xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามหมดน้ำยาต่อกรกับโควิด-19 หรืออย่างไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด ฮุตต์


สื่อประชาสัมพันธ์เชิดชูผู้กล้าหาญที่ต่อสู้กับโควิด-19 ปรากฏตามท้องถนนทั่วกรุงฮานอย (ภาถ่ายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2021)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

How Vietnam lost its pandemic-beating edge
By David Hutt
18/06/2021

เวียดนามเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ฉับไวที่สุดในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่บัดนี้ ได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เชื่องช้าที่สุดในการนำพาประชาชนให้พ้นออกมา

เวียดนามเคยได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในชาติที่มีการป้องกันโควิด-19 ดีที่สุดของโลกภายในห้วงแห่งวิกฤตโควิดระบาดทั่วทุกทวีป ตลอดที่ผ่านมาจนถึงปลายปี 2020 เวียดนามมีผู้ติดเชื้อโควิดไม่ถึง 1,400 ราย จากจำนวนประชากรมหาศาลถึง 96 ล้านคน ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากโควิดก็ไม่ถึงสองโหล ยิ่งกว่านั้น เวียดนามยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติเอเชียที่สามารถดันให้เศรษฐกิจโตได้ในปี 2020

กระนั้นก็ตาม สถานการณ์พลิกผันอย่างปุบปับ นับแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา อัตราผู้ติดเชื้อใหม่ในเวียดนามพุ่งสูง ขณะที่สัดส่วนของประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดก็อยู่ในระดับต่ำ เพราะประเทศในเอเชียส่วนใหญ่จะมีเปอร์เซ็นต์ประชากรรับวัคซีนแล้วสูงกว่าเวียดนาม ดังนั้น โอกาสที่เวียดนามจะแจกวัคซีนแก่ประชาชนให้มากกว่าครึ่งหนึ่ง คงจะล่วงเข้าปี 2022 หรือหลังกว่านั้นกันเลยทีเดียว

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในเวียดนาม ณ กลางเดือนมิถุนายน 2021 บ่งบอกแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง จากสถิติที่สามารถคุมการติดเชื้อไว้ที่ระดับต่ำกว่า 1,400 ราย ณ ปลายปี 2020 กลายมาเป็นว่าเวียดนามมียอดผู้ติดเชื้อโควิดสะสมขึ้นเป็น 3,137 ราย ณ วันที่ 7 พฤษภาคม เทียบเท่ากับว่าเฉพาะในรอบสี่เดือนกว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งเท่าตัว และที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ นับจากวันที่ 7 พฤษภาคม ถึง 16 มิถุนายน ยอดผู้ติดเชื้อสะสมได้ทะยานไปถึง 11,635 รายแล้ว โดยมีจำนวนที่เสียชีวิตด้วยโรคโควิด 61 ราย

ในการนี้ แม้เวียดนามยังดูไม่ย่ำแย่นัก เทียบกับสถานการณ์ในกัมพูชาและไทย แต่เมื่อพิจารณาในด้านการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนแล้ว เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลดำเนินการย่ำแย่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประชากรเพียง 1.6 ล้านรายที่ได้รับวัคซีนแล้ว ในขณะที่ลาว ซึ่งเป็นชาติยากจนที่สุดอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แจกวัคซีนแก่ประชาชนไปแล้ว 5.6% และกัมพูชาซึ่งมีขนาดของจีดีพีแค่ 1 ใน 10 ของเวียดนาม ก็รณรงค์ฉีดวัคซีนได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ คือ 15.7% เกือบจะได้ครองตำแหน่งแชมป์ภูมิภาค ถ้าไม่มีสิงคโปร์ซึ่งดำเนินการเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว

ในศึกชิงวัคซีนปี 2021 เวียดนามแช่มช้าอย่างยิ่ง

คำถามจึงมีอยู่ว่าในเมื่อเวียดนามมีความเป็นเลิศในการป้องกันประชาชนจากเชื้อโควิด-19 มาโดยตลอด แถมยังสามารถรักษาอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ดีในสิบกว่าเดือนที่โควิดอาละวาดไปทั่วโลก แล้วพอมาถึงขั้นตอนการแจกวัคซีนแก่ประชาชน ทำไมเวียดนามจึงช้ากว่าที่ล้าหลังประเทศอื่น

