(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
US Bagram retreat consigns Afghanistan to the dustbin
By STEPHEN BRYEN
07/07/2021
การที่สหรัฐฯถอนทหารอย่างปุบปับกะทันหันและอย่างชนิดปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม จากฐานทัพอากาศที่สำคัญอย่างยิ่งในอัฟกานิสถาน จะสร้างความวิตกกังวลให้แก่บรรดาพันธมิตรเอเชียรายอื่นๆ ว่า อเมริกานั้นน่าเชื่อถือสามารถพึ่งพาได้จริงหรือ
ประกาศเพียงฉบับเดียวระบุวันที่เอาไว้ว่า 8 กรกฎาคม ผู้บัญชาการคนใหม่ที่เป็นชาวอัฟกันได้รับแจ้งว่าเขามีเวลา 24 ชั่วโมงสำหรับการจัดเวรยามเข้าไปเฝ้ารักษาการณ์รอบๆ ฐานทัพอากาศบากรัม (Bagram) แต่ไม่ได้รับแจ้งเลยว่า บุคลากรสหรัฐฯจะแอบหลบหนีไปอย่างเงียบๆ ตั้งแต่วันถัดไปแล้ว
ไม่มีการฝึกอบรมใดๆ ทั้งสิ้นสำหรับตระเตรียมให้ชาวอัฟกันเข้าบริหารจัดการฐานทัพอากาศบากรัม อันที่จริงแล้ว มีบางส่วนบางพื้นที่ของบากรัมด้วยซ้ำซึ่งบุคลากรชาวอัฟกันไม่เคยได้รับอนุญาตให้เข้าไปเลย แม้กระทั่งพวกกุญแจสำหรับสตาร์ทรถบรรทุกตลอดจนพวกยานพาหนะทั้งหลายที่ฝ่ายอเมริกันทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง ก็ ... หายสาปสูญไป
เป็นเรื่องลำบากที่จะสามารถจินตนาการถึงพฤติกรรมอันน่าอัปยศอดสูยิ่งไปกว่าที่กองทหารสหรัฐฯได้กระทำไปในครั้งนี้ การที่พวกเขากระทำเช่นนี้เพื่อเป็นการรับประกันความปลอดภัยของบุคลากรชาวอเมริกันและของชาติพันธมิตรอื่นๆ กระนั้นหรือ? กระทั่งว่าเป็นกรณีเช่นว่านี้ก็เถอะ มันแน่นอนอยู่แล้วว่ามีวิธีอื่นๆ ที่ดีกว่านี้นักหนาในการดำเนินการเพื่อส่งมอบความรับผิดชอบฐานทัพ ซึ่งจะเป็นการสร้างความแน่ใจให้แก่พันธมิตรชาวอัฟกันว่า สหรัฐฯจะยังคงสนับสนุนพวกเขาต่อไป
ก่อนหน้าเกิดกรณีบากรัมนี้ขึ้นมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ต่อโทรศัพท์พูดคุยกับทั้งอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา และอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เพื่ออธิบายชี้แจงถึงการตัดสินใจถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานของเขา ขณะที่ บุช ยังคงเงียบกริบเกี่ยวกับการพูดจาทางโทรศัพท์นี้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nypost.com/2021/04/14/biden-called-george-w-bush-to-discuss-afghanistan-pullout/) แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเขาไม่ได้สนับสนุนการตัดสินใจเช่นนี้ของไบเดนหรอก
ไบเดนไม่ได้โทรศัพท์ไปหาอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการจงใจดูหมิ่นดูแคลน ดังนั้น จากการกระทำของเขาและจากสภาพความเป็นจริงโดยตัวมันเองอยู่แล้ว เขาก็เลยถูกต่อต้านคัดค้านจากชาวรีพับลิกันสหรัฐฯทั้งหมด
บากรัมนั้นเป็นฐานทัพสหรัฐฯที่ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน สนามบินของบากรัมมีรันเวย์ซึ่งสามารถรองรับเครื่องบินขนส่งขนาดยักษ์อย่าง ซี-5 แกแล็กซี (C-5 Galaxy) และ อันโตนอฟ-225 (An-225) ที่เมื่อก่อนเคยเป็นของรัสเซีย มันเป็นความลับที่เก็บรักษากันได้อย่างย่ำแย่จนทำให้รู้กันไปทั่วแล้วว่า พวกข้าวของยุทโธปกรณ์ขนาดหนักๆ ทั้งหลายของสหรัฐฯและนาโต้ที่ลำเลียงเข้าออกอัฟกานิถานผ่านสนามบินบากรัมนั้น มักใช้บริการของเที่ยวบินชาร์เตอร์ไฟต์ อัน-225 ซึ่งเป็นเครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบันนี่เองอยู่บ่อยๆ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://simpleflying.com/antonov-an-225-return/)
