(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Chinese flock to new tech boom town Singapore
By FRANK CHEN
08/07/2021
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังกลายเป็นพื้นที่ซึ่งบรรดาบริษัทเทคยักษ์ใหญ่จีนทั้งหลายเล็งที่จะรุกใหญ่ขยับขยายกิจการ โดยที่พวกเขามุ่งใช้สิงคโปร์เป็นกองบัญชาการประจำภูมิภาค และเป็นสนามสำหรับทดสอบยุทธศาสตร์ใหม่ๆ และโมเดลธุรกิจใหม่ๆ
สิงคโปร์กำลังกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดกองทัพของผู้บริหารและนักเทคนิคด้านอี-คอมเมิร์ซและไอทีจากประเทศจีน ด้วยมนตร์เสน่ห์ในเรื่องลู่ทางโอกาสที่จะเติบโตขยายตัวไปได้ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตลอดภูมิภาคแถบนี้ ทั้งผู้บริโภควัยหนุ่มสาวและเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่างกำลังระเบิดปึงปังก้าวขึ้นสู่เวที ขณะที่พวกผู้ชำนาญการและผู้ประกอบการชาวจีนก็พากันไปตั้งบริษัทประกอบกิจการอยู่ในสิงคโปร์อย่างคึกคักในช่วงไม่กี่ปีหลังๆ มานี้
พวกที่เคยพลาดลงเรือไม่ทัน เมื่อตอนที่กิจการด้านเทคของจีนเติบโตขยายตัวบูมสนั่นสร้างมูลค่ามากมายมหาศาลในช่วงเวลาประมาณสิบปีที่ผ่านมา ต่างกำลังถูกชักพาให้ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภาคส่วนอินเทอร์เน็ตและอี-คอมเมิร์ซกำลังจวนเจียนจะพุ่งทะยานขึ้นจากพื้นดินสู่ฟากฟ้า
กระแสผู้มีความรู้ความสามารถทั้งหลาย ไม่ว่าจากปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, หรือเซินเจิ้น พากันไหลหลั่งไปสู่สิงคโปร์ กำลังเป็นโมเมนตัมที่คึกคักยิ่งขึ้นทุกที ทั้งนี้ตามรายงานของเว็บไซต์เทคออนไลน์ชั้นนำของจีน อย่าง Zhongguancun Online (จงกวนชุน ออนไลน์) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในย่านเทคชื่อเดียวกันนี้ของนครหลวงปักกิ่งของจีน และข่าวในสื่อมวลชนสิงคโปร์
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 อาลีบาบา จ่ายเงินจำนวนมหึมา 8,400 ล้านหยวน (ราว 1,300 ล้านดอลลาร์) เพื่อเข้าครอบครองพื้นที่หลายๆ ชั้นในอาคาร “แอ็กซ่า ทาวเวอร์” (AXA Tower) หนึ่งในอาคารที่สูงที่สุดในสิงคโปร์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้ๆ อ่าวมารีนา (Marina Bay) เพื่อให้เป็นที่ตั้งสำนักงานของทีมงาน “ลาซาด้า” (Lazada) หนึ่งในแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแถบนี้
ทางด้าน เทนเซ็นต์ ผู้สนับสนุนรายสำคัญรายหนึ่งของ ช้อปปี้ (Shopee) คู่แข่งตัวฉกาจที่สุดของ ลาซาด้า ก็บริหารธุรกิจของตนซึ่งครอบคลุมไปทั่วทั้งกลุ่มประเทศอาเซียน จากนครรัฐแห่งสิงคโปร์เช่นเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ประกาศชื่อซีอีโอคนใหม่ของ ติ๊กต็อก ว่าได้แก่ โซวจือ ชิว (Shouzi Chew) ทำให้เวลานี้เขาเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานในทั่วโลกของแอปคลิปวิดีโอสั้นเจ้าดังรายนี้ ทั้งนี้เขายังชอบอัปโหลดคลิปทิวทัศน์เขียวชอุ่มตลอดจนเส้นขอบฟ้าระยิบระยิบจากออฟฟิศในสิงคโปร์ของเขาอีกด้วย
