียง 250 ดอลลาร์เท่านั้น

แต่ละวันประชาชนเดินขบวนประท้วงรัฐบาลตามถนน รถยนต์เข้าคิวเป็นชั่วโมงกว่าจะได้เติมน้ำมัน ร้านขายยาไม่มียาจำเป็น แต่ละวันมีไฟฟ้าไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทางเลือกสำหรับองค์กรต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลต้องใช้เครื่องปั่นไฟใช้เอง และมีปัญหาไม่มีน้ำมันเติม

เลบานอนเคยเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของตะวันออกกลาง กรุงเบรุตเมืองหลวงได้รับฉายาว่าเป็นปารีสตะวันออก เคยเฟื่องฟูด้านการเงิน การท่องเที่ยวในภูมิภาค หลังจากสงครามกลางเมืองในช่วงปี 1970-80 เลบานอนไม่มีโอกาสได้ฟื้นตัวอย่างจริงจัง

หลังจากการระเบิดของโกดังบรรจุสารแอมโมเนียมไนเตรทในปี 2020 ทำให้เมืองเบรุตเสียหาย ประชาชนหลายแสนคนประสบเคราะห์กรรมบ้านที่อยู่อาศัยพัง ไม่มีเงินซ่อมแซม ถึงมีเงิน ก็ไม่มีวัสดุก่อสร้างเพียงพอ เพราะสินค้าทุกอย่างขาดแคลน

ประชาชนที่มีฐานะอยู่ได้ไม่ลำบากมากนัก บางส่วนอพยพไปอยู่ต่างประเทศ ครึ่งหนึ่งของประชาชนที่เหลือในประเทศ ไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้ออาหารยังชีพ คาดว่าจำนวนประชาชนที่อยู่ในความยากจนถึงขั้นล้มละลายมีมากประมาณ 2 ล้านคน

ยังไม่มีหนทางออกสำหรับเลบานอนที่มีปัญหาซับซ้อนเรื้อรัง หยั่งรากลงลึกด้านโครงสร้าง มีทั้งปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน นักการเมือง คนระดับบนต่างไม่ใส่ใจกับวิกฤตที่เป็นอยู่ แม้แต่ธนาคารเอกชนยังให้รัฐบาลกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูง

ทั้งยังมีปัญหาแชร์ลูกโซ่ระบาด รัฐบาลเปลี่ยนมือ ขาดความต่อเนื่องในการบริหารประเทศซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาสถาบันการเงินจากนานาชาติเพื่อกอบกู้ฟื้นฟูสถานภาพ หลังจากการยื้อเรื่องอำนาจการเมือง ประเทศเพิ่งได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่

ประชาชนได้เดินขบวนเรียกร้องให้มีผู้นำประเทศจากกลุ่มที่ไม่ได้มาจากระดับบนของสังคม เพื่อฟื้นฟูประเทศ แต่สภาผู้แทนได้เลือกนายนาจิบ มิคาติ ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้าน เคยเป็นผู้นำประเทศมาก่อนถึง 2 สมัย ทั้งไม่ประสบความสำเร็จ

ซ้ำร้าย มิคาติยังได้ถูกกล่าวหาโดยอัยการในปี 2019 ว่ามีพฤติกรรมยักยอกทรัพย์ ซึ่งมิคาติปฏิเสธ และอ้างว่าเป็นข้อกล่าวหาโดยมีความเกี่ยวโยงกับการเมือง การเลือกคนร่ำรวยที่สุดในประเทศมาเป็นผู้นำ ถูกมองว่าไม่ใช่ทางเลือกที่ประชาชนต้องการ

ดังโอกาสที่ผู้นำคนใหม่จะช่วยประเทศให้รอดจากหายนะได้จึงดูริบหรี่มาก

นั่นหมายถึงโอกาสที่จะปฏิรูปประเทศก็เป็นไปได้ยาก เป็นรัฐที่ไม่สามารถบริหารจัดการหรือปกครองได้ ประชาชนไม่มีความหวังที่จะรอดพ้นจากหายนะ

วิกฤตของเลบานอนด้านเศรษฐกิจและการเงินเริ่มในปี 2019 และเลวร้ายลงตามลำดับ จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นรวดเร็วในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สถานการณ์อยู่นอกเหนือการควบคุมพร้อมทั้งความขาดแคลนทุกด้านที่จำเป็นสำหรับการยังชีพ

อัตราเงินเฟ้อทะยานสูงรวดเร็วเกินกว่าที่ประชาชนจะปรับตัวได้ ผู้นำรัฐบาลคนใหม่นับเป็นคนที่ 3 ต่อจากนายฮัสซัน เดียบ หลังจากได้ลาออกเมื่อเกิดเหตุระเบิดที่ท่าเรือ จากนั้นก็เป็นรักษาการมาโดยตลอด ทำให้ระบบทุกอย่างกลายเป็นอัมพาต

ประชาคมนานาชาติ นำโดยฝรั่งเศสและกลุ่มประชาคมยุโรป ได้จัดเงินช่วยเหลือจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์โดยมีเงื่อนไขให้เลบานอนได้ปฏิรูปทุกภาคส่วนของรัฐบาล และผู้นำซึ่งต้องผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารปกครองขั้นพื้นฐาน

ที่สำคัญ มีเงื่อนไขให้มีการควบคุม ปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังเพื่อให้องค์กรของรัฐได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นที่พึ่งพาได้ของประชาชน

นายกฯ มิคาติเพิ่งได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากว่าที่นายกฯ นายซาอัด ฮารีรี ได้พ่ายแพ้ในศึกชิงอำนาจการเมืองกับประธานาธิบดีมิเชล อูน จากนี้ไป มิคาติต้องแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งต้องเป็นที่ยอมรับโดยนายอูน

ที่สำคัญ ครม.ชุดใหม่ต้องได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ ซึ่งได้ให้การช่วยเหลือและบริจาคเงินเพื่อฟื้นฟูประเทศ ประเทศเหล่านั้นมีเงื่อนไขว่าจะไม่ช่วยเหลือถ้าไม่สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายต่างๆ มีความโปร่งใสในการบริหารจัดการด้วย

ในชั้นนี้ มิคาติยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่โดยประเทศที่เป็นแหล่งเงินช่วยเหลือ และมองว่านายกฯ คนใหม่ยังไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้องกับสถานการณ์ แต่ผู้บริหารสถาบันการเงินให้กู้ยังรอที่จะดูแต่ละคนในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เสียก่อน

เจ้าหน้าที่ของประชาคมยุโรปรายหนึ่งบอกว่า “พร้อมที่จะให้โอกาสนายกฯ คนใหม่คัดสรร ครม.และดูว่ารัฐมนตรีเหล่านั้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่”

มิคาติยังไม่สามารถแก้ไขข้อกล่าวหาว่าตัวเองและครอบครัวยุ่งเกี่ยวกับเงินในโครงการจัดสรรที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนรายได้น้อย ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งครั้งก่อน ทำให้เกิดปัญหาความขาดแคลน ซ้ำเติมความต่างระหว่างรายได้ของประชาชน

ดูแล้วชาวเลบานอนคงต้องเผชิญวิกฤตอีกนาน กว่าจะรู้ว่าจะรอดหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น