รัฐบาลอิรักแถลงในวันจันทร์ (28 มิ.ย.) ประณามสหรัฐฯว่าละเมิดอธิปไตยและความมั่นคงแห่งชาติของตน ภายหลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน สั่งการให้กองทัพอเมริกันถล่มจุดที่พวกกลุ่มนักรบซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านใช้เป็นฐานปฏิบัติการในพื้นที่ตามแนวชายแดนอิรัก-ซีเรียเมื่อช่วงเย็นวันอาทิตย์ (27) ซึ่งทำให้มีพวกนักรบเสียชีวิตไปอย่างน้อย 7 คน รวมทั้งจุดชนวนให้พวกกลุ่มติดอาวุธชาวอิรักประกาศต้องแก้แค้น
จอห์น เคอร์บี เลขานุการด้านสื่อสารมวลชนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ระบุในข่าวประชาสัมพันธ์ของกระทรวงว่า "เป้าหมายต่างๆ ถูกเลือกเพราะแหล่งที่ตั้งเหล่านั้นถูกใช้ประโยชน์โดยพวกนักรบที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน นักรบเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีทางอากาศโดยอากาศยานไร้คนขับ เล่นงานบุคลากรและฐานที่มั่นของสหรัฐฯ ในอิรัก"
"ปฏิบัติการโจมตีของสหรัฐฯ เล็งเป้าหมายโดยเฉพาะไปที่ศูนย์ปฏิบัติการและคลังอาวุธ 2 แห่งในซีเรีย และอีก 1 แห่งในอิรัก ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ใกล้แนวชายแดนระหว่างสองประเทศ" เคอร์บีกล่าว
"ด้วยการพิสูจน์จากปฏิบัติการโจมตีในคืนวันนี้ ประธานาธิบดีไบเดนได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าเขาจะดำเนินการเพื่อปกป้องบุคคลกรของสหรัฐฯ และจากการที่กลุ่มนักรบที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านเล็งเป้าหมายเล่นงานระลอกแล้วระลอกเล่าต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯในอิรัก ท่านประธานาธิบดีจึงสั่งปฏิบัติการทางทหารเพิ่มเติมเพื่อขัดขวางและยับยั้งการโจมตีเหล่านั้้น" เคอร์บี ระบุ
หลังจากไปพักผ่อนที่แคมป์เดวิดในช่วงสุดสัปดาห์ ไบเดนเดินทางกลับสู่ทำเนียบขาวในช่วงเย็นวันอาทิตย์ (27 ) แต่เขาไม่หยุดตอบคำถามผู้สื่อข่าวใดๆ ที่สอบถามเกี่ยวกับปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ โดยบอกกับผู้สื่อข่าวที่รวมตัวกันบริเวณลานทิศใต้เพียงว่า "ผมจะบอกกับพวกคุณในวันพรุ่งนี้"
ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเมื่อวันอาทิตย์ (27) ไม่ใช่ครั้งแรกที่ออกคำสั่งโดยรัฐบาลปัจจุบัน
ทั้งนี้ ปฏิบัติการทางทหารครั้งแรกภายใต้คำบัญชาของประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ โดยคราวนั้นเป็นการโจมตีที่ตั้งแห่งหนึ่งในซีเรียที่ถูกใช้งานโดยพวกนักรบที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน 2 กลุ่ม เพื่อเป็นการตอบโต้เหตุยิงจรวดโจมตีกองกำลังสหรัฐฯ ในภูมิภาค
การโจมตีเหล่านั้นก่อความกังวลในบรรดาสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ที่บอกว่าไบเดนไม่ยอมขออนุญาตจากสภาคองเกรสเสียก่อน แต่ทำเนียบขาวอ้างว่า ปฏิบัติการทางอากาศดังกล่าวอยู่ภายใต้มาตรการ 2 ของรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับกฎบัตรสหประชาชาติ
ทางด้านนายกรัฐมนตรีมุสตาฟา อัล-คัดฮิมี ของอิรัก ได้ออกคำแถลงในวันจันทร์ ประณามการโจมตีของสหรัฐฯครั้งนี้ว่า เป็น “การละเมิดอธิปไตยของอิรักและความมั่นคงแห่งชาติของอิรักอย่างโจ่งแจ้งและยอมรับไม่ได้”