ผู้ที่กำลังมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีพวกนักพัฒนาซอฟต์แวร์มีประสบการณ์และผู้จัดการซึ่งละทิ้งตำแหน่งการงานของพวกเขาในบริษัทเทคจีนที่มีชื่อเสียงมั่นคง
เมื่อมองเห็นว่ามันค่อนข้างนิ่งๆ ตันๆ เติบโตต่อไปยากเสียแล้ว พวกเขาตัดสินใจโยกย้ายไปอยู่กับเหล่าเพลเยอร์ซึ่งทำท่าใกล้จะรุ่งพุ่งแรงในสิงคโปร์ เพื่อเสาะหาโอกาสเข้าไปร่วมขบวนในสิ่งใหญ่เรื่องใหญ่อันถัดไป ของกระบวนการก้าวสู่เศรษฐกิจและการพาณิชย์ดิจิตอลในภูมิภาคแถบนี้
ตัวอย่างเด่นๆ ของสถานการณ์ดังกล่าวนี้ซึ่งก่อให้เกิดกำลังใจกัน ได้แก่ราคาหุ้นของ SEA บริษัทแม่ของ ช้อปปี้ ที่จดทะเบียนซื้อขายหุ้นอยู่ในตลาดนิวยอร์ก ปรากฏว่าสามารถพุ่งแรงจัดจากระดับไม่ถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้นเมื่อปี 2019 ไปถึงราวๆ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯในระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่ เผิง เจ๋อฟู (Peng Zhefu) อดีตประธานเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีของ คิงซอฟต์ (Kingsoft) บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์สัญชาติจีน และ โต้วป้าน (Douban) แพลตฟอร์มยอดนิยมด้านเครือข่ายสังคมและการแชร์คอนเทนต์ ตัดสินใจละทิ้งสิ่งที่สร้างขึ้นมาในเมืองจีน และอพยพไปอยู่สิงคโปร์ในปี 2018
เผิง ซึ่งเวลานี้กำลังบริหารบริษัทเทคสตาร์ทอัปดาวรุ่งระดับยูนิคอร์นแห่งหนึ่งในนครรัฐแห่งนี้ บอกกับเวทีประชุมว่าด้วยแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของปักกิ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า เขาค้นพบในระหว่างออกทัวร์ไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า แม้กระทั่งวัยรุ่นจำนวนมากตามเมืองชายแดนเล็กๆ แต่อึกทึกคึกคักในพม่า ก็ยังมีโทรศัพท์มือถือใช้กัน ส่วนใหญ่ที่สุดมาจากผู้ผลิตจีนอย่าง เสี่ยวมี่, ออปโป้, และ วีโว้ โดยที่ผู้คนเหล่านี้มากมายทีเดียวพบว่าครั้งแรกที่พวกเขาเข้าไปช็อปปิ้งทางอินเทอร์เน็ตและออนไลน์นั้น เป็นประสบการณ์ที่มหัศจรรย์มาก
ข้อสรุปของ เผิง ก็คือ ศักยภาพเช่นนี้ของผู้คนวัยหนุ่มสาวเฉียดๆ 700 ล้านคนตลอดทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นเครื่องรับประกันการเติบโตขยายตัวของเหล่ายักษ์ใหญ่เทคจีนในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า เมื่อตลาดภายในแดนมังกรเองเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เขาบอกว่าสิงคโปร์จะกลายเป็นกองบัญชาการส่วนกลาง และเป็นพื้นที่ทดสอบสำหรับยุทธศาสตร์ใหม่ๆ และโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางว่ามันใช้การได้ในทางปฏิบัติหรือไม่ในภูมิภาคนี้
