ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเด็นการฉีดวัคซีนไขว้กัน ทำให้รัฐถูกตั้งคำถามอีกครั้ง เกี่ยวกับการตัดสินใจการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19
เพราะนอกจากจะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ยิ่งทำให้มันดูเลวร้ายลงกว่าเก่า เนื่องจากข่าวการให้ฉีดวัคซีนไขว้กัน เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็มที่สองเป็นแอสตราเซเนกา และฉีดแอสตราเซเนกากระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคสองเข็มไปแล้ว กลับยิ่งทำให้ประชาชนหวาดกลัว และทำให้ความเชื่อมั่นถอยกรูด
เพราะนอกจากจะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ยิ่งทำให้มันดูเลวร้ายลงกว่าเก่า เนื่องจากข่าวการให้ฉีดวัคซีนไขว้กัน เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็มที่สองเป็นแอสตราเซเนกา และฉีดแอสตราเซเนกากระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคสองเข็มไปแล้ว กลับยิ่งทำให้ประชาชนหวาดกลัว และทำให้ความเชื่อมั่นถอยกรูด
ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เอง ยังไม่ได้มีการยืนยันว่ามันปลอดภัย ไม่มีผลกระทบกับร่างกาย ทำให้การตัดสินใจดังกล่าวกลับสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนในประเทศ
ต่อให้ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษา ศบค. จะออกมาระบุว่ามีการทดลองฉีดสลับไขว้แล้วพบว่า มีภูมิคุ้มกันที่มากขึ้น แต่อย่าลืมว่า ต้นทุนความเชื่อมั่นในวัคซีนซิโนแวคของประชาชนยังมีน้อยอยู่ บางคนยังไม่กล้าตัดสินใจฉีดด้วยซ้ำไป
ประกอบกับข่าวคราวการเสียชีวิตหลังจากได้รับวัคซีน แม้เกือบจะทุกครั้งจะมีการยืนยันทางการแพทย์ว่าไม่ได้เสียชีวิตเพราะวัคซีน แต่เป็นอาการร่วม การให้นำอีกยี่ห้อมาฉีดไขว้ในเข็มที่สอง ยิ่งเป็นการทำให้ประชาชนไม่กล้าที่จะเข้ารับวัคซีนเพิ่มขึ้นไปอีก
ลำพังข่าวคราวการฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มเดียว หรือสองเข็ม แล้วหลังจากนั้นมีคนเสียชีวิต ก็ทำให้ประชาชนใจตุ้มๆ ต่อมๆ ชั่งใจจะไปฉีดดีหรือไม่ดีอยู่แล้ว เกรงว่าจะมีผลข้างเคียงหรืออันตราย การมาให้ฉีดไขว้ยี่ห้อ อาจทำให้ประชาชนเลือกที่จะไม่ไปมากกว่าเก่า
การตัดสินใจแบบนี้ ยังทำให้ประชาชนมีคำถามมากขึ้นกว่าเก่าด้วย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค ที่รัฐยังไม่หยุดที่จะนำเข้ามา ล่าสุดยังมีการสั่งเพิ่มอีก 10 ล้านโดสเศษ การให้ฉีดไขว้เท่ากับยอมรับว่า วัคซีนซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ จึงต้องฉีดแอสตราเซเนกาในเข็มที่สอง
และหากวัคซีนซิโนแวคไม่สามารถต่อกรกับสายพันธุ์เดลต้าได้ เหตุใดรัฐจึงไม่หยุดสั่งซื้อเสียที แล้วเดินหน้าหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเข้ามาแทน
การทำแบบนี้ของรัฐ เพราะกลัวเสียหน้าจากการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคมาแล้วจำนวนมาก ไม่มีที่ระบายของที่มีมากมาย จึงใช้วิธีนี้เพื่อป้องกันการเสียหน้าหรือไม่
การให้ฉีดไขว้ทั้งที่ WHO ยังไม่รับรองวิธีนี้ มันจะทำให้ประชาชนในประเทศหวาดผวากับการฉีดวัคซีนไปอีก อันจะทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศให้ได้ 70% ยิ่งช้าเข้าไปอีก