ก่อนจะเฉลยคำตอบ ต้องขอบอกเลยว่าสองประเด็นนี้ไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ดังจะเห็นได้ว่ามากมายหลายหลากประเทศที่บอบช้ำรุนแรงจากวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ช่วงปี 2020 นั้น กลายมาเป็นประเทศที่โดดเด่นในการรณรงค์แจกวัคซีนป้องกันโควิดให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งมีผลงานย่ำแย่ที่สุดในด้านการป้องกันประชาชนจากโควิด-19

ในการนี้ ผู้คนพากันเชื่อว่าประเทศร่ำรวยซึ่งส่วนใหญ่อยู่โลกตะวันตกสามารถประสบความสำเร็จในการรณรงค์แจกวัคซีนแก่ประชาชนได้ ก็เพราะรัฐบาลของประเทศเหล่านี้มีศักยภาพสูงในการกวาดเก็บกักตุนวัคซีนไว้ใช้ในประเทศ จึงไม่เหลือวัคซีนไปยังประเทศยากจนในทวีปต่างๆ

กระนั้นก็ตาม ประเด็นความร่ำรวยหรือความยากจนมิใช่ต้นเหตุที่ทำให้เวียดนามล้าหลังชาติอื่นๆ ในปฏิบัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด กล่าวคือ ด้วยมูลค่าจีดีพี 261,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ตัวเลขปี 2019) และด้วยพลังการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2020 ซึ่งเวียดนามเป็นหนึ่งในน้อยประเทศที่ทำผลงานได้ดีอย่างนี้ เวียดนามจึงจัดว่าเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี โดยติดอันดับประเทศร่ำรวยอันดับ 46 ของโลก ตามรายงานประจำปี 2020 ของธนาคารโลก (ในส่วนประเทศไทยนั้น อยู่ในอันดับ 24 ของโลก ด้วยมูลค่าจีดีพี 451,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

แม้แต่หลายหลากประเทศที่รวยน้อยกว่าเวียดนาม ก็ยังมีอัตราการแจกวัคซีนแก่ประชาชนสูงกว่าเวียดนาม อาทิ เปรู ซึ่งมีขนาดของจีดีพีที่อันดับ 50 สามารถรณรงค์ฉีดวัคซีนไปแล้ว 6% ของประชากรทั่วประเทศ และคาซัคสถานซึ่งได้รับการจัดอันดับที่ 56 สามารถฉีดวัคซีนไปแล้ว 7.8%

กระทั่งภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน ประเทศอย่างกัมพูชากับลาว ซึ่งไม่ร่ำรวยเหมือนดั่งเวียดนาม ก็มีอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่ประชาชนได้มากกว่าเวียดนาม ดังนั้น จึงฟันธงได้ว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างความร่ำรวยกับอัตราการฉีดวัคซีนให้แก่พลเมือง

ที่ผ่านมา เวียดนามทำกระบวนการจัดซื้อวัคซีนของไฟเซอร์ได้แล้ว 31 ล้านโดส และเจรจาซื้อวัคซีนสปุตนิค วี ของรัสเซียเรียบร้อยที่จำนวน 50-150 ล้านโดส และมีแนวโน้มจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าประมาณ 38.9 ล้านโดสผ่านโครงการโคแว็กซ์ (COVAX) นอกจากนั้น ยังน่าจะได้รับวัคซีนอีก 30 ล้านหลอดจากการจัดซื้อโดยภาคเอกชน และได้มีการเจรจากับเมดิเจนของไต้หวันอีก 3-10 ล้านโดส

โดยภาพรวมนั้นดูเหมือนว่าคึกคักและมากมาย แต่ข้อตกลงเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังวิกฤตการติดเชื้อรุนแรงตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนและต้นพฤษภาคม ซึ่งหมายถึงว่า โดยส่วนมากแล้ว การส่งมอบวัคซีนจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะปลายปี 2021 เป็นอย่างเร็ว หรืออาจจะล่าช้าไปถึงกลางปี 2022

ในการนี้ ทางการเวียดนามเพิ่งอนุมัติใช้วัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคเมื่อ 12 มิถุนายน ส่วนวัคซีนจีนคือ ซิโนฟาร์ม ก็เพิ่งได้รับอนุมัติใช้เมื่อ 4 มิถุนายน

ณ ช่วงปลายปี 2021 กัมพูชาน่าจะแจกวัคซีนแก่ประชาชนได้มากมายราว 40-50% เป็นที่เรียบร้อย ในขณะที่ลาวซึ่งมีแววว่าจะเดือดร้อนกับปัญหาวัคซีนมีไม่เพียงพอ ก็จะแจกวัคซีนแก่ประชาชนได้ 40-50% ในราวกลางปี 2022

