หลายประเทศในอาเซียนกลับมาเผชิญวิกฤตยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นจนน่ากังวล ขณะที่แผนการกระจายวัคซีนซึ่งยังคงล่าช้า บวกกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ “เดลตา” ทำให้การควบคุมโรคดูเหมือนจะยากลำบากขึ้นเป็นทวีคูณ
ในขณะที่ประเทศแถบยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส เริ่มกำหนดแผนคลายล็อกเพื่อเปิดเศรษฐกิจ รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับต้องฟื้นมาตรการคุมเข้มทางสังคมอีกครั้ง ด้วยความหวังว่าการล็อกดาวน์แบบจำกัดจะช่วย “ตัดวงจร” การระบาดที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.
อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเป็นชาติที่เจอการระบาดหนักหน่วงที่สุดในอาเซียน ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน 38,391 รายในวันพฤหัสบดี (8) หรือประมาณ 6 เท่าจากสถิติในเดือนก่อนหน้า ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียว
โรงพยาบาลหลายแห่งบนเกาะชวามีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาตัวจนล้น และเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนออกซิเจน ขณะที่สุสาน 4 ใน 5 แห่งในกรุงจาการ์ตาซึ่งรัฐบาลอิเหนาจัดไว้สำหรับฝังศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ก็ใกล้เต็มเข้าไปทุกที
มาเลเซียมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงทุบสถิติใหม่ 9,180 คนในวันนี้ (9) ขณะที่รัฐบาลไทยประกาศมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่เวลานี้กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในเขตกรุงเทพมหานคร
พม่ามีผู้ติดเชื้อรายวันสูงกว่า 4,000 คนเป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ (8) ส่วนที่กัมพูชามีรายงานตัวเลขผู้ป่วยใหม่และผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงสุดตลอด 9 วันที่ผ่านมา
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชี้ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์อาจรุนแรงสาหัสกว่าตัวเลขที่รัฐบาลประกาศหลายเท่า เนื่องจากมีการตรวจหาเชื้อที่ต่ำ ส่วนที่พม่านั้นระบบตรวจคัดกรองโควิดล่มสลายไปตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.
แม้แต่เวียดนามที่ขึ้นชื่อว่าควบคุมโควิด-19 ได้ดีก็ไม่พ้นความเสี่ยง โดยตลอด 3 วันที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วง 13 เดือนแรกรวมกัน และทำสถิติรายวันสูงสุดที่ 1,314 รายเมื่อวานนี้ (8)
กระแสข่าวการล็อกดาวน์ยังทำให้ชาวเวียดนามในนครโฮจิมินห์เริ่มแห่กักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคในสัปดาห์นี้ ส่วนที่กรุงฮานอยก็ระงับบริการขนส่งสาธารณะจากพื้นที่ที่พบคลัสเตอร์โควิด-19
ดิกกี บูดิมัน นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลีย เตือนว่า เวลานี้อาเซียนกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ในการยับยั้งโควิดสายพันธุ์เดลตา และเริ่มเห็นผลกระทบจากการวางยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนที่ไม่ดีพอ รวมถึงมาตรการควบคุมโรคที่ยังคงหละหลวม
บูดิมัน เน้นย้ำความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องขยายทางเลือกวัคซีนชนิดต่างๆ เพื่อปกป้องชีวิตพลเมือง และชี้ว่าที่ผ่านมาหลายประเทศพึ่งพาแต่วัคซีน “ซิโนแวค” ของจีน เนื่องจากสั่งซื้อได้ง่าย ในขณะที่วัคซีนแบรนด์ยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่ายังขาดตลาด
“แน่นอนว่าวัคซีน (ซิโนแวค) ก็มีประโยชน์ แต่ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน ทำไมน่ะหรือ? เพราะการรับมือโรคระบาดในสเกลที่ใหญ่ขึ้นไม่สามารถพึ่งพาวัคซีนชนิดเดียวได้ เราต้องมีวัคซีนที่หลากหลาย มีทรัพยากรที่หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือก”
กลุ่มประเทศอาเซียนยังมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างต่ำมาก โดยอินโดนีเซียมีประชากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสเพียง 5.4% จากทั้งหมด 270 ล้านคน ฟิลิปปินส์และไทยฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรเพียง 2.7% และ 4.7% ตามลำดับ ส่วนที่มาเลเซียซึ่งมีประชากร 32 ล้านคนฉีดวัคซีนไปแล้วราวๆ 9.3%
รัฐบาลอินโดนีเซียและไทยเริ่มพิจารณานำเข้าวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งได้แก่ วัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค/โคมินาร์ตี และวัคซีนโมเดอร์นา เพื่อนำมาฉีดกระตุ้นให้แก่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ด่านหน้าเหล่านี้ยังคงได้รับแต่วัคซีนของซิโนแวค ซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำในการต่อต้านเชื้อกลายพันธุ์
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดี โดยคาดว่าจะฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรเกินครึ่งภายในสิ้นเดือนนี้ ขณะที่รัฐบาลเตรียมประกาศคลายล็อก และมีแผนจะอนุญาตให้พลเมืองที่ฉีดวัคซีนครบเข้าร่วมกิจกรรมขนาดใหญ่ที่รวมคนหมู่มาก เช่น คอนเสิร์ต การประชุมสัมมนา หรือการแข่งขันกีฬาได้
สิงคโปร์อนุญาตให้มีการใช้วัคซีนรวม 3 ยี่ห้อด้วยกัน ได้แก่ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ที่อยู่ในโครงการวัคซีนแห่งชาติ และวัคซีนของซิโนแวคที่ไม่อยู่ในโครงการดังกล่าว
ที่มา : รอยเตอร์