(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
China to US: Two can play at technological war
By DAVID P. GOLDMAN
08/07/2021
ปักกิ่งข่มขู่คุกคามที่จะสกัดกั้นไม่ให้สหรัฐฯสามารถเข้าถึงข้อมูลของจีนที่มีเก็บเอาไว้อย่างมากมายกว้างขวาง โดยที่ข้อมูลเช่นนี้แหละคือเส้นเลือดของพวกแอปพลิเคชั่นทางด้านปัญญาประดิษฐ์
นิวยอร์ก - การที่ปักกิ่งเล่นงานทำลายแผนการของพวกบริษัทจีนที่เสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรก (initial public offerings) ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ มีความหมายส่อไปในทางที่หันไปหาลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจแบบไม่ยินยอมประนีประนอม โดยที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังได้ส่งสัญญาณออกมาอย่างชัดเจนในวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยการประณาม “การปิดล้อมทางเทคโนโลยี” ของฝ่ายอเมริกัน
ระหว่างการกล่าวปราศรัยในการประชุมทางออนไลน์กับบรรดาพรรคการเมืองที่เป็นเพื่อนมิตรทั่วโลกในวันดังกล่าว สี ประกาศว่า “เราต้องร่วมกันต่อสู้คัดค้านใครก็ตามทีซึ่งกำลังใช้การปิดล้อมทางเทคโนโลยี, การสร้างความแตกแยกทางเทคโนโลยี, และการทำให้การพัฒนาเกิดการหย่าร้างแยกขาดกัน”
เขากล่าวต่อไปว่า ไม่มีประเทศใดมีสิทธิที่จะ “ขัดขวางการพัฒนาของประเทศอื่นๆ และทำอันตรายให้แก่ชีวิตของประชาชนประเทศเหล่านั้นด้วยวิธีบงการชักใยทางการเมือง”
คณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งห้ามพวกนักลงทุนสหรัฐฯไม่ให้เป็นเจ้าของครอบครองหุ้นของบริษัทจีน 35 แห่ง ซึ่งวอชิงตันระบุว่ามีความเชื่อมโยงกับกองทัพจีน เวลานี้คณะบริหารโจ ไบเดน ได้เพิ่มชื่อในบัญชีดังกล่าวจนกลายเป็น 59 บริษัท ซึ่งคนอเมริกันที่ไปถือหุ้นไว้จะต้องถอนตัวออกมาให้หมดภายในวันที่ 2 สิงหาคม
ด้วยการขัดขวางไม่ให้พวกบริษัทจีนเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในสหรัฐฯเช่นที่กล่าวมาข้างต้น มันก็เหมือนกับปักกิ่งกำลังพูดตรงๆ ว่า จีนไม่ได้มีความจำเป็นต้องอาศัยตลาดทุนของอเมริกามาช่วยระดมเงินให้แก่บริษัทจีนแต่อย่างใด เนื่องจากจีนเองมีเงินทุนอย่างมากมายอยู่แล้วในบ้านตนเอง
แฮนเดิล โจนส์ (Handel Jones) กูรูในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ บอกกับเอเชียไทมส์ว่า คำปราศรัยคราวนี้ของสี “เป็นการประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า จีนไม่ได้รู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยกว่าสหรัฐฯเลย” โจนส์นั้นเป็นซีอีโอของ อินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส สแตรเตจีส์ (International Business Strategies) กิจการที่ปรึกษาซึ่งให้คำแนะนำแก่พวกบริษัทเทคโนโลยีระดับท็อปทั่วโลก
ในการปฏิบัติการที่มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ รัฐบาลจีนได้ออกประกาศใช้มาตรการควบคุมเรื่องการส่งออกข้อมูลของจีนอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ข้อมูลเป็นแหล่งที่มาอันสำคัญยิ่งยวดสำหรับแอปพลิเคชั่นทางด้านปัญญาประดิษฐ์ในอุตสาหกรรมจำนวนมาก รวมทั้งอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์
การควบคุมข้อมูลของจีนยังอาจจะเป็นการสะท้อนให้เห็นความกังวลของปักกิ่งในเรื่องจุดอ่อนเปราะของแดนมังกรที่อาจจะทำให้ถูกโจมตีทางไซเบอร์ ทรัมป์นั้นได้ประกาศการแซงก์ชั่นจีนในด้านเทคเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ภายหลังถูกคัดค้านจากกระทรวงกลาโหมอเมริกันเอง รวมทั้งก่อนหน้านั้นไปอีก อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯก็ได้ส่งเสียงค้านจนมีการยับยั้งเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ของแผนการนี้ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2019
