อเมริกาและอังกฤษหนุนหลังอิสราเอล กล่าวหาอิหร่านโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันนอกชายฝั่งโอมานเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน โดยวอชิงตันประกาศเตรียม “ตอบโต้อย่างสาสม” แม้เตหะรานยืนกรานว่า ไม่เกี่ยวข้องก็ตาม
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกคำแถลงวันอาทิตย์ (1 ส.ค.) ระบุว่า ภายหลังตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดที่มี อเมริกามั่นใจว่า อิหร่านเป็นผู้ก่อการโจมตีดังกล่าวโดยใช้โดรนติดระเบิด ซึ่งทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 2 คน เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอังกฤษ 1 คน และลูกเรือชาวโรมาเนีย 1 คน และสำทับว่า สหรัฐฯ กำลังประสานงานกับบรรดาพันธมิตรเพื่อพิจารณาการดำเนินการขั้นต่อไป รวมทั้งยังหารือกับรัฐบาลภายในภูมิภาคตะวันออกกลางเกี่ยวกับการตอบโต้ที่เหมาะสมซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น
ก่อนหน้านั้นไม่นาน โดมินิก ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ แถลงว่า การประเมินของลอนดอนได้ข้อสรุปว่า มีความเป็นไปได้สูงว่า อิหร่านจงใจโจมตีอย่างผิดกฎหมายและไร้ความปรานีต่อเรือบรรทุกน้ำมันที่มีชื่อว่า “เมอร์เซอร์ สตรีท” ลำนี้ ซึ่งติดธงไลบีเรีย แต่เจ้าของเป็นบริษัทญี่ปุ่น ส่วนบริษัทที่ดำเนินงานใช้เรืออยู่เป็นกิจการของอิสราเอล ชื่อ โซดิแอ็ก มาริไทม์
เขาระบุด้วยว่า การโจมตีคราวนี้ใช้โดรนจำนวน 1 ลำขึ้นไป และเสริมว่า อังกฤษกำลังหารือกับนานาชาติเพื่อออกมาตรการตอบโต้ร่วมกัน
ทั้งนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ประกบเรือบรรทุกน้ำมันลำดังกล่าว ระบุเมื่อวันเสาร์ (31 ก.ค.) ว่า สิ่งบ่งชี้เบื้องต้นชี้ชัดว่า เป็นการโจมตีด้วยโดรน
ด้านนายกรัฐมนตรีนาฟตาลี เบนเน็ตต์ ของอิสราเอล กล่าวหาอิหร่านพยายามปัดความรับผิดชอบในการโจมตีดังกล่าวที่เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสฯ (29 ก.ค.) ในทะเลนอกชายฝั่งโอมาน และว่า เตหะรานปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างขี้ขลาด
ขณะที่ฝ่ายอิหร่านนั้น ระหว่างการแถลงข่าวประจำสัปดาห์เมื่อวันอาทิตย์ ซาอิด คาติบซาเดห์ โฆษกกระทรวงต่างการประเทศอิหร่าน ตอบโต้ว่า อิสราเอลกำลังสร้างบรรยากาศความไม่ปลอดภัย น่าหวาดกลัว และความรุนแรง พร้อมเรียกร้องให้อิสราเอลหยุดกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปจากข้อเท็จจริง และย้ำว่า เตหะรานไม่ลังเลแม้แต่น้อยที่จะปกป้องผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคราวนี้มีคำอธิบายที่หลากหลาย โดยโซดิแอ็ก มาริไทม์ เองสงสัยว่า เป็นฝีมือโจรสลัด ขณะที่แหล่งข่าวในศูนย์ความมั่นคงทางทะเลของโอมานระบุเพียงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นนอกน่านน้ำโอมาน
เรือบรรทุกน้ำมันลำนี้อยู่ระหว่างการเดินทางจากเมืองดาร์เอสซาลาม ในประเทศแทนซาเนีย ซึ่งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ไปยังรัฐฟูไจราห์ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยไม่มีสินค้าอยู่บนเรือขณะถูกโจมตี
ช่วงหลายเดือนมานี้ อิหร่านและอิสราเอลต่างกล่าวหากันและกันว่า โจมตีเรือของอีกฝ่าย
ไดรแอด โกลบัลที่เชี่ยวชาญการวิเคราะห์สถานการณ์ทางทะเล กล่าวว่า การโจมตีเมื่อวันพฤหัสฯ ถือเป็นครั้งที่ 5 ที่เรือที่เกี่ยวพันกับอิสราเอลถูกโจมตีนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ขณะที่เมื่อเดือนมีนาคม อิหร่านแถลงว่าตน “กำลังพิจารณาทางเลือกทั้งหมดอยู่” ภายหลังเรือสินค้าของฝ่ายเตหะรานลำหนึ่งถูกโจมตีในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยที่อิหร่านประณามว่าเป็นฝีมืออิสราเอล
ในเดือนเมษายน เตหะรานแถลงว่า เรือบรรทุกสินค้าชื่อ “ซาวิซ” ของตนถูกโจมตีด้วย “การระเบิด” ในทะเลแดง ภายหลังสื่อมวลชนรายงานว่าอิสราเอลพุ่งเป้ามุ่งโจมตีเรือลำนี้
นิวยอร์กไทมส์รายงานในเวลานั้นว่า นี่เป็นการโจมตี “แก้แค้น” ของฝ่ายอิสราเอล หลังจาก “อิหร่านโจมตีเรืออิสราเอลหลายลำก่อนหน้านี้”
ด้านวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานในเดือนมีนาคมโดยอ้างพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และทางตะวันออกกลางระบุว่า ตั้งแต่ปลายปี 2019 อิสราเอลพุ่งเป้าหมายเล่นงานเรืออย่างน้อยสิบกว่าลำที่มุ่งหน้าไปยังซีเรีย ส่วนใหญ่เป็นเรือที่กำลังลำเลียงน้ำมันอิหร่านอยู่
อิหร่านยังกล่าวหาอิสราเอลว่า วินาศกรรมสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของตนและสังหารนักวิทยาศาสตร์ของอิหร่านไปจำนวนหนึ่ง
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในอ่าวเปอร์เซียตึงเครียดยิ่งขึ้นนับจากที่อเมริกาแซงก์ชันเตหะรานในปี 2018 ภายหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ในขณะนั้นฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ที่มหาอำนาจหลายชาติทำร่วมกับอิหร่าน
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)