xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกา-อิสราเอลนัดถกรีเซ็ตความสัมพันธ์ เน้นการทูตเงียบ-ลดแรงต้านภายในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี – รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกา-อิสราเอลนัดพบกันที่โรมในวันอาทิตย์ (27 มิ.ย.) เพื่อเปิดศักราชการเป็นพันธมิตรใหม่ที่เน้นความสำเร็จในระดับเล็กลง และป้องกันแรงเสียดทานภายในประเทศ ควบคู่กับการทูตแบบปิดเงียบเพื่อปรับปรุงสถานการณ์หลังฉาก โดยเน้นการจัดการมากกว่าการเข้าไปแก้ไขความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของอเมริกา และนายกรัฐมนตรีนาฟตาลี เบนเน็ตต์ มุ่งเน้นการทูตเชิงปฏิบัติแทนแผนการริเริ่มโฉ่งฉ่างที่เสี่ยงทำให้เกิดการต่อต้านภายในประเทศ และหันเหความสนใจไปจากเป้าหมายสำคัญอื่นๆ

แนวทางการทูตดังกล่าวหมายถึงการลดระดับเป้าหมายความสำเร็จ เช่น ประคับประคองข้อตกลงหยุดยิงอย่างไม่เป็นทางการที่ทำให้การทำสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซากับระบบป้องกันภัยไอรอน โดมของอิสราเอลเมื่อเดือนที่แล้วยุติลง ทั้งนี้ เนื่องจากการทุ่มผลักดันเพื่อฟื้นกระบวนการสันติภาพที่หยุดชะงักมานานระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์อาจทำให้สมดุลอันละเอียดอ่อนยุ่งเหยิง

การจัดการแทนการพยายามแก้ไขความขัดแย้งอาจส่งผลดีในการปกปิดความแตกแยกภายในประเทศ แต่ขณะเดียวกันกลับกลายเป็นการช่วยคงสถานะเดิมที่ปาเลสไตน์พบว่า ตนเองถูกกดขี่และสิ้นหวังมากขึ้นและอาจจุดชนวนการก่อความไม่สงบครั้งแล้วครั้งเล่า

นักวิเคราะห์เชื่อว่า อเมริกาและอิสราเอลจะพยายามแก้ไขความขัดแย้งหลังฉากตามแนวทางการทูตแบบปิดเงียบของไบเดน ตอนที่เขาเร่งเร้าให้อดีตนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ที่ตอนนี้ถูกโหวตให้กลายเป็นฝ่ายค้าน ลดระดับความตึงเครียดในสงครามกับฮามาสก่อนประกาศหยุดยิงที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม

รัฐบาลของทั้งสองประเทศจะพยายามปกป้องพรรคร่วมรัฐบาลอันเปราะบางของอิสราเอล ส่วนหนึ่งด้วยการลดการยั่วยุที่ส่งผลให้เกิดสงคราม 11 วันเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 254 คน และ 13 คนสำหรับฝั่งอิสราเอล

ทั้งนี้ นอกจากการโค่นเนทันยาฮูแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลของอิสราเอลที่ประกอบด้วย 8 พรรคการเมืองมีจุดยืนร่วมกันน้อยมาก แถมแต่ละพรรคมีอำนาจวีโต้การตัดสินใจประเด็นสำคัญ ดังนั้น ถ้ามีแค่พรรคเดียวค้าน รัฐบาลมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะล้ม โดยที่เนทันยาฮูรอเสียบอยู่ตลอดเวลา

ถึงกระนั้น อย่างน้อยในระยะสั้น ยาอีร์ ลาปิด รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลซึ่งเป็นนักการเมืองสายกลาง จะเป็นตัวแทนการเจรจาเพื่อซ่อมแซมความสัมพันธ์ที่ขาดวิ่นกับไบเดนและเดโมแครต ซึ่งควบคุมทั้งสภาสูงและสภาล่าง แต่มีความเห็นแตกแยกมากขึ้นเกี่ยวกับความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยสมาชิกหัวก้าวหน้าเรียกร้องให้อเมริกากดดันอิสราเอลหนักขึ้น

ประเด็นหารือสำคัญระหว่างยาอีร์กับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คือการฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ 2015 ระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจเพื่อจำกัดความสามารถของเตหะรานในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ภายใต้การสนับสนุนของเนทันยาฮู ได้นำอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ในปี 2018 และประกาศแซงก์ชันอิหร่านหลายระลอก ขณะที่ไบเดนให้สัญญาฟื้นและขยายขอบเขตข้อตกลงนี้

แม้ต่อต้านการทำข้อตกลงใหม่ แต่ดูเหมือนรัฐบาลใหม่ของอิสราเอลต้องการมีอิทธิพลในการเจรจามากกว่าพยายามทำลายกระบวนการนี้ ซึ่งตรงข้ามกับเนทันยาฮูที่ทำให้สมาชิกหลายคนของเดโมแครตเดือดดาลด้วยการประณามว่าเป็น “ข้อตกลงเลว” ก่อนที่รัฐสภาสหรัฐฯ จะอภิปรายประเด็นนี้ในปี 2015

เมื่อไม่นานนี้ ลาปิดยังประกาศว่า เขาและบลิงเคนเห็นพ้องในนโยบาย “งดเซอร์ไพรส์” ในการเปิดช่องทางการสื่อสารทิ้งไว้ และคาดว่า ทั้งคู่จะหารือประเด็นนี้ที่โรมในวันอาทิตย์

เจ้าหน้าที่เผยว่า กลยุทธ์สำคัญของสองประเทศคือบรรเทาความขัดแย้งหรืออย่างน้อยไม่เติมเชื้อไฟให้ลุกลาม ตัวอย่างเช่นในประเด็นการตั้งถิ่นฐานในเขตยึดครองเวสต์แบงก์นั้น มีการคาดหมายว่า รัฐบาลของเบนเน็ตต์จะยอมให้ชาวอิสราเอลเข้าไปตั้งถิ่นฐานมากกว่า “การขยายตัวตามธรรมชาติ” เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำดังกล่าวมีการตีความแบบคลุมเครือซึ่งอาจเปิดโอกาสให้มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ปูทางสู่การขยายตัวแบบก้าวกระโดดในอนาคต

สำหรับอเมริกา คณะบริหารของไบเดนประกาศชัดเจนว่าต้องการให้อเมริกาถอนตัวจากความขัดแย้งที่แก้ยากในตะวันออกกลาง และหันมาเน้นความท้าทายอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการแข่งขันกับจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น