ถึงแม้สหรัฐฯออกมาตรการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรเอากับสินค้านำเข้าจากจีนหลายๆ ระลอก แต่ตัวเลขที่อเมริกานำเข้าผลิตภัณฑ์จีนในปี 2021 ก็ยังคงพุ่งสูงขึ้นจนสร้างสถิติสูงสุดครั้งใหม่ สืบเนื่องจากส่วนหนึ่งของการนำเข้านี้คือพวกข้าวของเครื่องใช้ทางการแพทย์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค ปักกิ่งจึงกำลังพูดกับวอชิงตันอย่างตรงไปตรงมาว่า “คุณต้องการที่จะหย่าร้างแยกขาดจากเราหรือ? ดีเลย เรานี่แหละจะเป็นฝ่ายหย่าร้างแยกขาดจากคุณ”
เมื่อปีที่แล้ว คณะบริหารทรัมป์ยังได้ประกาศบังคับใช้มาตรการเรื่องห้ามขายเซมิคอนดักเตอร์ให้แก่จีน อย่างชนิดที่ไม่เคยมีการปฏิบัติในลักษณะนี้กันมาก่อนเลย กล่าวคือ อ้างอภิสิทธิแบบเลยล้ำออกนอกเขตแดนประเทศของตน ด้วยการสั่งแบนการขายชิปคอมพิวเตอร์ไฮเอนด์, อุปกรณ์การผลิตชิป, หรือซอฟต์แวร์ออกแบบชิป ใดๆ ก็ตามที หากว่าสิ่งเหล่านี้มีส่วนประกอบของสหรัฐฯหรือมีทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯบรรจุอยู่ด้วย
ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เกรแฮม แอลลิสัน (Graham Allison) ผู้เขียนหนังสือซึ่งถูกนำมาอ้างอิงกันอย่างกว้างขวาง เรื่องThe Thucydides Trap เปรียบเทียบการคว่ำบาตรด้านเทคต่อจีนคราวนี้ กับการสั่งห้ามส่งออกน้ำมันอเมริกันเมื่อปี 1941 ซึ่งเป็นชนวนเร่งรัดให้ญี่ปุ่นเข้าโจมตีอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://nationalinterest.org/feature/could-donald-trump%E2%80%99s-war-against-huawei-trigger-real-war-china-162565)
ขณะที่การโต้ตอบแรกที่จีนใช้มารับมือกับการคว่ำบาตรด้านเทคในยุคทรัมป์ ซึ่งคณะบริหารไบเดนยังคงบังคับใช้สืบต่อมานั้น อยู่ในลักษณะแบบแผนประเพณีที่นิยมปฏิบัติกัน อย่างที่เรียกขานกันว่า การยอมติดสินบนพวกคนป่าเถื่อนซึ่งอยู่ที่ชายแดนของตนไปก่อน เพื่อเป็นการซื้อเวลา
ถึงแม้มีที่ปรึกษาของไบเดนบางคน (และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯเกือบทั้งหมด) ต้องการที่จะให้ยกเลิกมาตรการแซงก์ชั่นนี้ แต่การที่ภายในพรรคการเมืองทั้งสองพรรคของสหรัฐฯต่างมีความรู้สึกเป็นศัตรูกับจีนอย่างทรงพลังมาก ทำให้การกระทำเช่นนั้นกลายเป็นหนทางเลือกที่ยากลำบากในทางการเมืองไปเสียแล้ว
การที่ช่วงหลังๆ ปักกิ่งมีท่าทีแข็งกร้าวยืนกรานขึ้นมาใหม่ อาจจะมีต้นตอมาจากความมั่นอกมั่นใจของรัฐบาลจีนที่ว่า ตนสามารถหาหนทางที่จะเอาชนะการลงโทษในเรื่องชิปของฝ่ายอเมริกันได้ด้วยการผลิตเซมิคอนดักเตอร์แทบทั้งหมดที่ประเทศชาติต้องการใช้ภายในแดนมังกรเอง
“ถ้าหากแม่น้ำกว้างเกินไปจนข้ามไม่ไหว” ผู้นำอุตสาหกรรมจีนคนหนึ่งซึ่งขอให้สงวนนาม บอกกับเอเชียไทมส์ “จงขึ้นไปทางต้นน้ำ ซึ่งแม่น้ำจะแคบกว่า” --หมายความว่า จีนสามารถที่จะมีความชำนิชำนาญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ “ต้นน้ำ” เวลาเดียวกันก็มีความชำนิชำนาญเรื่องแอปพลิเคชั่น “ปลายน้ำ”
จีนส่งสัญญาณเรื่องจุดยืนใหม่ของตนด้วยการสั่งระงับไม่ให้ดาวน์โหลดแอปเรียกรถ “ตีตี้ โกลบอล” (Didi Global) เพียงไม่กี่วันหลังจากบริษัทสตาร์ทอัปรายนี้เสร็จสิ้นการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรกในนิวยอร์กโดยระดมเงินมาได้ 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบกล่าวอ้างว่า เป็นเพราะ ตีตี้ กระทำความผิด ด้วยการเก็บรวมรวมข้อมูลข่าวสารส่วนตัวของพวกยูสเซอร์อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม
ทางด้าน วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานว่า รัฐบาลจีนได้ขอให้ ตีตี้ เลื่อนเวลาในการไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อเมริกันออกไปก่อน ทว่าบริษัทแอปเรียกรถแห่งนี้ยังคงเดินหน้าเข้าตลาดต่อไป (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.wsj.com/articles/chinese-regulators-suggested-didi-delay-its-u-s-ipo-11625510600?mod=article_inline) ปรากฏว่าหุ้นบินสูงลิ่วของบริษัทได้หล่นดำดิ่งอย่างแรงจนต่ำกว่าราคาไอพีโอ หลังจากที่ แอปของ ตีตี้ ถูกระงับไม่ให้ดาวน์โหลด
หน่วยงานกำกับตรวจสอบของจีนยังประกาศเข้าตรวจสอบบริษัทไฮฟลายอิ้งอีก 2 แห่งซึ่งะเพิ่งทำไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯเมื่อไม่นานมานี้ เช่นกัน ได้แก่ ฟูลล์ ทรัค อะไลแอนซ์ (Full Truck Alliance) และ แคนซุน (Kanzhun)
แรงกดดันจากหน่วยงานกำกับตรวจสอบต่อบริษัทเทคโนโลยีจีน เป็นสาเหตุทำให้เกิดการเทขายกันอย่างแรงในเซกเตอร์นี้ โดยที่KWEB กองทุนซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดซึ่งเป็นที่นิยมกัน ราคาหล่นลงไปเหลือ 62 ดอลลาร์ จากที่ขึ้นไปสูงสุดเมื่อไม่นานมานี้ที่ 102 ดอลลาร์
น่าสังเกตว่า หุ้นประเภทA (A-shares) ของพวกบริษัทเทคจีนซึ่งซื้อขายกันในตลาดภายในประเทศนั้นกลับพากันไต่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ หุ้นซึ่งเกี่ยวข้องโยงใยกับความพยายามของจีนในการลดการพึ่งพาชิปคอมพิวเตอร์ต่างชาติ อยู่ในกลุ่มพวกที่มีผลประกอบการแข็งแกร่งที่สุด
สำหรับรัฐบาลจีนแล้ว การบังคับใช้มาตรการควบคุมการส่งออกข้อมูล คือเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งในเวลานี้ guancha.cn (guancha เป็นคำภาษาจีน แปลว่าthe Observer ผู้สังเกตการณ์) เว็บไซต์ข่าวภาษาจีนทรงอิทธิพล เสนอบทความชิ้นหนึ่งเอาไว้ในวันที่ 7 กรกฎาคม โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “พวกบริษัทจีนไปต่างประเทศและเข้าสู่ยุคของการต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามทั้งสองข้าง” (“Chinese companies go overseas and enter the era of two-way compliance.”) (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.guancha.cn/maji/2021_07_05_596998.shtml)
เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ทางกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงวิทยาศาสตร์ของจีนได้ออกบัญชีรายละเอียดของ “เทคโนโลยีที่ห้ามส่งออกและที่จำกัดการส่งออก” ในจำนวนนี้มี "ข้อมูลข่าวสารลักษณะส่วนบุคคล” ที่รวบรวมจัดทำขึ้นมาจาก “การวิเคราะห์ข้อมูล” (“personalized information” gleaned from “data analysis.”) รวมอยู่ด้วย โดยตั้งแต่บัดนี้ไป เทคโนโลยีเช่นนี้จะต้องขอใบอนุญาตเพื่อการส่งออก
บทความใน guancha.cn กล่าวต่อไปว่า ด้วยวิธีการเช่นนี้ จีนก็สามารถป้องกันไม่ให้ ติ๊กต็อก ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของข้อมูลยูสเซอร์ขนาดมหึมาแหล่งหนึ่ง ถูกนำไปขายให้แก่ "ไมโครซอฟท์ หรือ วอลมาร์ท”
ในบทความชิ้นนี้ของ guancha.cn ยังกล่าวต่อไปว่า กฎหมายควบคุมการส่งออก ซึ่งกำหนดให้ต้องมีการจัดทำบัญชีรายละเอียดดังกล่าวข้างต้น เป็นสิ่งที่ “เน้นย้ำให้เห็นถึงแนวความคิดใหม่ในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ มันแตกต่างออกไปจากแนวความคิดว่าด้วยความมั่นคงตามแบบฉบับแวดวงเดิมๆ โดยแนวความคิดใหม่ว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาตินี้ เกี่ยวข้องพัวพันกับความมั่นคงในเรื่องที่อยู่นอกเหนือแวดวงเดิมๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ, ความมั่นคงทางเทคโนโลยี, ความมั่นคงข้อมูลข่าวสาร, ความมั่นคงทางนิเวศวิทยา, ความมั่นคงทรัพยากร, ความมั่นคงนิวเคลียร์, และความมั่นคงเครือข่าย”