หนึ่งในสายการบินชาร์เตอร์ไฟต์ซึ่งดำเนินกิจการโดยใช้ อัน-225 และรับงานในอัฟกานิสถานนั้น ตั้งอยู่ในยูเครน โดยมีฐานอยู่ที่สนามบิน กอสโตเมล อันโตนอฟ (Gostomel Antonov Airport) ที่นั่น
คู่ขนานกับที่บุคลากรทางทหารของสหรัฐฯถอยออกมาจากบากรัม พวกผู้รับเหมารับจ้างซึ่งปฏิบัติงานอยู่ที่นั่นก็ได้ผละจากไปเช่นกัน ตั้งแต่ก่อนหน้าการถอนตัวเที่ยวสุดท้ายของสหรัฐฯจากฐานทัพแห่งนั้น บุคลากรเหล่านี้เป็นพวกที่ให้บริการต่างๆ หลากหลาย รวมไปถึงการสนับสนุนอากาศยานของฝ่ายอัฟกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเฮลิคอปเตอร์ เมื่อไม่มีการสนับสนุนเช่นนี้แล้ว บางทีมันจะกลายเป็นอุปสรรคชนิดเอาชนะไม่ไหวทีเดียวสำหรับกองทัพอัฟกันในการรักษาซ่อมบำรุงอากาศยานของตน
ถึงตอนนี้ ฝ่ายอัฟกันต้องเข้าควบคุมรับผิดชอบทรัพย์สินที่มีขนาดใหญ่โตเอามากๆ จนเป็นการยากสำหรับพวกเขาในการป้องกันรักษา รวมทั้งไม่ได้มีประโยชน์ใช้งานอะไรมากมายสำหรับการสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดินของฝ่ายอัฟกัน ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าที่บากรัมยังมีระบบอะไรบ้างซึ่งยังคงใช้งานได้ หรือยังได้รับติดตั้งเข้าที่เข้าทางกันอยู่ อย่างเช่นพวกเรดาร์เตือนภัยทางอากาศ หรือกระทั่งว่าฮาร์ดแวร์ที่ใช้ในการดำเนินงานหอบังคับการของสนามบินแห่งนั้น ยังคงอยู่ที่นั่นหรือไม่
ตอนที่กองทหารสหรัฐฯถอนตัวออกมาช่วงกลางดึกนั้น ได้ดับไฟฟ้าในฐานทัพแห่งนั้น และพวกยามรักษาการณ์รอบๆ ที่เป็นชาวอัฟกันถูกปล่อยทิ้งให้อยู่ท่ามกลางความมืดมิดอยู่หลายชั่วโมง
สหรัฐฯเข้ารุกรานอัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2001 และยังคงอยู่ในอัฟกานิสถานตลอดมานับตั้งแต่นั้น โดยเป็นที่คาดหมายกันว่าการถอนตัวออกไปเที่ยวสุดท้ายของกองทหารสหรัฐฯจะเสร็จสิ้นในเดือนกันยายนนี้ สงครามคราวนี้ทำให้สหรัฐฯต้องสิ้นงบประมาณใช้จ่ายไปมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ตามการประมาณการของบางฝ่าย
ทหารสหรัฐฯราว 2,000 คน และนักรบชาวอัฟกันหลายแสนคนถูกสังหารไปในระหว่างช่วงปีเหล่านี้ อีกจำนวนมากได้รับบาดเจ็บ ยังไม่นับความสูญเสียของพลเรือนซึ่งหนักหนาสาหัสยิ่งกว่านี้อีก
สงครามอัฟกานิสถาน ซึ่งส่วนหนึ่งเคยเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับสงครามในอิรักและซีเรีย ได้สูบเอาข้าวของเครื่องกินเครื่องใช้ต่างๆ ของสหรัฐฯไปอย่างมหาศาล และทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากชำรุดสึกหรอไป ซึ่งก็รวมถึงพวกเครื่องบินขับไล่แนวหน้า ตลอดจนเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์พิสัยไกล อย่างเช่น เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บี-1
สหรัฐฯไม่เคยสามารถคิดค้นจัดทำสมรรถนะในการตอบโต้กลับอย่างทรงประสิทธิภาพขึ้นมา เพื่อใช้ต่อสู้กับพวกตอลิบานได้เลย โดยที่ตอลิบานยังคงอยู่รอดและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สหรัฐฯกลับต้องเริ่มลดความแข็งแกร่งของกองทหารและลดประสิทธิภาพในการปฏิบัติการครอบคลุมพื้นที่ในอัฟกานิสถานลงไปเรื่อยๆ