ในการนี้ สำหรับเวียดนามที่จะแจกวัคซีนให้ประชาชนได้ถึง 50% อาจต้องล่วงเข้าไปถึงกลางปี 2022

ทั้งนี้ เอเชียไทมส์คำนวณแล้วว่า หากเวียดนามจะบรรลุเป้าการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสให้ได้ 50% ภายในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้ เวียดนามจะต้องดำเนินการกระจายการฉีดให้ได้วันละ 533,000 ราย เรื่องนี้ชัดเจนว่า โดยสภาพการณ์ปัจจุบันแล้ว จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ทั้งหลายทั้งปวงที่ขมวดเกลียวขึ้นมาจนเป็นวิกฤตในทุกวันนี้ อาจเป็นได้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางการเวียดนามประเมินว่าสามารถคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี และอาจมีนโยบายว่าไม่จำเป็นจะต้องรีบไปโรมรันกับประเทศทั้งปวง เพื่อแย่งชิงวัคซีนที่ยังมีซัปพลายไม่เพียงพอกับดีมานด์มหาศาลจากทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการสิ้นเปลืองงบในเมื่อสถานการณ์ของเวียดนามเป็นอะไรที่น่าจะรอได้

แต่สถานการณ์พลิกผันรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมซึ่งเคยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเกิดจะทะยานสูง โดยที่ว่า 75% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้นหลังวันที่ 1 พฤษภาคม 2020

ปัจจัยผันแปรที่เกิดขึ้นในปลายเดือนเมษายนและแสดงผลตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมจรดจนปัจจุบันนี้ ปรากฏเป็นวงกว้างทั่วภูมิภาค โดยในไทย ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้น 67% นับจากหลังวันที่ 1 พฤษภาคม และในกัมพูชา ยอดพุ่งขึ้นไป 65%

ในการนี้ มีปัจจัยแวดล้อมหลายประการที่ช่วยอธิบายให้เข้าใจปรากฏการณ์ในเวียดนนามได้ง่ายขึ้น

วัคซีนรุ่นแรกที่ไปถึงกัมพูชาและลาวเมื่อปลายธันวาคมและในเดือนมกราคม ได้มาเพราะจีนบริจาค ทั้งนี้วัคซีนที่ระดมฉีดให้ประชาชนนั้น ถ้าไม่นับสองสามแสนโดสที่โคแวกซ์บริจาค ส่วนใหญ่จะมาจากซิโนฟาร์มและซิโนแวคของจีน

อย่างไรก็ตาม เวียดนามเป็นชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาติสุดท้ายที่อนุมัติใช้ซิโนฟาร์ม โดยเจ้าหน้าที่เวียดนามเพิ่งจะรีบประกาศอนุมัติเมื่อ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ผู้ประท้วงในเวียดนามตะโกนคำขวัญต่อต้านจีน ขณะเดินขบวนประท้วงผ่านใกล้สถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงฮานอย สืบเนื่องจากไม่พอใจจีนในกรณีทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ปัญหากรณีพิพาทเหนือทะเลจีนใต้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับจีนเต็มไปด้วยบรรยากาศตึงเครียดมาโดยตลอด
ยากจะยอมรับวัคซีน‘ซิโน’ เมื่อสัมพันธ์ปักกิ่งร้าวหนัก & แรงต้านจีนในมวลชนก็ร้อนแรง

ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับจีนตกต่ำย่ำแย่มาโดยตลอด มิใช่เพียงในระดับรัฐบาลที่ผู้ใหญ่ในฮานอยมีความขัดแย้งเป็นฟืนเป็นไฟอยู่กับฝั่งปักกิ่ง หากแต่ในระดับประชาชนก็หนักหนาพอกัน กระแสชาตินิยมต่อต้านจีนนั้นเผ็ดร้อนไปทั่วประเทศ

แรงต้านของมวลชนเวียดนามต่อการใช้วัคซีนจีนออกอาการว่าพุ่งแรงแซงทุกชาติที่แค้นเคืองท่าทีแข็งกร้าวของปักกิ่งในศึกพิพาทแย่งชิงสิทธิเหนือพื้นที่สำคัญต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ดังนั้น จึงเป็นที่แน่ชัดว่าในเร็ววันนี้รัฐบาลฮานอยคงต้องถูกประชาชนเล่นงานแน่ในข้อหาว่ายอมใกล้ชิดกันรัฐบาลปักกิ่งมากเกินไป