จากสำนักงานใหญ่ของพวกเขาซึ่งไม่ได้ห่างไกลอะไรกันนักหนาในสิงคโปร์ ช้อปปี้ และ ลาซาด้า ต่างกำลังลอกเลียนยุทธวิธีต่างๆ ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในประเทศจีน และนำเอามาประยุกต์ใช้ในภูมิภาคนี้ ภายหลังจาก เทนเซ็นต์ และ อาลีบาบา เข้าเทคโอเวอร์แพลตฟอร์มทั้งสองนี้ในทางพฤตินัย
เสน่ห์น่าประทับใจของสิงคโปร์ อย่างเช่น ความใกล้ชิดกับจีนในทางวัฒนธรรม, ระบบการศึกษาและระบบดูแลสุขภาพที่ดี, ตลอดจนนโยบายสนับสนุนต่างๆ ของรัฐบาล เหล่านี้ก็เป็นสิ่งซึ่งสามารถดึงดูดผู้คนจำนวนมาก เป็นต้นว่า ระบบให้วีซ่า “เทค พาสส์” (Tech Pass) ของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งอนุญาตให้พำนักอาศัยในนครรัฐแห่งนี้ได้เป็นระยะยาว มีเสน่ห์ดึงดูดใจเป็นพิเศษทีเดียวสำหรับผู้มีความรู้ความสามารถชาวต่างชาติ ที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการเดินทางและในการเข้าเมืองเมื่ออาศัยอยู่ในประเทศอื่นๆ
การที่บัณฑิตด้านไอทีของจีน ซึ่งเรียนวิชาเอกในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์, อี-คอมเมิร์ซ, และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องอื่นๆ กำลังเริ่ม “ล้น” ขณะที่การเติบโตขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล่านี้ในแดนมังกรกำลังไปถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้บัณฑิตเหล่านี้บางรายคิดเสาะแสวงหาโอกาสในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจะไม่มีเสียงบ่นเสียงอุทธรณ์ร้องทุกข์เอาเลยจากบรรดาคนจีนที่กำลังเดินทางมายังนครรัฐแห่งนี้
นักเทคนิคไอทีชาวจีนบางคนบอกว่า พวกเขาต้องผ่านช่วงเวลายากลำบาก “ในการปรับตัวยอมลดและยอมถอยหลัง” เพื่อให้อยู่ได้กับมาตรฐานการทดสอบแอปและการพัฒนาแอป “ที่หยาบๆ เต็มที” ของสิงคโปร์และพูดอย่างกว้างๆ ได้ว่าของทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ด้วย นอกจากนั้นยังมีเรื่องวิธีการจ่ายเงินและการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท, รวมทั้งพวกโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นตัวสนับสนุน อย่างเช่น โลจิสติกส์ และบริการรับส่งสินค้าต่างๆ ซึ่งพวกเขารู้สึกว่าต้องปรับตัวยอมลดความคาดหวังและยอมถอยหลังเช่นกัน ทั้งนี้ตามเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ใน จงกวนชุน ออนไลน์ ไม่เพียงเท่านี้ พวกเขายังแสดงความรู้สึกว่า จังหวะการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ของสิงคโปร์นั้นเชื่องช้าเกินไป
สเตรทส์ไทมส์ สื่อชื่อดังของสิงคโปร์ ยังได้อ้างอิงคำพูดของนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ที่กล่าวว่า ตัวเขาเองรู้สึก “เชย” มากๆ ทั้งไร้เดียงสาและทั้งไร้ประสบการณ์ หลังจากไปพบเห็นการพัฒนาอี-คอมเมิร์ซแบบเปิดเสรีเต็มที่ ตลอดจนแอปต่างๆ มากมายหลายหลากอย่างเช่นพวกแอปจ่ายเงินโดยไม่ต้องใช้เงินสด ระหว่างที่เขาเดินทางไปเยือนจีน
การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันและความขัดแย้งทางวัฒนธรรมภายในฝ่ายบริหารระดับสูงของบริษัทต่างๆ กำลังกลายเป็นของธรรมดาสามัญมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีคนจีนเพิ่มขึ้นทุกทีเข้าไปครอบครองตำแหน่งสำคัญๆ ของกิจการ
เหลียนเหอ เจ่าเป้า (Lianhe Zaobao) หนังสือพิมพ์ภาษาจีนของสิงคโปร์ ก็รายงานปฏิกิริยาไม่พอใจจากชาวสิงคโปร์และพนักงานสัญชาติอื่นๆ ที่ทำงานอยู่ใน ช้อปปี้ และ ลาซาด้า เมื่อตอนที่คณะผู้นำที่เป็นทีมคนจีนของพวกเขาหาทางที่จะนำเอา “วัฒนธรรม 996” อันสุดโหดของจีนมาใช้ (996 คือ ทำงานตั้งแต่เวลา 9 โมงตอนเช้า จนถึง 3 ทุ่ม (9โมงกลางคืน) และทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน) เพื่อพยายามทำให้การทำงานล่วงเวลาแต่ไม่ได้เงินชดเชยกลายเป็น “นิว นอร์มัล” ในบริษัทเหล่านี้
เล่ากันว่า ฟอร์เรสต์ หลี่ (Forrest Li) ผู้ก่อตั้ง ช้อปปี้ ซึ่งก็เป็นผู้อพยพมาจากจีนเหมือนกัน ต้องก้าวเข้าไปแก้ไขบรรเทาความคับข้องใจของพวกพนักงานชาวท้องถิ่น ตอนที่บรรดาผู้จัดการที่เป็นคนจีนพยายามนำเอาระบบประเมินพนักงานโดยพิจารณาที่ดัชนีผลงานสำคัญ จากหนังสือคู่มือพนักงานของบริษัทเทนเซ็นต์ ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของตนมาใช้ ทั้งนี้ระบบประเมินเช่นนี้เรียกร้องผลงานจากพนักงานในระดับสูงกว่าที่ปฏิบัติกันอยู่ในสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม พนักงานของช้อปปี้ในสิงคโปร์เวลานี้ 70% ทีเดียวเป็นคนจีน
เมื่อพวกบริษัทเทคจีนที่มีฐานยูสเซอร์ระดับทั่วโลก พบว่าพวกเขาต้องพัวพันสางไม่ออกอยู่ในสงครามเทคที่วอชิงตันทำกับปักกิ่ง รวมทั้งถูกระเบียบกฎหมายใหม่ๆ ของโลกตะวันตกเรียกร้องให้ต้องปฏิบัติตามมาตรการปกป้องคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัวอย่างเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น มันก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สิงคโปร์ตกอยู่ในสายตาของพวกเขา ทั้งนี้บริษัทจีนจำนวนมากพากันไปจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคขึ้นที่นั่นตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา
โกลบอลไทมส์ (Global Times) สื่อแทบลอยด์ในเครือเหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์ เดลี่) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รายงานเอาไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2020 ว่า พวกบริษัทเทคจีนจำนวนมากขึ้นทุกที เป็นต้นว่า อาลีบาบา, เทนเซ็นต์, ไบต์แดนซ์, หัวเว่ย, ไขว้โซ่ว, ไชน่าเทเลคอม, และไชน่าโมบาย ต่างกำลังนำเงินมากมายเข้าไปลงทุนในสิงคโปร์เพื่อจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและแล็ปทดลองต่างๆ ขณะที่พวกเขาหาหนทางปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นหลักประกันทำให้บรรดายูสเซอร์ชาวต่างประเทศของพวกเขารู้สึกสบายอกสบายใจ
