xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : WHO วอนชาติร่ำรวยบริจาควัคซีนแทน ‘ฉีดกระตุ้น’ เตือนความเสี่ยง ‘สลับยี่ห้อวัคซีน’ หวั่นคนตัดสินใจเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.โสมยา สวามีนาธัน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO)
องค์การอนามัยโลก (WHO) ตำหนิกลุ่มชาติร่ำรวยที่สั่งจองวัคซีนสำหรับฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ให้แก่พลเมืองของตน ทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าการฉีดเข็มที่ 3 คือสิ่งจำเป็น และปล่อยให้ประเทศยากจนที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีนต้องถูกทิ้งให้เผชิญความเสี่ยงจากเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นทั่วโลกจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “เดลตา” ทำให้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มพิจารณาแนวทางการฉีดวัคซีนแบบไขว้ชนิด โดยเชื่อว่าจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น

หน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติยังวิจารณ์ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ๆ ว่ามุ่งแต่จะขายวัคซีนบูสเตอร์โดส แต่กลับไม่ให้ความสำคัญต่อการกระจายวัคซีนโดสที่ 1 และ 2 ให้แก่ประเทศยากจน ซึ่งขณะนี้ยังมีบุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุจำนวนมากที่ยังไม่ได้วัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว

“เราสามารถทำให้โรคระบาดนี้ยุติลงโดยเร็วได้ เพราะเรามีเครื่องมือที่จะต่อสู้กับมันแล้ว” ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO แถลงเมื่อวันจันทร์ (12 ก.ค.) พร้อมย้ำว่า สิ่งที่โลกยังขาดอยู่ก็คือภาวะความเป็นผู้นำที่กล้าตัดสินใจ

ทีโดรส ชี้ว่า การที่บางประเทศเริ่มแสวงหาวัคซีนบูสเตอร์ ในขณะที่โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดหนักในภูมิภาคอื่นๆ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และแนวคิดชาตินิยมวัคซีน (vaccine nationalism) มีจะทำให้ประชากรโลกต้องทนทุกข์ทรมานกับโควิด-19 ยาวนานยิ่งขึ้นไปอีก

ผอ.อนามัยโลกยังระบุด้วยว่า สัปดาห์ที่แล้วเป็นสัปดาห์ที่ 4 ต่อเนื่องที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ส่วนยอดผู้เสียชีวิตที่มีแนวโน้มลดลงตลอด 10 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็เริ่มขยับขึ้นอีกครั้ง

เวลานี้โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาถูกพบแล้วในอย่างน้อย 104 ประเทศ และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลกในอีกไม่ช้า ตามข้อมูลของ WHO

ขณะเดียวกัน ดร.โสมยา สวามีนาธัน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WHO ได้เอ่ยถึงแนวคิดในการฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 สลับยี่ห้อ หรือ ‘mix and match’ ซึ่งบางประเทศเริ่มนำมาใช้ โดยเตือนว่าการฉีดวัคซีนไขว้นั้นเป็น “เทรนด์ที่อันตราย” เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากพอที่จะยืนยันประสิทธิภาพ และถ้าหากประชาชนเลือกยี่ห้อวัคซีนตามใจตัวเองก็อาจจะทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้

"มันเป็นเทรนด์ที่ค่อนข้างอันตรายเล็กน้อย" ดร.สวามีนาธัน เอ่ยเตือนระหว่างการแถลงข่าวขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันจันทร์ (12 ก.ค.) "มันจะเกิดสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิงในประเทศต่างๆ หากพลเมืองเริ่มตัดสินใจกันเองว่าเมื่อไหร่และใครควรรับวัคซีนเข็มที่ 2 เข็มที่ 3 และเข็มที่ 4"

จากถ้อยแถลงดังกล่าวทำให้สื่อหลายสำนักเอาไปตีความในทำนองว่า WHO ไม่สนับสนุนการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ ซึ่งทำให้ ดร.สวามีนาธัน ต้องออกมาชี้แจงเพิ่มเติมผ่านทวิตเตอร์ว่า "บุคคลไม่ควรตัดสินใจเลือกวัคซีนด้วยตนเอง แต่ควรให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานสาธารณสุขที่จะสามารถกระทำได้บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่"

ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากไปต่อแถวรอตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ศูนย์ตรวจชั่วคราวภายในหน่วยงานด้านสาธารณสุขแห่งหนึ่งในกรุงโซล เมื่อวันที่ 9 ก.ค.
คณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลก (WHO's Strategic Advisory Group of Experts - SAGE) เคยแนะนำในเดือน มิ.ย. ว่า วัคซีนชนิด mRNA ของบริษัท ไฟเซอร์ อิงค์ ควรถูกใช้เป็นเข็มที่ 2 ต่อจากวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ในกรณีที่วัคซีนตัวหลังไม่สามารถหาได้

การทดลองทางคลินิกโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักรอยู่ระหว่างการศึกษาประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนสลับชนิดระหว่างแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ และเมื่อเร็วๆ นี้ การทดลองได้ขยายขอบเขตครอบคลุมถึงวัคซีนของโมเดอร์นาและโนวาแว็กซ์ด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน การแพร่กระจายของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาทำให้เคสผู้ป่วยใหม่พุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศ เช่น ที่เกาหลีใต้ซึ่งยอดติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระดับวันละกว่า 1,000 คน จนทำให้รัฐบาลต้องงัดมาตรการคุมโควิดขั้นสูงสุดมาใช้ในพื้นที่กรุงโซลและปริมณฑลตั้งแต่วันจันทร์ (12 ก.ค.) ขณะที่มาเลเซียสถานการณ์เริ่มหนักหนาสาหัส มียอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงถึงระดับ 10,000 กว่าคนในสัปดาห์นี้ ส่วนที่นครซิดนีย์ของออสเตรเลียซึ่งล็อกดาวน์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ได้ประกาศขยายมาตรการคุมเข้มไปอีก 14 วัน เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อใหม่ยังไม่ลดลง

ที่สหรัฐอเมริกา เคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่กลับมาพุ่งสูงขึ้นในหลายรัฐ โดยเวลานี้ค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ประมาณ 23,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากค่าเฉลี่ย 7 วันราวๆ 11,300 คนของเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน

ประชากรวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ครบถ้วนแล้ว 58.8% หรือมากกว่า 152 ล้านคน ทว่า อัตราการฉีดเริ่มชะลอตัวลงอย่างมาก ปัจจุบันค่าเฉลี่ยฉีดวัคซีนรอบ 7 วันจนถึงวันที่ 7 ก.ค. เหลือแค่ราวๆ 420,000 เข็มต่อวัน จากระดับมากกว่า 3 ล้านเข็มต่อวันในเดือน เม.ย.

ทางการสหรัฐฯ อยู่ระหว่างทบทวนความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ให้ประชาชน โดยย้ำว่าจะต้องพิจารณาว่าจะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือไม่

ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคมีแผนร้องขอต่อคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อขออนุมัติฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยอ้างข้อมูลว่าพบความเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นในประชากรที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 6 เดือน อีกทั้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก

ทางด้าน “ไต้หวัน” ดูเหมือนจะแก้ปัญหาขาดแคลนวัคซีนไปได้อีกเปลาะหนึ่ง หลังจากเมื่อวันจันทร์ (12) บริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ และ ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง (TSMC) ประกาศบรรลุข้อตกลงในการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค จำนวน 10 ล้านโดส รวมมูลค่าราว 350 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทั้งหมดจะถูกบริจาคให้แก่รัฐบาลไต้หวันเพื่อนำไปฉีดให้แก่ประชาชน โดยคาดว่าน่าจะได้รับวัคซีนอย่างเร็วที่สุดปลายเดือน ก.ย. และเป็นวัคซีนที่จะส่งมาจากเยอรมนีโดยตรง

ก่อนหน้านี้ ไต้หวันกล่าวหา “จีน” ว่าใช้อิทธิพลขัดขวางจนไม่สามารถเซ็นสัญญากับไบโอเอ็นเทคได้ตามกำหนดเมื่อต้นปี ทว่าหลังจากไทเปโดนโจมตีอย่างหนักว่าล่าช้าในการจัดฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน จึงได้ตัดสินใจมอบหมายให้ เทอร์รี กัว ผู้ก่อตั้งฟ็อกซ์คอนน์ รวมถึง TSMC เป็นตัวแทนไปเจรจาจัดซื้อวัคซีนแทน