ปัจจัยด้านการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเวียดนามก็มีอิทธิพลต่อเรื่องปัญหาความล่าช้าในการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน โดยที่ผ่านมา นายกฯ เหวียน ซวน ฟุก ถูกโยกไปดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งจะมีบทบาทด้านพิธีการเป็นส่วนมาก และนายกฯ ใหม่ของเวียดนามคือ ฝ่าม มีง จีง ซึ่งเข้ารับงานเมื่อ 5 เมษายน ก็ขาดประสบการณ์ด้านงานบริหารปกครองระดับประเทศ เพราะไปเชี่ยวชาญในระดับจังหวัดมาโดยตลอด ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ผู้ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ของเวียดนามล้วนมีตำแหน่งรองนายกฯ มาก่อน

ตัวชี้วัดในเรื่องนี้อาจดูได้จากดัชนีความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค หรือ Government Stringency Index ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มนักวิจัยจาก the Oxford Covid-19 Government Response Tracker ในการนี้ การดำเนินงานของนายกฯ ฟุก เมื่อช่วงต้นปี 2020 ได้รับการประเมินที่ระดับสูงมาก คือ 96 จาก 100 โดยเป็นค่าการประเมินที่ออกมาเมื่อเดือนเมษายน 2020 ในการนี้ ทีมวิจัยชี้ว่าเวียดนามดำเนินมาตรการได้รวเร็วและเข้มข้นมากๆ เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่สำหรับเมื่อปลายไตรมาส 1 ต่อเนื่องถึงต้นไตรมาส 2 เวียดนามผ่อนปรนมาตรการอย่างเห็นได้ชัด ค่าดัชนีที่เวียดนามได้รับการประเมินสำหรับช่วงต้นพฤษภาคมอยู่ที่ระดับเพียง 77

เร่งพัฒนาวัคซีนสัญชาติเวียดนาม

ดร.ซาคารี อาบูซา ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของวิทยาลัยสงครามแห่งชาติในกรุงวอชิงตันคาดว่าสาเหตุหนึ่งที่เวียดนามไม่รีบตกลงซื้อวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นเพราะเวียดนามเตรียมจะพัฒนาวัคซีนของตนเอง ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น โดยในปัจจุบันเวียดนามมีวัคซีน 4 ตัวซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยนาโนเจน วาไบโอเทค โพลีแวค และสถาบันวัคซีนและชีวสารการแพทย์ (Institute of Vaccines and Medical Biologicals – IVAC)

วัคซีนตัวที่เด่นคือ นาโนโคแวกซ์ ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทนาโนเจน ไบโอเทคโนโลยี ร่วมกับมหาวิทยาลัยการแพทย์ทหารเวียดนาม มีความก้าวหน้าถึงขั้นที่ทำการทดลองเฟส 3 แล้ว และคาดว่าจะพร้อมใช้ประมาณปลายปี 2021

ด้านผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากให้ความเห็นว่า รัฐบาลเวียดนามเล็งเห็นว่าความต้องการวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งมีมหาศาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นสุดยอดโอกาสที่จะอัดฉีดพลังการเติบโตของอุตสาหกรรมยาและเทคโนโลยีชีวภาพของเวียดนาม

ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนามมีการหารือกับโปรแกรมโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าด้วยการตั้งโรงผลิตในเวียดนามในฐานะของโครงการแฟรนไชส์เพื่อผลิตวัคซีนป้อนแก่เวียดนามและนานาชาติ

นอกจากนั้น ยังมีการเจรจากับค่ายจอห์นสันแอนด์จอห์นสันในประเด็นต่างๆ โดยครอบคลุมถึงเรื่องการผลิตวัคซีนในเวียดนาม

ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลเวียดนามก็ต้องหันไปหาปักกิ่งเพื่อขอซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม เรื่องนี้ไม่น่าจะโอเคกับสายชาตินิยมในเวียดนามซึ่งมองจีนเป็นสิ่งไม่น่าพึงปรารถนามาแต่เก่าก่อน รัฐบาลฮานอยได้ใช้ท่าทีนอบน้อมต่อสาธารณชน และวอนขอให้ภาคเอกชนร่วมบริจาคเข้าสู่ "กองทุนวัคซีน” ทั้งนี้ ณ วันที่ 6 มิถุนายน สื่อมวลชนในเวียดนามรายงานว่ารัฐบาลสามารถรวบรวมเงินบริจาคจากเอกชนได้ 329 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา โดยผู้ร่วมบริจาคส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดยักษ์