โจนส์ แลง ลาซาลล์ (Jones Lang LaSalle) บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในรายงานฉบับหนึ่งว่า เวลานี้สิงคโปร์สามารถคุยได้แล้วว่ามีคลัสเตอร์ของบริษัทเทคจีนที่ใหญ่ที่สุด หากไม่นับรวมปักกิ่ง, เซินเจิ้น, และซิลิคอนแวลลีย์
หมายเหตุผู้แปล
เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ เอเชียไทมส์ เสนอข้อเขียนชิ้นหนึ่งพูดถึงการแข่งขันระหว่าง ลาซาด้า กับ ช็อปปี้ เพื่อชิงความเป็นเจ้าตลาดอี-คอมเมิร์ซ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้แปลเห็นว่า ข้อเขียนนี้ยังคงมีเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่มาก จึงขอเก็บความมาเสนอด้วยในที่นี้:
ทำไม‘ลาซาด้า’ของอาลีบาบา จึงพ่ายแพ้‘ช้อปปี้’ของเทนเซ็นต์ ในการแข่งขันชิงเจ้าตลาดอี-คอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดย แฟรงก์ เฉิน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
How Lazada lost out in SE Asia’s e-commerce race
By FRANK CHEN
08/04/2021
การบริหารจัดการ ลาซาด้า ของ อาลีบาบา ที่งุ่มง่ามและห่างเหินจากความเป็นจริง เปิดทางให้ ช้อปปี้ ซึ่งหนุนหลังโดยเทนเซ็นต์ สามารถไล่ตามทันและแซงขึ้นหน้า
ขณะที่ภายในประเทศจีนซึ่งเป็นบ้านเกิด อาลีบาบา ยังคงไร้เทียมทานไม่มีแฟลตฟอร์มตลาดออนไลน์แห่งอื่นๆ ไล่ตามทัน แต่สำหรับพวกตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีขนาดกว้างขวางและเติบโตรวดเร็วแล้ว ค่ายอาลีบาบากำลังสูญเสียความเป็นอันดับหนึ่งของตน
จำนวนดีลซึ่งซื้อขายกันบน ช้อปปี้ ที่หนุนหลังโดยค่ายเทนเซ็นต์ กำลังมีจำนวนสูงกว่าบน ลาซาด้า บริษัทลูกซึ่งอาลีบาบาทุ่มเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯไปเทคโอเวอร์มาในปี 2018
ปริมาณรวมของสินค้าที่ผ่าน ช้อปปี้ มีมูลค่าทะลุ 35,400 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 ด้วยการขี่กระแสช็อปปิ้งออนไลน์ซึ่งสามารถขยายตัวได้อย่างระเบิดระเบ้อ เนื่องจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 บังคับให้คนรุ่นมิลเลนเนียลรวมทั้งชนชั้นกลางของภูมิภาคแถบนี้จำใจต้องจับเจ่าอยู่แต่ภายในบ้าน
ช้อปปี้ กิจการสตาร์ตอัปให้บริการเรื่องอี-คอมเมิร์ซ ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 5 ปีที่แล้วเอง แต่เวลานี้สามารถอวดเอาไว้ในรายงานการเงินฉบับล่าสุดของตนว่า สินค้าต่างๆ ของภูมิภาคอาเซียนที่ขายกันทางออนไลน์ตลอดจนธุรกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องของเมื่อปีที่แล้ว ประมาณ 57% ทีเดียว ดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มและเครือข่ายการจัดส่งของบริษัท