ผู้เชี่ยวชาญทางทหารบางรายคิดว่า ตอลิบานจะสามารถบุกยึดควบคุมอัฟกานิสถานได้อย่างเต็มที่ภายในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี แต่การล่มสลายอาจเกิดขึ้นรวดเร็วกว่านั้นอีกในเมื่อพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลและบรรดาผู้จัดการในภาคธุรกิจต่างพากันถอยหนีออกไปอยู่ต่างประเทศ
มีรายงานหลายกระแสสออกมาแล้วด้วยซ้ำว่า ในบางจังหวัด กองทหารอัฟกันกำลังยอมแพ้ตอลิบาน โดยพวกเจ้าหน้าที่ทางการกำลังมองหาเครื่องบินและหลบหนีออกจากประเทศไปอย่างลับๆ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.arkansasonline.com/news/2021/jul/06/more-troops-flee-afghanistan-in-face-of-taliban/) นอกจากนั้นมีทหารอัฟกันจำนวนหนึ่งบ่ายหน้าหลบหนีเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ทาจิกิสถาน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtonpost.com/world/2021/07/05/afghan-soldiers-flee-tajikistan-taliban/)
เซนต์คอม (CENTCOM หรือ United States Central Command กองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ เป็น 1 ใน 11 กองบัญชาการสู้รบของอเมริกา ที่มีอำนาจบังคับบัญชากำลังทหารประเภทต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของตนทั้งหมดอย่างเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวกัน โดยที่ CENTCOM มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมตะวันออกกลาง, อียิปต์ ในแอฟริกา, เอเชียกลาง, และบางส่วนของเอเชียใต้ ซึ่งรวมทั้งอัฟกานิสถานด้วย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/United_States_Central_Command --หมายเหตุผู้แปล) แถลงว่า ได้ส่งมอบฐานทัพแห่งอื่นๆ ในอัฟกานิสถานอีก 7 แห่งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกำลังกลายเป็นการเพิ่มภาวะสุญญากาศทางอำนาจขึ้นในประเทศนี้
ขณะที่สหรัฐฯได้ใช้ความพยายามอย่างใหญ่โตในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อฝึกอบรมกองกำลังอาวุธของชาวอัฟกันให้มีสมรรถนะสูงขึ้น แต่ก็ยังคงดูเหมือนว่า ด้วยถอนตัวออกไปของสหรัฐฯ กองทัพอัฟกานิสถานกำลังมีลู่ทางโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะยังคงรวมตัวเกาะเกี่ยวกันเพื่อรักษาความเป็นกองกำลังสู้รบเอาไว้
ไม่มีอีกแล้วการคุ้มกันทางอากาศที่ทรงประสิทธิภาพจากสหรัฐฯหรือนาโต้ ไม่มีอีกแล้วการรับประกันว่าจะได้รับเครื่องกระสุนและชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ซึ่งใช้หมดสิ้นไปแล้วเพิ่มเติมกลับมาอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน ช่างเทคนิคซึ่งคอยทำหน้าที่ดูแลซ่อมบำรุงอุปกรณ์ก็มีอยู่เพียงน้อยนิด และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ ไม่ค่อยมีหลักฐานพิสูจน์ยืนยันเลยว่าในหมู่กองทหารอัฟกันนั้นมีจิตวิญญาณพร้อมสู้รบและทัศนะมุมมองอันกว้างขวางคำนึงถึงสถานการณ์ระดับประเทศ
