xs
xsm
sm
md
lg

ยอดสะสมป่วยโควิดทั่วโลกพุ่งเลย 200 ล้านแล้ว ขณะเคสติดเชื้อใหม่รายวันที่อเมริกากลับมาทะลุแสนคนอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พวกผู้ประท้วงต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์ประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ ในเมืองเมลเบิร์น วันพฤหัสบดี (5 ส.ค.) ขณะที่ทางการประกาศล็อกดาวน์นครใหญ่อันดับ 2 ของออสเตรเลียแห่งนี้เป็นรอบที่ 6 ในความพยายามสกัดกั้นการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ “เดลตา”
ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 สะสมทะลุหลัก 200 ล้านคนแล้วในวันพฤหัสบดี (5 ส.ค.) ขณะที่ในอเมริกาวันพุธ (4) เคสใหม่กลับเพิ่มขึ้นเกินวันละ 100,000 รายอีกครั้งหนึ่งแล้ว เป็นการทุบสถิติสูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยที่หมอใหญ่ชี้การระบาดของสายพันธุ์เดลตาอาจดันตัวเลขพุ่งกระฉูดเป็นวันละ 200,000 คน ด้านญี่ปุ่นสั่งขยายพื้นที่บังคับใช้สถานการณ์กึ่งฉุกเฉิน หลังจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะโตเกียวที่คาดว่า ตัวเลขกำลังจะทะลุหลัก 5,000 คน เช่นเดียวกับออสเตรเลียที่ยังกำราบ “เดลตา” ไม่สำเร็จ ส่งผลให้ 3 เมืองที่มีประชากรมากที่สุด ได้แก่ ซิดนีย์ เมลเบิร์น และบริสเบน ต้องเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้น

ตามตัวเลขที่รวบรวมโดยหลายสำนัก เช่น เอเอฟพี และ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ยอดสะสมของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในทั่วโลก พุ่งเกินขีด 200 ล้านคนแล้ว โดยที่เอเอฟพีรายงานว่า ณ เวลา 07.00 น. ของวันพฤหัสบดี (5) ตามเวลามาตรฐานกรีนิช (ตรงกับ 14.00 น. เวลาเมืองไทย) จำนวนเคสผู้ป่วยทั่วโลกอยู่ที่ 200,066,905 ราย แต่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าตัวเลขจริงๆ น่าจะสูงกว่านี้ เนื่องจากประเทศจำนวนมากยังไม่มีการติดตามตรวจผู้ที่ติดเชื้ออาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ

การที่จำนวนผู้ติดเชื้อกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ สาเหตุสำคัญคือการแพร่กระจายของตัวกลายพันธุ์ “เดลตา” ทว่าจำนวนผู้เสียชีวิตกลับกำลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในวงกว้าง

จำนวนเคสติดเชื้อใหม่รายวันของทั่วโลกโดยเฉลี่ยรอบ 7 วันที่ผ่านมา อยู่ที่มากกว่า 600,000 คน เพิ่มขึ้น 68% จากตัวเลขเฉลี่ยของรอบ 7 วันเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายน

เวลาเดียวกัน ตัวเลขเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตรายวันในปัจจุบันอยู่ที่ 9,350 คน สูงขึ้นราว 20% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเริ่มต้นเดือนกรกฎาคม

ความห่างกันระหว่างเปอร์เซนต์เพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อ กับเปอร์เซนต์สูงขึ้นของจำนวนผู้เสียชีวิตเช่นนี้ มองเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในหมู่ประเทศซึ่งปัจจุบันกำลังเกิดการระบาดรุนแรงที่สุด

เป็นต้นว่าในสหรัฐฯ จำนวนเคสใหม่พุ่งสูงขึ้นกว่า 820% จนเวลานี้อยู่ที่เฉลี่ยวันละ 94,000 ราย เปรียบเทียบกับ 11,000 รายตอนสิ้นเดือนมิถุนายน

แต่ยอดผู้เสียชีวิตรายวันในสหรัฐฯเวลานี้เฉลี่ยอยู่ที่ 430 ราย เพิ่มสูงขึ้น 105% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน

จากข้อมูลของรอยเตอร์ ในวันพุธ (4) ยอดผู้ติดเชื้อสะสมของอเมริกาทะลุหลัก 100,000 รายแล้ว

น.พ. แอนโทนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านโรคติดเชื้อ ยอมรับว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอาจเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 200,000 คนเนื่องจากสายพันธุ์เดลตาที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อสูง และหากเกิดไวรัสกลายพันธุ์เพิ่มอีกสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการระบาดเท่ากันแต่ทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่า อเมริกาอาจพบปัญหาหนักอย่างแท้จริง

จากข้อมูลของศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ (ซีดีซี) ขณะนี้พบผู้ป่วยใหม่ 83% ติดโควิดสายพันธุ์เดลตา ขณะที่ทีมรับมือโควิด-19 ของทำเนียบขาวระบุว่า เกือบ 97% ของผู้ที่มีอาการหนักคือผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

เฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตเพิ่มเป็น 33% โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 377 คน

ฟาวซีสำทับว่า พวกที่ไม่ฉีดวัคซีนคิดผิดว่า เป็นเรื่องของตัวเองเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วการฉีดวัคซีนมีผลกระทบต่อทุกๆ คน

วันเดียวกันนั้น อเมริกายังตอบโต้เรื่องที่เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ประเทศรวยระงับแผนการฉีดวัคซีนกระตุ้น และหันมามุ่งเน้นการจัดหาวัคซีนให้ประเทศยากจนแทน โดยเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว แถลงว่า อเมริกาสามารถทำทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ พร้อมกับคุยว่าขณะนี้ได้บริจาควัคซีนมากกว่าชาติใดในโลก

สำหรับที่ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ประกาศเมื่อวันพฤหัสฯ (5) ขยายพื้นที่ใช้สถานการณ์ฉุกเฉินออกไปจนครอบคลุมประชากรกว่า 70% ของประเทศ ขณะที่คาดกันว่า จำนวนเคสใหม่รายวันในโตเกียวกำลังจะพุ่งทะลุ 5,000 คนเป็นครั้งแรก และบรรดาที่ปรึกษาของรัฐบาลเตือนว่า ตัวเลขอาจเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวภายใน 2 สัปดาห์

ยาสึโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีเศรษฐกิจเผยว่า คณะผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยกับข้อเสนอบังคับใช้สถานการณ์กึ่งฉุกเฉินเพิ่มอีก 8 จังหวัด เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และจำนวนเคสที่อาการหนักเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่า สถานการณ์ขณะนี้รุนแรงถึงระดับที่ควรต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศได้แล้ว สอดคล้องกับความเห็นของสมาคมการแพทย์ญี่ปุ่น

รัฐบาลยังยืนยันว่า การจัดแข่งขันโอลิมปิกไม่ได้เป็นสาเหตุการระบาดระลอกล่าสุด กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้ประชาชนที่เบื่อหน่ายการกักตัวอยู่บ้านอยู่แล้วยิ่งสับสน

สำหรับคณะผู้จัดโอลิมปิกรายงานเมื่อวันพฤหัสฯ ว่า พบผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับกีฬาโอลิมปิกเพิ่ม 31 คน รวมยอดสะสมนับจากวันที่ 1 กรกฎาคมเป็น 353 คน

ส่วนที่ออสเตรเลียยังคุมการระบาดของสายพันธุ์เดลตาไม่อยู่เช่นเดียวกัน ล่าสุด ซิดนีย์พบเคสใหม่รายวันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และรัฐวิกตอเรียเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่

ซิดนีย์ เมืองใหญ่ที่สุดของแดนจิงโจ้และเมืองหลวงของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ที่กำลังจะเข้าสู่สัปดาห์ที่ 7 ของการล็อกดาวน์ รายงานเมื่อวันพฤหัสฯ พบผู้ติดเชื้อใหม่ 262 คนในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนหน้า และเสียชีวิต 5 คน ซึ่ง 4 คนในจำนวนนี้ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนอีกคนฉีดแค่เข็มเดียว

ด้านรัฐวิกตอเรียพบผู้ติดเชื้อใหม่ 8 คน ซึ่งไม่สามารถหาต้นตอการระบาดได้ ส่งผลให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์ประชาชนกว่า 6 ล้านคนนานหนึ่งสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่คืนวันพฤหัสฯ

ผลลัพธ์คือ 3 เมืองที่มีประชากรมากที่สุดของออสเตรเลีย ได้แก่ ซิดนีย์ เมลเบิร์น และบริสเบน อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้น

ทั้งนี้ บริสเบนพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 16 คน เท่ากับวันอังคารและพุธ และเมืองนี้ถูกล็อกดาวน์มาตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ออสเตรเลียจะต้องล็อกดาวน์เป็นระยะจนกว่าจะมีจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนสูงพอ กระนั้น บรรดาสมาชิกรัฐสภากำลังถูกกดดันอย่างหนักให้ผ่อนคลายข้อจำกัดเพื่อช่วยเหลือแรงงานและธุรกิจที่ไม่สามารถทำงานได้

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)

รถยนต์จำนวนมากต่อแถวกันเพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา เมื่อวันอังคาร (3 ส.ค.)  โดยที่เคสผู้ติดเชื้อในฟลอริดากำลังพุ่งแรงขึ้นมาอีกครั้ง และจำนวนผู้ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลก็สูงทำสถิติ ทว่า รอน เดอแซนทิส ผู้ว่าการรัฐซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกัน ยังคงยืนกรานว่าการระบาดไม่ได้อยู่ในระดับร้ายแรง พร้อมประณามสื่อว่า “เป็นโรคจิตหวาดผวา”


กำลังโหลดความคิดเห็น