ดร.อาบูซาบอกว่ารัฐบาลเวียดนามเตรียมงบประมาณไว้อีก 630 ล้านดอลลาร์เพื่อเติมส่วนที่เงินบริจาคจากภาคเอกชนยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้จะจ่ายเป็นค่าวัคซีนทั้งสิ้น 1,100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะซื้อวัคซีนรวม 150 ล้านโดสที่ไปสั่งจองไว้

ในปี 2020 ความสำเร็จของรัฐบาลในการรับมือกับภัยคุกคามของโควิด-19 ได้ช่วยเสริมสร้างฐานะความน่าเชื่อถือขึ้นมาอย่างใหญ่หลวง หลังจากที่เรื่องนี้เป็นปัญหามาตลอดทศวรรษ 2010 เพราะรัฐบาลเวียดนามไม่ประสบความสำเร็จตามคำประกาศว่าจะสร้างระบบการบริหารปกครองที่ทรงประสิทธิภาพ สุจริตโปร่งใส และทันสมัย

อุตส่าห์ยกระดับความน่าเชื่อถือในสายตามวลชนมาได้มหาศาล รัฐบาลของนายกฯ ใหม่อาจรักษาไว้ไม่ได้

ที่ผ่านมา ความสำเร็จอย่างสูงเด่นในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถูกรัฐบาลเวียดนามนำมาเพิ่มแต้มให้ตนเองในเชิงความน่าเชื่อถือด้านความชาตินิยม ซึ่งเสียหายมากมายตลอดหลายปีมานี้ เพราะสาธารณชนพากันติเตียนรัฐบาลว่าไม่แข็งแกร่งเพียงพอกับนโยบายเรียกร้องสิทธิเหนือทะเลจีนใต้

อดีตนายกฯ ฟุก ซึ่งบัดนี้เป็นประธานาธิบดีฟุก มักที่จะปราศรัยถึงเรื่องโรคระบาดโควิด-19 ด้วยภาษาดุเดือด พลางปลุกเร้าความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวเพื่อชาติและประชาชน

รายงานว่าด้วยสถานภาพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับใหม่สุด ที่จัดทำเผยแพร่โดยสถาบันวิจัย ISEAS Yusof Ishak ในสิงคโปร์ มีผลการจัดอันดับประเทศที่รับมือกับโรคระบาดโควิด-19 ได้ดีที่สุด โดยประเมินจากการสำรวจในแวดวงนักคิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการนี้ เวียดนามได้รับการประเมินว่าสามารถรับมือกับโควิดดีที่สุดอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์

ทั้งนี้ ความรู้สึกในเชิงชาตินิยมในหมู่ชาวเวียดนามเฟื่องฟูมากมาย กระทั่งว่า 92% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นคนเวียดนาม ให้คะแนนแก่ประเทศของตนว่าเป็นประเทศที่ทำได้ดีที่สุดอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในความเป็นจริง ในเมื่อประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายของเวียดนามมีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในสัดส่วนที่ดีกว่าเวียดนามอย่างมากมาย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเวียดนามล้าหลังในเรื่องนี้ โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลเวียดนามวางแผนได้ไม่ดี ยิ่งกว่านั้น การที่รัฐบาลภายใต้นายกฯ คนใหม่หันไปหาจีนเพื่อขอซื้อวัคซีน สิ่งนี้น่าจะกัดกร่อนคะแนนความชาตินิยมที่รัฐบาลของนายกฯ ฟุก สร้างไว้เมื่อปีที่แล้ว

เหนืออื่นใดคือคำถามว่าความล่าช้าในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเวียดนามเพียงใด อาทิ การเสียโอกาสที่จะเดินทางเพื่อธุรกิจในต่างประเทศซึ่งมักจะมีเงื่อนไขในเรื่องใบแสดงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือการที่เวียดนามไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในปี 2022 ความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตโรคระบาดที่จะทำให้ต้องล็อกดาวน์ประเทศ ตลอดจนใช้มาตรการแรงๆ เพื่อคุมการแพร่ระบาด ก็จะเป็นผลเสียต่อเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ของเวียดนาม รวมทั้งกระทบรุนแรงต่อบทบาทของเวียดนามในห่วงโซ่อุปทานโลก

เหล่านี้เป็นโจทย์ยากที่รัฐบาลของนายกฯคนใหม่ต้องเตรียมการแก้เกม เพื่อป้องกันการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่อุตส่าห์สร้างสมฐานะขึ้นมาได้มากมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น