กิจการนี้ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ และอยู่ในครือของ ซี กรุ๊ป (Sea Group) ที่เทนเซ็นต์เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ 39.7% เริ่มเปิดตัวครั้งแรกในสิงคโปร์ แล้วต่อมาจึงขยายงานออกไปยังฮับต่างๆ ที่เพิ่งจัดตั้งกันขึ้นมาหมาดๆ ตลอดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้นว่า มาเลเซีย, ไทย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, และฟิลิปปินส์
การเติบโตขยายตัวได้แบบดาวรุ่งพุ่งแรงของ ช้อปปี้ ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กำลังช่วยให้ค่ายเทนเซนต์สามารถเฉือนชิงส่วนแบ่งจากฐานของ อาลีบาบา ในภูมิภาคนี้ ซึ่งถือเป็นตลาดต่างประเทศแห่งใหญ่ที่สุดของทั้งคู่ ทั้งนี้อาเซียนที่อยู่ในกระบวนการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นมีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 600 ล้านคน จึงหมายถึงโอกาสความเป็นไปได้อันใหญ่โตมโหฬารซึ่งยังคงรอคอยให้ไปขยายกิจการ
นิตยสาร ไฉจิง (Caijing) เคยรายงานเอาไว้ในปี 2018 ว่า แจ๊ก หม่า แต่งตั้ง ลูซี่ เผิง (Lucy Peng) ซีอีโอของ แอนต์ ไฟแนนเชียล (Ant Financial) ให้มาเป็นผู้นำพื่อการขยายกิจการต่อไปอีกในเอเชียอาคเนย์ของลาซาด้า แต่เวลาต่อมามีรายงานว่าเขาตัดสินใจชะลอแผนการริเริ่มใหม่ๆ ทางการตลาดของ ลาซาด้า เอาไว้ก่อน เพื่อให้ดำเนินการทบทวนตรวจสอบภายในอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการดำเนินงานและในด้านบัญชี
ภายในปีนั้นเอง พวกพนักงานลูกจ้างที่เป็นผู้จัดการระดับกลางและนักเทคนิคจำนวนรวมแล้วหลายร้อยคนของอาลีบาบา ได้โยกย้ายเข้ามาที่ ลาซาด้า ขณะที่ระบบไอทีและระบบบริหารจัดการพวกร้านค้าออนไลน์ (เวนเดอร์) ของ ลาซาด้า เอง ได้ถูกควักไส้ในออกและแทนที่อย่างเร่งรีบด้วยระบบที่ลอกเลียนแบบแพลตฟอร์ม “เถาเป่า” (Taobao ในเครืออาลีบาบา) จากประเทศจีน แทบทุกกระเบียดนิ้ว
กระแสคัดค้านจากพวกร้านค้าที่อยู่กับลาซาด้ามานาน ถูกมองเมินไม่สนใจ เมื่อ หม่า และ เผิง ซึ่งต่างมั่นใจในตนเองอย่างสูง คิดว่าสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้ววาใช้การได้ในจีน จะสามารถสร้างความอัศจรรย์ขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าจีนกับภูมิภาคนี้มีความใกล้ชิดกันมากในทางวัฒนธรรม
ครั้นแล้วอีกไม่นานหลังจากนั้น พวกมีความรู้ความสามารถและพวกผู้บริหารที่รู้จักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างดีรวมทั้งได้บ่มเพาะฟูมฟัก ลาซาด้า ให้ผงาดขึ้นมาในช่วงแรกๆ พากันถอยห่างออกไปจากบริษัท ตำแหน่งของพวกเขาในสิงคโปร์, อินโดนีเซีย,และไทย ถูกแทนที่ทันทีจากพวกผู้จัดการซึ่งมาจากอาลีบาบา ถึงแม้มีบางคนกระทั่งยังใช้ภาษาอังกฤษไม่คล่องแคล่ว และไม่สามารถคลุกคลีเข้ากันได้กับบรรดาพนักงานลูกจ้างในท้องถิ่น