โฆษกรัฐบาลไต้หวันเผยด้วยว่า รัฐบาลได้ขยายแผนการจัดซื้อวัคซีน ซึ่งรวมถึงการสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นา “รุ่นต่อไป” จำนวน 15 ล้านโดสสำหรับปีหน้าและปี 2023

ผู้ชมเทศกาลดนตรีในเมือง Carhaix-Plouguer ทางตะวันตกของฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 8 ก.ค. แสดงใบรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อนเข้างาน
ส่วนที่ฝรั่งเศส ประชาชนต่างพากันเข้าเว็บไซต์จองคิวฉีดวัคซีนกันอย่างล้นหลามในสัปดาห์นี้ หลังจากประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ได้ประกาศผ่านสื่อโทรทัศน์เมื่อคืนวันจันทร์ (12) ว่า ตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป ผู้ที่จะเข้าไปนั่งรับประทานอาหาร-เครื่องดื่มในร้าน โดยสารรถไฟระยะไกล รวมถึงเข้าห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงละคร หรืองานเทศกาลต่างๆ จะต้องแสดง “บัตรผ่านสุขภาพ” ซึ่งหมายถึงหลักฐานการฉีดวัคซีน หรือผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ โดยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์รับมือการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา

การตรวจเชื้อโควิด-19 ซึ่งให้บริการฟรีในฝรั่งเศสจะเริ่มมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นไป โดยผู้นำฝรั่งเศสให้เหตุผลว่าที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อ “สนับสนุนให้คนเลือกฉีดวัคซีน แทนที่จะต้องมาตรวจกันหลายครั้ง”

มาครง ยังประกาศให้บุคลากรทางการแพทย์ พนักงานสถานสงเคราะห์คนชรา และผู้ที่ทำงานกับกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดต้องฉีดวัคซีนภายในเดือน ก.ย. โดย โอลิวิเยร์ เวอราน รัฐมนตรีสาธารณสุขสำทับว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ไม่ฉีดวัคซีนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน และไม่ได้รับเงินค่าจ้างอีกด้วย

เวลานี้มีชาวฝรั่งเศสราว 35.5 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม ขณะที่ 27 ล้านคนฉีดครบ 2 เข็ม

ขณะเดียวกัน เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) ยังไม่รับรองวัคซีน “โควิชิลด์” หรือแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในอินเดีย ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบด้านการเดินทางสำหรับประชาชนในบางภูมิภาค เช่น แอฟริกา ซึ่งใช้วัคซีนตัวนี้เป็นหลักโดยรับผ่านทางโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก

ผู้คุมกฎของอียูให้คำอธิบายว่า แอสตร้าเซนเนก้ายังไม่เสร็จสิ้นการเตรียมเอกสารที่จำเป็นสำหรับขอการรับรองวัคซีนที่ผลิตจากโรงงานในอินเดีย รวมถึงรายละเอียดประเภทลักษณะกระบวนการผลิต และมาตรฐานการควบคุมคุณภาพ

ปัจจุบัน มีวัคซีน 4 ชนิดที่ได้รับอนุมัติใช้งานในอียู ประกอบด้วย วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ส่วนอีก 4 ตัวอยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่ วัคซีนสปุตนิก-วีของรัสเซีย ซิโนแวคของจีน เคียวร์แวคของเยอรมนี และโนวาแว็กซ์ของสหรัฐฯ

สหภาพแอฟริกาและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกาได้ออกคำแถลงร่วมวิจารณ์กฎระเบียบของอียูว่าเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อพลเมืองแอฟริกาที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

WHO เรียกร้องให้ทุกประเทศรับรองวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านการอนุมัติใช้งานเป็นกรณีฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มของจีน โดยเตือนว่าประเทศใดที่ไม่ทำตามก็เท่ากับบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในการช่วยชีวิตคนด้วยวัคซีนซึ่งได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และอีกทั้งยังบั่นทอนความพยายามที่จะฟื้นฟูการเดินทางทั่วโลกให้กลับมามีความปลอดภัยอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น