แม้กระทั่งรัฐบาลคาบูลเองก็เข้าใจดีว่าสถานการณ์มีอันตรายอย่างยิ่งยวด และกำลังมีปฏิสัมพันธ์กับพวกขุนศึกยุคเก่าๆ ของประเทศ เพื่อขอให้มาสู้รบกับพวกตอลิบาน ซึ่งก็รวมถึงเมืองหลวงคาบูลด้วย มีความวิตกกังวลกันว่าพวกตอลิบานอาจเปิดการโจมตีสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในกรุงคาบูล (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://apnews.com/article/joe-biden-kabul-445f33e7bba08c382d9bc5f72bf48047) ซึ่งมีบุคลากรชาวอเมริกันจำนวนรวม 400 คน และคนท้องถิ่นอีก 4,000 คนทำงานอยู่ภายในอาณาบริเวณอันใหญ่โตกว้างขวางของเขตสถานทูต
รูปแบบวิธีการในการถอนทหารของสหรัฐฯ –ที่ทั้งปุบปับกะทันหัน, หยาบกระด้าง, และดูราวกับไม่เหลือทิ้งเส้นชีวิตใดๆ เอาไว้ให้แก่รัฐบาลคาบูล –แน่นอนทีเดียวว่าจะสร้างปัญหาให้แก่สหรัฐฯในขอบเขตทั่วโลก โดยที่ปัจจุบันสหรัฐฯก็ถูกลดราคาความน่าเชื่อถือลงอย่างแรงอยู่แล้วในเรื่องความผูกพันทำตามคำมั่นสัญญาและการให้ความสนับสนุนแก่พันธมิตร ก่อนอื่นเลยคือในตะวันออกกลาง และมาถึงเวลานี้คือในอัฟกานิสถาน
พวกพันธมิตรในเอเชียของอเมริกาย่อมต้องรู้สึกวิตกเช่นเดียวกัน เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือสามารถพึ่งพิงได้ของวอชิงตัน เราย่อมสามารถคาดหมายได้ว่าจะมีการประเมินกันในระดับสูงอย่างเร่งด่วนทั้งในไทเป, โตเกียว, และโซล นอกเหนือจากที่อื่นๆ แล้ว และอาจจะมีการหันเหออกจากการพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯในเรื่องความมั่นคงก็ได้
ส่วนสำหรับอัฟกานิสถานนั้น ไบเดนเท่ากับส่งรัฐบาลคาบูลลงสู่ถังขยะแห่งประวัติศาสตร์ไปเรียบร้อยแล้ว
หมายเหตุผู้แปล
ในวันพฤหัสบดี (8 ก.ค.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้แถลงที่ทำเนียบขาว ชี้แจงเรื่องที่สหรัฐฯถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน โดยที่เอเชียไทมส์ได้นำรายงานข่าวเรื่องนี้ของสำนักข่าวเอเอฟพีมาเผยแพร่ ผู้แปลจึงขอเก็บความนำมาเสนอเป็นการเพิ่มเติมให้เรื่องสมบูรณ์ขึ้น ในที่นี้ ดังนี้:
ไบเดนบอก ‘ไม่ใช่หลีกเลี่ยงไม่ได้’ ที่ตอลิบานจะเป็นผู้ชนะได้ครองอัฟกานิสถาน
โดย สำนักข่าวเอเอฟพี
Biden says Kabul’s fall to Taliban ‘not inevitable’
By SARAH TITTERTON And AREF KARIMI, AFP
09/07/2021
ไบเดนแถลงชี้แจงการที่เขาสั่งถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถาน โดยบอกว่า “ไม่ใช่จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว” ที่อัฟกานิสถานจะต้องตกเป็นของพวกตอลิบาน อย่างไรก็ดี ตอลิบานเวลานี้ดูเหมือนกำลังกดดันหนักเพื่อให้ได้ชัยชนะทางทหารอย่างสมบูรณ์
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกมาแถลงในวันพฤหัสบดี (9 ก.ค.) ปกป้องแก้ต่างให้แก่การสั่งถอนทหารสหรัฐฯจากอัฟกานิสถานของเขา โดยบอกว่า “ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว” ที่ประเทศนั้นจะต้องตกอยู่ในกำมือของพวกตอลิบานซึ่งกำลังได้ใจรุกโจมตีอย่างหนัก ขณะเดียวกันเขาก็ยืนยันว่าสหรัฐฯจะถอยออกมาอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในวันที่ 31 สิงหาคม
แต่ผู้นำสหรัฐฯก็ยอมรับเช่นกันว่า หลังจากเวลาผ่านไปเกือบ 20 ปีภายหลังกองทหารอเมริกันโค่นล้มระบอบปกครองตอลิบานสืบเนื่องจากเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 การที่คาบูลจะสามารถควบคุมพื้นที่ได้ทั่วประเทศอัฟกานิสถาน ยังคง “ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง”