“อิรักขอย้ำยืนยันว่าตนปฏิเสธไม่ยินยอมให้ถูกใช้เป็นเวทีสำหรับการตอบโต้เอาคืนกัน” คำแถลงของคัดฮิมีบอก พร้อมกับรบเร้าให้ทุกๆ ฝ่ายหลีกเลี่ยงการทำให้สถานการณ์บานปลายต่อไปอีก
ขณะที่ กลุ่มฮาเชด อัล-ชาบี (หรือชื่อที่เรียกกันในภาษาอังกฤษคือ Popular Mobilization Forces) ซึ่งเป็นพันธมิตรกองกำลังกึ่งทหารของอิรักที่มีหลายๆ กลุ่มถือกันว่าเป็นตัวแทนของอิหร่าน และเวลานี้กลายเป็นกลุ่มทรงอิทธิพลกลุ่มหลักในการต่อรองอำนาจทางการเมืองในกรุงแบกแดด แถลงว่าการโจมตีได้สังหารนักรบของตนไป 4 คน ในเขตกออิม ซึ่งอยู่ห่างจากแนวชายแดนซีเรียราว 13 กิโลเมตร
คำแถลงของฮาเชดบอกว่า นักรบซึ่งประจำอยู่ที่นั่นทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้พวกนักรบญิฮาดสุดโต่งแทรกซึมเข้าสู่อิรัก พร้อมกับปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการโจมตีใส่ผลประโยชน์หรือบุคลากรของสหรัฐฯเลย
“เราสงวนสิทธิทางกฎหมายที่จะตอบโต้การโจมตีเหล่านี้ และควบคุมตัวพวกผู้กระทำชั่วซึ่งจะต้องถูกไล่เลียงเอาความผิด บนดินแดนของอิรัก”
ส่วนกลุ่มสังเกตการณ์ชาวซีเรียเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งพึ่งพาอาศัยเครือข่ายแหล่งข่าวต่างๆ ภายในซีเรีย แถลงว่า มีนักรบ 7 คนเสียชีวิตจากการถล่มโจมตีครั้งนี้ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 6 คน ขณะที่เป้าหมายซึ่งถูกโจมตีแห่งหนึ่งเป็นคลังอาวุธที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ เมือง อัลบู คามัล เมืองเล็กๆ ของฝั่งซีเรียที่เป็นจุดข้ามแม่น้ำยูเฟรติส มายังฟากอิรัก
ทางฝ่ายซีเรียเอง สำนักข่าวซานาของทางการแถลงว่ามีเด็กผู้หนี่งถูกสังหารในการโจมตีหนนี้
มีรายงานว่าในกองกำลังอาวุธกึ่งทหารที่เข้ารวมตัวอยู่ใน ฮาเชด อัล-ชาบี มีบางกลุ่มได้เข้าไปฏิบัติการอยู่ในซีเรียมาเป็นปีๆ แล้ว โดยให้ความสนับสนุนกองกำลังของทางระบอบปกครองบาชาร์ อัล-อัสซาด ตลอดจนมุ่งขยายผลประโยชน์ของฝ่ายอิหร่านในประเทศนั้น
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ สหรัฐฯได้ถล่มโจมตีสิ่งปลูกสร้างหลายแห่งในภาคตะวันออกของซีเรีย ซึ่งใช้โดยพวกกองกำลังอาวุธที่หนุนหลังโดยอิหร่านเหล่านี้ ทำให้มีพวกนักรบเสียชีวิตไปกว่า 20 คน ทั้งนี้ตามข้อมูลของกลุ่มสังเกตการณ์ชาวซีเรียฯ
สำหรับการโจมตีล่าสุดของสหรัฐฯหนนี้ เกิดขึ้น 2 วันหลังจากสหรัฐฯกับฝรั่งเศสได้ร่วมกันเตือนอิหร่านว่า เวลากำลังหมดลงไปเรื่อยๆ สำหรับการหวนกลับไปรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านขึ้นมาใหม่ พร้อมกับแสดงความหวั่นเกรงว่าถ้าหากการเจรจายังคงถูกเตะถ่วงไปเรื่อยๆ แล้ว กิจกรรมด้านปรมาณูที่อยู่ในระดับอ่อนไหวของอิหร่านก็อาจก้าวคืบหน้าไปหยุดยั้ง
การหวนกลับไปฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ขึ้นมาใหม่ ถือเป็นคำมั่นสัญญาสำคัญข้อหนึ่งของไบเดน หลังจากขจ้อตกลงฉบับนี้ถูก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีอเมริกันคนก่อนหน้าเขา โยนลงถังขยะไป
(ที่มา: เอเอฟพี, ซีเอ็นเอ็น)