หรือจะเป็นอย่างที่นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐเลือกใช้วิธีนี้ เหตุผลก็เพราะการจัดหาวัคซีนที่สู้กับสายพันธุ์เดลต้าไม่ได้ในตอนนี้
ขณะเดียวกัน การฉีดไขว้ยังมีข้องัดง้างอีกหลายประการ อย่าง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาแสดงความเห็นว่า การฉีดไขว้จะต้องเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้วทั้งสองตัว
แต่กรณีการฉีดวัคซีนเข็มแรกด้วยซิโนแวค และเข็มที่สองเป็นแอสตราเซเนกา จะได้ผลจริงหรือไม่ เพราะวัคซีนแอสตราจะเริ่มสร้างภูมิให้เห็นได้ชัดเจน 14 วันหลังจากฉีดเข็มแรก แต่ในทางกลับกันวัคซีนซิโนแวค จะเริ่มสร้างภูมิเกือบ 30 วันหลังฉีดเข็มที่สอง
ดังนั้น การไขว้ซิโนแวคต่อด้วยแอสตราเซเนกา จะไม่เป็นไปตามหลักการไขว้วัคซีนที่ปฏิบัติกันไปแล้วในแอสตราเซเนกา กับไฟเซอร์ โมเดอร์นา
นอกจากนี้ ซิโนแวค ยังไม่มีความชัดเจนในประสิทธิภาพเจาะจงในการป้องกันการติดเชื้อเดลต้า ดังที่เห็นในชิลี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา หรือในบราซิล และในอินโดนีเซีย เป็นต้น
การไขว้ซิโนแวคกับแอสตราเซเนกา อาจจะกลายเป็นเสียวัคซีนเข็มแรกไป และยิ่งไปกว่านั้นภูมิที่ได้โดยไม่สามารถจับได้แน่นกับเดลต้า อาจจะกลายเป็นทำให้เกิดผลร้ายมากขึ้น โดยการที่ภูมิไปจับไวรัสและนำพาไปหาเซลล์ที่สร้างการอักเสบอย่างรุนแรงต่อ
ในมุมของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ คือ เมื่อฉีดซิโนแวคไปแล้วสองเข็ม และภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว ให้ทดแทนได้ด้วยการกระตุ้นเข็มที่สาม ด้วยแอสตราเซเนกา ซึ่งช่วยให้ภูมิสูงขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกัน มีประสิทธิภาพจัดการกับเดลต้าได้มากขึ้น ซึ่งในระยะแรกควรใช้ในบุคลากรด่านหน้าที่ต้องรักษาผู้ป่วย และถ้าเกิดติดจะยิ่งแพร่เชื้อให้ผู้ป่วยได้มากขึ้นไปอีก
จะเห็นว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวคไปแล้วสองเข็ม ต่างพร้อมกระตุ้นด้วยแอสตราเซเนกา หรือไฟเซอร์ เป็นเข็มที่สามทั้งนั้น แต่ในขณะที่การไขว้วัคซีน เข็มแรกเป็นซิโนแวค และเข็มสองเป็นแอสตราเซเนกา กลับสร้างความหวาดกลัว
อย่างไรก็ตาม ข่าวคราวการไขว้วัคซีน ได้สร้างผลกระทบด้านความเชื่อมั่นอย่างสูง โดยเฉพาะผู้ที่รับวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก ที่สับสนว่าควรจะไปรับวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่สองหรือไม่ ในเมื่อมีข่าวเหมือนไม่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ก็ลังเลว่าจะไปรับแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่สองหรือไม่ ในเมื่อไม่มีใครการันตีความปลอดภัย
มันกลายเป็นว่า ปัญหาหนักขึ้นกว่าเดิม
วันนี้สิ่งที่ทำให้รัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 แทบล้มเหลว ส่วนหนึ่งคือไม่ยอมพูดความจริงกับประชาชน ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่
อย่ากลัวเสียหน้า เพราะทุกการตัดสินใจมีชีวิตประชาชนในประเทศเป็นเดิมพัน