การเติบใหญ่ขยายตัวของ ลาซาด้า เปลี่ยนไปเป็นการชะงักงันท่ามกลางแรงเสียดทาน ขณะที่ เผิง และทีมงานของเธอ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนของปี 2018 ไปในการหาคนมานั่งในตำแหน่งงานทั้งหลายที่ว่างลง รวมทั้งในการตั้งหลักเพื่อเข้าคุมงาน ระหว่างเวลานั้นเอง ช้อปปี้ เดินหน้ารุกใหญ่เพื่อโน้มน้าวดึงดูดร้านค้าและผู้ซื้อให้มาอยู่กับฝ่ายตน
คริส เฟิง (Chris Feng) ซีอีโอชาวจีนของ ช้อปปี้ บอกกับqq.com เว็บพอร์ทัลทางด้านข่าวของค่ายเทนเซ็นต์ว่า ในตอนนั้นเขาตัดสินใจโยนทิ้งยุทธศาสตร์เน้นโฟกัสที่สิงคโปร์ซึ่งกำลังใช้อยู่ แล้วหันมาให้ความสำคัญที่สุดกับการบุกพวกตลาดเกิดใหม่ที่มีจำนวนประชากรเยอะๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะใช้ความพยายามมากที่สุดในการจู่โจมเข้าอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ช้อปปี้ ระดมขายอุปกรณ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กๆ ราคาถูก รวมทั้งพวกสินค้าผู้บริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันราคาไม่แพง ซึ่งแทบทั้งหมดมีแหล่งที่มาจากจีน ให้แก่บรรดาชาวเน็ตอินโดนีเซียกลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปีลงมา ปรากฏว่า หน้ากากป้องกัน และเพาเวอร์แบงก์มือถือราคาถูกมากๆ แค่ชิ้นละ 999 รูเปียะห์ ( 6 เซ็นต์สหรัฐฯ หรือ ราว 2.27 บาท) กลายเป็นหัวข้อที่แชตกันกระหึ่มสั่นสะเทือนแวดวงออนไลน์แดนอิเหนา และคนหนุ่มสาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ ซึ่งมีรายรับแค่ประมาณเดือนละ 229 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 7,500 บาท) ตามตัวเลขของสหประชาชาติ ต่างถูกมนตร์สะกดและพากันสั่งซื้อ
เนื่องจากมี เทนเซ็นต์ คอยหนุนหลังอยู่ ช้อปปี้ ยังมีเงินทองให้จับจ่ายได้อย่างไม่ต้องขบคิดอะไรมาก ด้วยการเสนอให้บริการจัดส่งสินค้าฟรีหรือจัดส่งในราคาถูกๆ ไปถึงมือผู้ซื้อ
จาการ์ตาไทมส์ (Jakarta Times) รายงานเมื่อปีที่แล้วว่า ขณะที่ทั่วแดนอิเหนากำลังถูกสั่งให้เก็บตัวอยู่แต่ภายในที่พัก สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ช้อปปี้ ยังคงมีข้อเสนอพร้อมลดค่าส่งของทางไปรษณีย์ ตลอดจนทางบริการจัดส่งของเจ้าอื่นๆ เป็นจำนวน 50,000 รูเปียะห์ (ราว 114 บาท) ถ้าหากทางผู้ซื้อออร์เดอร์สินค้าเป็นมูลค่าตั้งแต่ 90,000 รูเปียะห์ (ราว 205 บาท) ขึ้นไป
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ชี้ว่า เทนเซ็นต์ กับ ช้อปปี้ ยังจับมือกับพวกบริษัทบริการจัดส่งของชั้นนำในแดนอิเหนา อย่างเช่น JNE และ J&Tเพื่อดำเนินการจัดส่งอย่างรวดเร็วให้ไปถึงมือผู้ซื้อที่อยู่ตามเกาะใหญ่ๆ ทั่วทั้งอินโดนีเซีย
ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้เมื่อก่อนลาซาด้า เคยเป็นที่รู้จักโด่งดังเรื่องสินค้าราคาถูก แต่ยุทธศาสตร์หลักของ เผิง ที่กำหนดให้กับลาซาด้า คือการมุ่งอัปเกรดสินค้าที่เสนอขาย รวมทั้งพยายามเสนอพวกแบรนด์ซึ่งอยู่ในระดับสูงยิ่งขึ้น อันเป็นการลอกเลียนแรงผลักดันของ อาลีบาบา ในตลาดจีน ที่พยายามเปลี่ยนตลาดออนไลน์ เถาเป่า ของตน ให้กลายเป็นศูนย์การค้าเสมือนจริงระดับหรูหรา