เมื่อเดือนที่แล้ว คณะกรรมการประจำ ของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน(Chinese National People’s Congress -- ชื่ออย่างเป็นทางการของรัฐสภาจีน สมาชิกของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน ปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 3,000 คน ซึ่งปกติจะประชุมกันทั้งหมด หรือ “เต็มคณะ” ปีละครั้งเป็นเวลาราว 2 สัปดาห์ ขณะที่ผู้ใช้อำนาจส่วนใหญ่ของรัฐสภา คือ คณะกรรมการประจำ ซึ่งมีอยู่ราว 170 คน และจะประชุมกันเป็นประจำ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/National_People%27s_Congress) ได้อนุมัติ กฎหมายความมั่นคงข้อมูล (Data Security Law) ออกมาฉบับหนึ่ง ซึ่งให้อำนาจหน่วยงานรับผิดชอบ “ดำเนินการทบทวนตรวจสอบด้านความมั่นคงแห่งชาติ ต่อพวกกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลทั้งหลาย ซึ่งส่งผลกระทบกระเทือนหรืออาจจะส่งผลกระทบกระเทือนความมั่นคงแห่งชาติ”
ความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในการออกมาปกป้องคุ้มครองเรื่องเกี่ยวกับข้อมูลของจีนคราวนี้ มีต้นตอจากแรงจูงใจ 2 ด้านด้วยกัน ด้านแรกคือลู่ทางความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามไซเบอร์ ส่วนด้านที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ
การทำให้ข้อมูลถูกจัดเก็บอยู่ในรูปแบบซึ่งอ่านได้ด้วยการใช้อุปกรณ์ ตลอดจนการทำให้ข้อมูลดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงถ่ายโอนได้ด้วยการใช้อุปกรณ์ (porting and storage of data in machine-readable form) คือ “จุดควบคุม” (control point) ในโลกยุคใหม่แห่งการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) อย่างที่ ประธานเจ้าหน้าที่ทางเทคโนโลยี (Chief Technology Officer) ของ หัวเว่ย พูดเอาไว้ในการให้สัมภาษณ์ ซึ่งผมนำมาเขียนในหนังสือที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2020 ของผม เรื่อง You Will Be Assimilated (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.google.com/books/edition/You_Will_Be_Assimilated/UinwDwAAQBAJ?hl=en&gbpv=1&printsec=frontcover)
ถ้าหากปัญญาประดิษฐ์คือเครื่องจักรของอุตสาหกรรมยุค 4.0 แบบเดียวกับที่ไอน้ำเป็นเครื่องจักรของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งดั้งเดิมแล้ว เชื้อเพลิงของปัญญาประดิษฐ์ก็คือ ข้อมูล --ไม่ใช่ถ่านหิน
จีนนั้นมีความได้เปรียบโดยธรรมชาติอยู่แล้วในเรื่องข้อมูล เนื่องจากระบบการเมืองของจีน ไม่ได้เสนอให้สิทธิเสรีภาพในเรื่องความเป็นส่วนตัว อย่างเดียวกับที่ให้กันอยู่ในระบบการเมืองของฝ่ายตะวันตก ปักกิ่งเข้าปราบปรามขัดขวางพวกบริษัทเทคของตน เมื่อบริษัทเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าใช้ข้อมูลอันมหึมามโหฬารที่พวกเขารวบรวมเอามาได้จากผู้บริโภค ไปในทางมิชอบ ทว่าสิทธิของรัฐบาลในการใช้ข้อมูลเหล่านี้นั้น ไม่ได้ถูกตั้งคำถาม ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด
ในบางปริมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการดูแลสุขภาพ มันเป็นเรื่องลำบากมากขึ้นทุกทีที่จะดำเนินการศึกษาวิจัยแบบล้ำยุคล้ำสมัย โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยข้อมูลจากจีน ซึ่งได้ทำบันทึกประวัติการรักษาทางการแพทย์ของผู้คนจำนวนหลายร้อยล้านคน และข้อมูลลำดับจัดเรียงดีเอ็นเอของประชากรกลุ่มก้อนใหญ่โตทีเดียวของตน ให้อยู่ในระบบดิจิตอลเรียบร้อยแล้ว