กระนั้น ไบเดนกล่าวในการแถลงที่ทำเนียบขาวคราวนี้ของเขาว่า กองทัพสหรัฐฯ “บรรลุ” เป้าหมายของตนในอัฟกานิสถานแล้ว ซึ่งได้แก่ การสังหารอุซามะห์ บิน ลาดิน, การทำให้กลุ่มอัล-กออิดะห์ประสบความเสื่อมทรุด, และการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุโจมตีสหรัฐฯขึ้นมาอีก
“เรากำลังยุติสงครามครั้งยาวนานที่สุดของอเมริกา” เขากล่าว พร้อมกับย้ำว่าการถอนทหารจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในวันที่ 31 สิงหาคม --ก่อนกำหนดเส้นตายเบื้องต้น 11 กันยายน ที่เขาเคยระบุเอาไว้ ทั้งนี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) แถลงไว้ก่อนหน้านี้ว่า การถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานนั้นเสร็จสิ้นไป 90% แล้ว
“สถานะเดิมไม่ใช่เป็นทางเลือกหนึ่ง” ที่สหรัฐฯจะพิจารณา ไบเดนกล่าวเมื่อพูดถึงเรื่องการคงทหารเอาไว้ในอัฟกานิสถานต่อไป และย้ำว่า “ผมจะไม่ส่งชาวอเมริกันอีกรุ่นอายุหนึ่งไปทำสงครามในอัฟกานิสถานหรอก”
“สหรัฐฯไม่สามารถที่จะยังคงถูกผูกล่ามเอาไว้กับพวกนโยบายซึ่งกำหนดขึ้นมาเพื่อตอบสนองกับโลกที่เคยเป็นมาเมื่อ 20 ปีก่อน” เขากล่าว “เราจำเป็นต้องรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ที่ดำรงอยู่ของทุกวันนี้”
ไบเดนย้ำด้วยว่า สหรัฐฯ “ไม่ได้เข้าไปในอัฟกานิสถานเพื่อที่จะสร้างชาติ (อัฟกานิสถาน) ขึ้นมา” และบอกว่าประชาชนชาวอัฟกันเองเท่านั้นควรที่จะเป็นผู้วินิจฉัยตัดสินอนาคตของพวกเขา
แต่เขายอมรับว่า อนาคตของอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ยังเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอน
เมื่อถูกถามว่า การที่ตอลิบานจะเข้ายึดครองอัฟกานิสถานเอาไว้ เป็น “สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” ใช่หรือไม่ ไบเดนตอบว่า “ไม่ใช่ มันไม่ใช่อย่างนั้น”
แต่เขาก็ยอมรับว่า การที่จะมีรัฐบาลสามัคคีซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นมาในอัฟกานิสถานที่สามารถเข้าควบคุมได้ตลอดทั่วทั้งประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ “ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง
“รัฐบาลอัฟกัน ... ต้องเข้ามาร่วมมือกัน” ไบเดนบอก “พวกเขามีศักยภาพความสามารถอย่างชัดเจนในการประคับประคองรัฐบาลเอาไว้ คำถามก็คือ พวกเขาจะสร้างการเกาะเกี่ยวผูกพันชนิดนี้ขึ้นมาเพื่อทำให้ได้เช่นนั้นหรือไม่?”
เขาแสดงความเชื่อมั่นศรัทธาในกองกำลังอาวุธต่างๆ ของอัฟกานิสถาน ซึ่งได้รับการฝึกอบรมมาเป็นปีๆ จากสหรัฐฯ รวมทั้งได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จากสหรัฐฯ ว่าจะสามารถต่อสู้กับพวกตอลิบานที่กำลังฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ได้
“ผมไม่ไว้วางใจพวกตอลิบาน” ไบเดนกล่าว “แต่ผมไว้วางใจในศักยภาพความสามารถของฝ่ายทหารของชาวอัฟกัน”
เขาปฏิเสธเสียงแข็งทันที เมื่อถูกตั้งคำถามในลักษณะเปรียบเทียบกับประสบการณ์ความพ่ายแพ้ของสหรัฐฯในเวียดนาม
“พวกตอลิบานไม่ใช่กองทัพเวียดนามเหนือ” ไบเดนบอก โดยอธิบายว่า ตอลิบานยังอยู่ห่างไกลจากกองทัพเวียดนามเหนือนักเมื่อเปรียบเทียบกันในแง่ของสมรรถนะ
“มันจะไม่เกิดสถานการณ์แบบที่คุณจะได้เห็นผู้คนถูกอพยพทางอากาศจากหลังคาของสถานทูตสหรัฐฯจากอัฟกานิสถานหรอก” เขากล่าวต่อ “มันเปรียบเทียบกันไม่ได้เอาเลย”