อียูไม่อนุมัติวัคซีนโควิด-19 "โควิชิลด์" (แอสตร้าเซนเนก้า เวอร์ชันอินเดีย) ในวัคซีนพาสปอร์ต จากความเป็นไปได้ที่เวอร์ชันอินเดียอาจมีความแตกต่างจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตัวดั้งเดิม จากการเปิดเผยของคณะกรรมการยาแห่งยุโรปเมื่อวันพุธ (30 มิ.ย.)
ด้านสหภาพแอฟริกาที่มีการใช้ "โควิชิลด์" เป็นวัคซีนหลักในการป้องกันโควิด-19 ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจของอียูในครั้งนี้ว่า การไม่รับรอง "โควิชิลด์" ของอียู อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนในแอฟริกา
"ถึงมันจะใช้เทคโนโลยีการผลิตที่คล้ายกับ 'แว็กซ์เซฟเรีย' (วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า) แต่ 'โควิชิลด์' ยังไม่ได้รับการอนุมัติภายใต้ข้อกำหนดขององค์การยาแห่งยุโรป (European Medicines Agency; EMA)" ระบุในถ้อยแถลงที่ส่งถึงเอเอฟพี
"เพราะวัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ความแตกต่างแม้เพียงเล็กน้อยในสภาพแวดล้อมการผลิต อาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่างออกไปในผลผลิตขั้นสุดท้าย เพราะฉะนั้นกฎหมายของอียูจึงบังคับให้โรงงานและกระบวนการผลิตทั้งหมด ต้องอยู่ภายใต้การประเมินและเห็นชอบ เป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการขออนุมัติ"
องค์การยาแห่งยุโรประบุต่อว่า "หากเราได้รับคำร้อง เพื่อขออนุญาตจัดจำหน่ายวัคซีนโควิชิลด์ หรือมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใด ๆ ณ สถานที่ผลิตแว็กซ์เซฟเรีย และได้รับความเห็นชอบ เราจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง"
ปัจจุบันมีวัคซีน 4 ตัวที่ได้รับอนุมัติใช้ในอียู ประกอบด้วย ไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ส่วนอีก 4 ตัวอยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่ สปุตนิกของรัสเซีย ซิโนแวคของจีน เคียวร์แวคของเยอรมนี และโนวาแว็กซ์ของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกได้อนุมัติใช้โควิชิลด์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และแสดงความเสียใจในข้อเท็จจริงที่ว่ามีบางประเทศปฏิเสธใช้โควิชิลด์ในวัคซีนพาสปอร์ต
"เป็นเรื่องน่าเสียใจ เพราะแอสตร้าเซนเนก้า-โควิชิลด์ เป็นวัคซีนตัวเดียวกับแอสตร้าเซนเนก้า-แว็กซ์เซฟเรีย ซึ่งเป็นที่ยอมรับในฐานะวัคซีนที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว" ริชาร์ด มิฮิโก เจ้าหน้าองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคแอฟริกาบอกเมื่อช่วงเย็นวันอังคาร (29 มิ.ย.) "มีแค่แอสตร้าเซนเนก้า-โควิชิลด์เท่านั้น ที่ผลิตและแจกจ่ายในพื้นที่อื่น ๆ ของโลกมากกว่ายุโรป"
เขายังเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ของอียูยอมรับโควิชิดล์ในวัคซีนพาสปอร์ต
กระนั้นถ้อยแถลงขององค์การยาแห่งยุโรประบุว่า "พวกเขาไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบต่อการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับการเดินทางเข้าอียู" แต่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยุโรปและรัฐสมาชิกของอียู
ในคำแถลงร่วมของสหภาพแอฟริกาและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (28 มิ.ย.) ระบุว่า กฎระเบียบดังกล่าวเสี่ยงทำให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้วในแอฟริกา ได้รับการปฏฺิบัติอย่างไม่เท่าเทียม
(ที่มา:เอเอฟพี)