ถ้าหากสหรัฐฯต้องการที่จะเข้าควบคุมเพื่อปันส่วนแบ่งสรรเทคโนโลยีชิปตามความปรารถนาของตนเองแล้ว จีนก็สามารถจำกัดการเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนกัน จีนเชื่อว่าตนสามารถหาหนทางวิธีการมาทดแทนการที่ต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีชิปอเมริกัน ได้ง่ายดายกว่าที่สหรัฐฯจะสามารถสร้างแหล่งข้อมูลอันกว้างขวางมหึมาของตนเองขึ้นมา
ยังมีข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ในเว็บไซต์ guancha.cn (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.guancha.cn/kegongliliang/2021_07_07_597290.shtml) ประกาศว่า "ใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว การผลิตชิปไฮ-เอนด์ภายในประเทศแบบผลิตทีละมากๆ” (mass production) ข้อเขียนชิ้นนี้อ้างอิงคำพูดของ เป่า อิ๋ว์นกั่ง (Bao Yungang) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการแผนกเทคโนโลยีคอมพิวแตอร์ ของบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์ของจีน (China’s Academy of Sciences)
“ในไตรมาส 4 ของปี 2019 จีนประสบความสำเร็จในการเริ่มดำเนินการผลิตชิปประมวลผลขนาด 14 นาโนเมตร ขึ้นภายในประเทศ ในลักษณะการผลิตทีละมากๆ” เว็บไซต์แห่งนี้ รายงาน “ถึงเดือนมีนาคมปีนี้ อัตราผลผลิตได้ไต่ขึ้นถึงระดับ 90% - 95% ... ความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการผลิตแบบทีละมากๆ ในปีหน้านั้น มีสูงมาก”
จีนยังไม่สามารถผลิตชิปล้ำยุคขนาด 5 นาโนเมตร ถึง 7 นาโนเมตร ซึ่งเป็นตัวให้พลังเครื่องสมาร์ตโฟนระดับไฮ-เอนด์ในเวลานี้ได้ แต่ “ขนาด 14 นาโนเมตรในปัจจุบันคือขนาดที่ใช้งานกันอย่างกว้างขวางที่สุดในเทคโนโลยีประมวลผล” ในแอปพลิเคชั่นส่วนใหญ่ รวมทั้งใน "อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคระดับไฮ-เอนด์, การคำนวณระดับไฮสปีด, ตัวขยายสัญญาณ (power amplification), สถานีฐานของบรอดแบนด์, และอื่นๆ ทำนองนี้” เป่า บอกกับ guancha.cn
จุดสำคัญมากก็คือ “ชิป 14 นาโมเมตรซึ่งผลิตขึ้นภายในประเทศนั้น สามารถสนองความต้องการแทบทั้งหมดในปริมณฑลอย่างเช่น การสื่อสารระบบ 5จี และการคำนวณประสิทธิภาพสูง” พร้อมกันนี้ เป่าชี้ว่าในปี 2019 ชิปขนาด 7 นาโนเมตรหรือเล็กกว่านั้นอีก รวมแล้วคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4% ของตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลกเท่านั้น
ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 เป็นต้นมา จีนได้เริ่มว่าจ้างพวกวิศวกรนายช่างผลิตชิปจากไต้หวันซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำของโลกในเรื่องโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ให้ไปทำงานในแผ่นดินใหญ่ มีแหล่งข้อมูลบางแหล่งระบุว่า จีนแผ่นดินใหญ่สามารถล่อใจวิศวกรนายช่างจากไต้หวัน ให้ไปทำงานด้วยในระหว่าง 10% ถึง 20% ของกำลังแรงงานด้านวิศวกรรมของไต้หวันทีเดียว ด้วยการเสนอให้เงินเดือนอันสูงลิบลิ่ว
ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ประธานาธิบดีสี ยังได้แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ ผู้สำเร็จการศึกษาจากฮาร์วาร์ด ให้เป็นนายใหญ่ของความพยายาม “ทั้งหมดทั้งสิ้นทั่วประเทศจีน” ในการไปให้ถึงการพึ่งตนเองด้านเซมิคอนดักเตอร์ให้ได้ ขณะที่โปรแกรมการลงทุนด้านไฮเทคของจีนนั้น ตั้งงบประมาณเอาไว้ประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์