xs
xsm
sm
md
lg

อิเหนาเตรียมใช้มาตรการฉุกเฉิน หวังลดเคสติดเชื้อรายวันให้เหลือต่ำกว่า 10,000 ขณะเวิลด์แบงก์เพิ่มอัดฉีดกองทุนจัดหาวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บรรดาครูรอเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของซิโนแวค ณ โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่งในเมืองตุงคอป จังหวัดอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย เมื่อวันพฤหัสบดี (1 ก.ค.)
อินโดนีเซียเตรียมประกาศมาตรการ “ฉุกเฉิน” มุ่งจำกัดการรวมตัวทางสังคม เพื่อฉุดอัตราการติดเชื้อรายวันลงครึ่งหนึ่งให้เหลือต่ำกว่า 10,000 คน และป้องกันระบบสาธารณสุขล่ม ขณะที่ธนาคารโลกประกาศอัดฉีดกองทุนเพื่อช่วยจัดหาวัคซีนโควิดเพิ่มอีก 8,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมรบเร้าประเทศรวยเร่งบริจาควัคซีน “ส่วนเกิน” ให้ประเทศกำลังพัฒนา

ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด หรือที่คนอิเหนาเรียกว่า “โจโควี” เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสฯ (1 มิ.ย.) ว่า มาตรการจำกัดใหม่ๆ นี้จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันศุกร์ (2) รวมระยะเวลานานกว่าสองสัปดาห์ ครอบคลุมเมืองหลวงกรุงจาการ์ตา รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ บนเกาะชวา ตลอดจนที่เกาะบาหลี หลังจากยอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งทำสถิติไม่หยุดหย่อน

วิโดโดไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของมาตรการใหม่ที่กำหนดจะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 20 แต่จากเอกสารของสำนักงานรัฐมนตรีกิจการทางทะเลและการลงทุน ลูฮุต ปันด์จัยตัน มาตรการเหล่านี้มีทั้งกำหนดให้พนักงานที่ไม่มีหน้าที่สำคัญจำเป็นให้ทำงานจากที่บ้าน จัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ปิดห้างสรรพสินค้าและมัสยิด จำกัดการเดินทางซึ่งรวมถึงทางอากาศอย่างเข้มงวดขึ้นอีก และห้ามนั่งกินอาหารในร้าน ทั้งนี้ เพื่อทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงต่ำกว่า 10,000 คน

ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียซึ่งถูกกล่าวหาว่า รับมือวิกฤตโรคระบาดอย่างหย่อนยาน ได้ออกมาตรการจำกัดต่างๆ เหมือนกัน แต่ไม่เคยถึงขึ้นล็อกดาวน์เข้มงวดเหมือนประเทศอื่นๆ โดยโจโควีระบุว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจล่ม

ทว่า ช่วงหลายสัปดาห์มานี้ อินโดนีเซียต้องเผชิญสภาพผู้ป่วยแน่นโรงพยาบาลทั้งในจาการ์ตา จังหวัดชวาตะวันตก และจังหวัดชวากลาง โดยที่มีบางส่วนเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในอินเดีย และเป็นที่หวั่นเกรงกันไปทั่วโลกเนื่องจากแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ทั้งนี้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันของแดนอิเหนาพุ่งทำสถิติสูงสุดหลายครั้งนับจากกลางเดือนมิถุนายน และทำลายสถิติอีกหนในวันพฤหัสฯ ด้วยตัวเลข 21,807 คน

ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการล่าสุดทะลุ 2.1 ล้านคน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถิติสูงสุดของเอเชีย ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 58,491 คน แต่เชื่อกันว่า ตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้มากเนื่องจากอินโดนีเซียมีการตรวจหาผู้ติดเชื้อน้อย

กระนั้น อินโดนีเซียตั้งเป้าฉีดวัคซีนประชาชนให้ได้มากกว่า 180 ล้านคน จากทั้งหมด 270 ล้านคนภายในต้นปีหน้า โดยที่ขณะนี้ยังมีประชาชนเพียง 5% ที่ฉีดครบ 2 โดส

ในอีกด้านหนึ่ง ธนาคารโลกประกาศเมื่อวันพุธ (30 มิ.ย.) จัดสรรเงินเข้ากองทุนวัคซีนโควิดสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มอีก 8,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 20,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งอัดฉีดเงิน 710 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยบริษัทแอสเปน ฟาร์มาแคร์ โฮลดิ้งส์ ลิมิเต็ดของแอฟริกาใต้ เพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนโควิด

เดวิด มัลพาสส์ ประธานเวิลด์แบงก์ แถลงว่า มาตรการส่งเสริมการผลิตและการแจกจ่ายวัคซีนเหล่านี้จะช่วยรักษาชีวิตผู้คน ส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนามั่นใจว่า ตนเองมีโอกาสในการสร้างฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

คำแถลงของธนาคารโลกเสริมว่า กองทุนมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์มีเป้าหมายในการสนับสนุนการแจกจ่ายวัคซีน ระบบคลังสินค้าและการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยขณะนี้ได้จัดสรรเงินทุนไปแล้ว 4,400 ล้านดอลลาร์ให้แก่ 51 ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งครึ่งหนึ่งนั้นอยู่ในรูปเงินช่วยเหลือหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

มัลพาสส์ยังเรียกร้องให้ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าเพิ่มการสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการบริจาควัคซีนส่วนเกิน โดยเฉพาะประเทศมั่งคั่งที่ประชาชนจำนวนมากได้ฉีดวัคซีนแล้ว

คำแถลงนี้ออกมาภายหลังการประชุมครั้งแรกของทีมเฉพาะกิจวัคซีนที่ประกอบด้วยผู้นำธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การการค้าโลก (WTO) และจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็น “วอร์รูม” ในการประสานงานการแจกจ่ายวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)

บุคลาการทางการแพทย์เคลื่อนย้ายศพคนไข้ที่เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองเบกาซี จังหวัดชวาตะวันตก ของอินโดนีเซีย เมื่อวันพฤหัสบดี (1 ก.ค.)


กำลังโหลดความคิดเห็น