อาลีบาบา ดูจะต้องใช้เวลา 2 ปีทีเดียว กว่าจะตระหนักความเป็นจริงว่าพวกผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นจริงๆ แล้วต้องการอะไร ถึงแม้ว่าในตอนนั้น แดเนียล จาง (Daniel Zhang) ซีอีโอ อาลีบาบา มักบินไปสิงคโปร์แทบทุกเดือน และใช้เวลาหลายๆ วันตระเวนไปทั่วภูมิภาคนี้เพื่อประสานการดำเนินงานในท้องที่ต่างๆ ของ ลาซาด้า
ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายบริหารจัดการของ อาลีบาบา เหินห่างไม่สามารถจับชีพจรของท้องถิ่นในเอเชียอาคเนย์ถึงขนาดไหน น่าจะได้แก่เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2019 เมื่อ ซีอีโอ ในเวียดนามของลาซาด้า ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับอาวุโสคนหนึ่งของ อาลีบาบา ถูกพวกลูกน้องชาวเวียดนามของเขาเรียกร้องให้เปลี่ยนตัว โดยขู่ด้วยว่าจะสไตรก์นัดหยุดงาน ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัทนัดพิเศษที่ จาง มานั่งเป็นประธานเอง
ไชน่า บิสซิเนส นิวส์ รายงานด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2018 อาลีบาบา ได้แต่งตั้งนายใหญ่ระดับภูมิภาคไม่ต่ำกว่า 12 คนแล้ว เพื่อให้มาเป็นผู้นำการดำเนินงานของ ลาซาด้า ในบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้หลังจากทีมงานต่างๆ ที่นั่นมีผลงานออกมาต่ำกว่าที่พึงยอมรับได้ พร้อมกันนั้นการแต่งตั้งสับเปลี่ยนโยกย้ายพวกพนักงานระดับผู้จัดการก็เริ่มกันขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง
การที่ ลาซาด้า และ ช้อปปี้ ใช้วิธีการที่แตกต่างกันในการตอบโต้รับมือกับโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ที่กำลังอาละวาดอยู่ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ก็ดูจะช่วยอธิบายว่า ทำไมผลงานของบริษัททั้งสองจึงกำลังแตกต่างห่างไกลกันออกไป
นิตยสารไฉจิง เปิดเผยว่า อาลีบาบาตัดสินใจถอนพวกลูกจ้างพนักงานชาวจีนทั้งหมดที่กำลังทำงานอยู่กับ ลาซาด้า ออกจากอินโดนีเซียไปในเดือนมีนาคม 2020 จนกลายเป็นบริษัทจีนแห่งแรกที่อพยพพนักงานลูกจ้างของตนกลับบ้านเช่นนี้ แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ช้อปปี้ กลับกำลังมองเห็นยอดออร์เดอร์ใหม่ๆ หลั่งไหลเข้ามาแบบพุ่งพรวดลิบลิ่วเมื่อพวกร้านค้าและตลาดจริงๆ ต้องปิดร้านกันเป็นแถบๆ ท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์
จนถึงต้นเดือนเมษายนที่เขียนรายงานชิ้นนี้ ยังมีผู้จัดการตัวหลักๆ บางคนของ ลาซาด้า ซึ่งยังไม่ได้เดินทางกลับสู่อินโดนีเซีย โดยพวกเขายังคงเลือกที่จะทำงานจากประเทศจีน กว่า 1 ปีหลังจากที่โรคระบาดใหญ่เริ่มแพร่กระจายไปในภูมิภาคแถบนี้